สุริยะ เร่ง สมอ. ออกมาตรฐานโควิด-19 บังคับใช้กว่า 1 หมื่นโรงงานทั่วประเทศ

15 มี.ค. 2564 | 04:55 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2564 | 11:59 น.

สุริยะ เร่ง สมอ. ออกมาตรฐานโควิด-19 บังคับใช้กว่า 1 หมื่นโรงงานทั่วประเทศ ป้องกันและลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เร่งรัดดำเนินการประกาศใช้มาตรฐานโควิด-19 หรือมาตรฐาน มตช. 45005-2564 การจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ข้อกำหนดทั่วไปสำหรับการทำงานอย่างปลอดภัย ระหว่างการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (Covid-19) หลังบอร์ดให้ความเห็นชอบพร้อมกับมาตรฐานระบบการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ และมาตรฐานในกลุ่มบีซีจี (BCG – Bio Circular Green Economy) ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ในการจัดระบบการบริหารจัดการภายในองค์กรให้เป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าว เพื่อควบคุม ป้องกัน และลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าหมายที่จะผลักดันให้โรงงานทั่วประเทศนำไปใช้เพื่อให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19

“มาตรฐานโดวิด-19 จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และทุกภาคส่วนมีความเชื่อมั่นในสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งในด้านการบริหารจัดการ และคุณภาพของสินค้าว่าจะมีความปลอดภัยจากเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งเป้าหมายผลักดันให้โรงงานทั่วประเทศซึ่งมีมากกว่าหมื่นราย นำมาตรฐานนี้ไปใช้ เพื่อร่วมกันบริหารจัดการให้เชื้อไวรัสโควิด-19 หมดไปจากประเทศไทย”

สุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ

นายวันชัย  พนมชัย เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า มาตรฐาน มตช. 45005 – 2564 เป็นมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก สามารถนำไปใช้จัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยภายในโรงงาน และสถานประกอบการทั่วไป เพื่อการทำงานอย่างปลอดภัยในระหว่างการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยมีแนวทางการปฏิบัติหลักๆ ดังนี้ 1.สถานประกอบการที่จะนำมาตรฐานไปใช้ต้องมีการวางแผนการประเมินความเสี่ยง ,2.มีความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการเพื่อรับมือกับความเสี่ยง

,3.ผู้บริหารองค์กรต้องมีมาตรการเตรียมการป้องกันกรณีมีผู้ติดเชื้อเข้ามาภายในองค์กร  ,4.มีมาตรการจำกัดจำนวนคนในพื้นที่  ,5.มีการบริหารจัดการบุคลากร การกำหนดสถานที่การทำงาน และการสื่อสาร  และ6.มีการจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้เพียงพอ ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าวเป็นข้อแนะนำให้สถานประกอบการนำไปปรับใช้ สามารถใช้ได้กับองค์กรทุกขนาดและทุกประเภท

“การประชุมบอร์ดคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานด้านการตรวจสอบและรับรองในครั้งนี้ นอกจากจะเห็นชอบมาตรฐานโควิด-19 แล้ว ยังเห็นชอบมาตรฐานระบบการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจ มตช.22313-2564 ซึ่งเป็นระบบการจัดการที่ใช้ในองค์กรเพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่ทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก เช่น อุบัติภัยทางธรรมชาติ การก่อวินาศกรรม การก่อจลาจล การเกิดโรคระบาด หรือการเกิดวิกฤตทางสถาบันการเงิน ให้สามารถฟื้นฟูองค์กรกลับสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีการนำมาตรฐานนี้มาใช้กันอย่างแพร่หลายในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย นอกจากนี้ บอร์ดยังเห็นชอบมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับบีซีจี โมเดล (BCG – Bio Circular Green) ตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย รวม 10 มาตรฐาน ได้แก่ มาตรฐานก๊าซเรือนกระจก รีไซเคิล ขวดพลาสติกสี  และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น”