นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา และนายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ พร้อมคณะ เข้าพบเพื่อปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ที่กระทรวงพาณิชย์ ว่า ได้มีการหารือแนวทางการช่วยเหลือและส่งเสริมสินค้ายางพาราและสินค้าฮาลาลร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ประชาชน และผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SMEs)
โดยในส่วนของสินค้ายางพารา เห็นตรงกันว่าควรช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนให้ราคายางในประเทศดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ชี้แจงไปว่าจากการดำเนินการของรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันราคายางสูงขึ้น โดยราคายาง ณ วันที่ 24 มี.ค.2564 ยางแผ่นดิบตลาดกลางสงขลา กิโลกรัม (กก.) ละ 61.90 บาท ยางแผ่นรมควันชั้น 3 กิโลกรัมละ 64.79 บาท ราคาน้ำยางสด กิโลกรัมละ 64 บาท ยางก้อนถ้วย กิโลกรัมละ 24.25 บาท ภาพรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี สูงกว่ารายได้ที่ประกันตามนโยบายประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางทุกตัว
นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมตลาดถุงมือยางธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ ซึ่งล่าสุดมีข่าวดี ประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่สามารถทำถุงมือยางธรรมชาติแบบโปรตีนต่ำ และเป็นสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกได้แล้ว โดยได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังบริษัทถุงมือยางหลายราย ตรงกับยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และหวังว่าภายใต้ความร่วมมือของกระทรวงพาณิชย์กับคณะกรรมาธิการฯ ของวุฒิสภา จะช่วยทำการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับทราบในตลาดโลกต่อไป
ส่วนการส่งเสริมการส่งออกไม้ยางพารา ได้ชี้แจงว่า รัฐบาลมีหลายโครงการที่ส่งเสริม ได้แก่ 1.จัดวงเงิน 20,000 ล้านบาท ให้ผู้ที่ต้องการส่งออกไม้ยางพาราไปยังต่างประเทศโดยช่วยดอกเบี้ย 3% 2.กระทรวงพาณิชย์เคยนำสมาคมไม้ยางไทยไปเปิดตลาดที่อินเดียแล้ว 2 ครั้ง จะเป็นตลาดสำคัญในอนาคต เพราะรัฐบาลอินเดียต้องการส่งเสริมให้คนอินเดีย 1,000 กว่าล้านคนมีบ้าน จำเป็นต้องใช้เฟอร์นิเจอร์และไม้ยางจะไปแทนไม้สักที่มีอยู่ได้เป็นอย่างดี 3.กระทรวงพาณิชย์ได้เจรจากับรัฐเตลังกานาและกำลังจะทำ mini FTA คาดว่าจะสามารถลงนามได้เร็วนี้ จะช่วยส่งเสริมให้ตลาดไม้ยางพาราไทย เพื่อนำไปใช้ในเฟอร์นิเจอร์ ปาร์ค ของอินเดีย รวมทั้งได้รับข้อเสนอของวุฒิสภา ที่แนะนำให้เอายางไปผลิตเป็นแผ่นมุงหลังคา โดยจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน เช่น บริษัท เอสซีจี เพื่อนำยางพาราไปผลิตเป็นหลังคาบ้าน
สำหรับการส่งเสริมสินค้าฮาลาล กระทรวงพาณิชย์มีนโยบาย อาหารไทย อาหารโลก ทำให้อาหารไทยเป็นอาหารของโลก
โดยปัจจุบันอาหารไทยอยู่ในลำดับที่ 1 ใน 10 และเชื่อว่าอีกไม่นานจะสามารถผงาดเป็นอันดับ 1 ใน 3 ของโลกได้ มีอาหารที่เป็นเป้าหมายมี 3 ตัว คือ อาหารมังสวิรัติ อาหารแนวใหม่ และอาหารฮาลาล ซึ่งตรงกับที่วุฒิสภาต้องการผลักดัน คือ อาหารฮาลาล โดยได้แจ้งไปว่าในการจัดงานเทศกาลอาหารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ งาน THAIFEX จะให้ความสำคัญกับสินค้าอาหารฮาลาลและถือเป็นไฮไลต์ของงานนี้ด้วย
ขณะเดียวกัน มีแผนที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ที่ขายสินค้าฮาลาล ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการขายของกระทรวงพาณิชย์ โดยมีนโยบายช่วย SMEs ทุกประเภทให้ได้รับโอกาสในการเข้าร่วมงานแสดงทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีเป้าหมายเปิดพื้นที่ให้ 10-15% รวมทั้งจะผลักดันให้มีการจดเครื่องหมายฮาลาล ซึ่งถือเป็นตราที่มีความสำคัญรับรองคุณภาพกระบวนการผลิตที่ถูกต้องตามหลักศาสนามให้เร็วขึ้น ซึ่งล่าสุดได้รับแจ้งว่าการขอตราฮาลาลได้เปิดระบบออนไลน์ สามารถขึ้นทะเบียนได้แล้ว