การท่าเรือ ผุด 5 โปรเจ็กต์ ขนส่งสินค้า

30 มี.ค. 2564 | 21:25 น.

การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้จัดงานแถลงผลการดำเนินการด้านนโยบายและทิศทางการดำเนินในปี 2564 โดย “เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร” ได้เปิดนโยบายผลักดัน 5 โปรเจคต์

ผุดระบบไอทีเชื่อมโยงข้อมูล

ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ให้สัมภาษณ์ว่า สำหรับการดำเนินงานในปีงบประมาณ. 2564 ขณะนี้กทท.พยายามขับเคลื่อนโครงการพัฒนาการเชื่อมโยง Data logistic chain ด้วยระบบ Port community system ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกสินค้า อีกทั้งเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าสามารถตรวจสอบข้อมูลเส้นทางการส่งสินค้าโดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในปีนี้ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี แล้วเสร็จ

 

เปิดลงทุนพีพีพี ดันสมาร์ทพอร์ต

เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร เล่าต่อว่า ส่วนโครงการสมาร์ทพอร์ต พื้นที่ 400 ไร่ เป็นโครงการที่จะพัฒนาในพื้นที่เชิงพาณิชย์ลักษณะมิกซ์ยูสริมแม่น้ำเจ้าพระยาอาทิ ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ศูนย์กลางทางการแพทย์ สปอร์ตคอมเพล็กซ์ และท่าเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ โดยให้สิทธิเอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบพีพีพี อายุสัญญาสัมปทาน 30-35 ปี สำหรับพื้นที่ในการพัฒนาแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย โซน A พื้นที่เชิงพาณิชยกรรม โซนB พื้นที่ธุรกิจที่ให้บริการเรือและสินค้าท่าเรือกรุงเทพฯ โซน C พื้นที่อสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่รองรับธุรกิจเกี่ยวกับท่าเรือ

“โครงการนี้เป็นแนวคิดที่จะลดขนาดพื้นที่ของท่าเรือกรุงเทพจากเดิม 900 ไร่ เหลือเพียง 500 ไร่ ในพื้นที่ของท่าเรือกรุงเทพโดยดึงระบบเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการ ขณะเดียวกันเราเล็งเห็นศักยภาพพื้นที่ทำเลทองบริเวณท่าเรือกรุงเทพ เบื้องต้นเราจะใช้พื้นที่ที่เหลืออีก 400 ไร่ เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว หากเราสามารถดำเนินการได้จะทำให้โครงการมีมูลค่า ราว 1 แสนล้านบาท”

 

 

จับมือกทพ. ขนส่งสินค้าเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี

เรือโทกมลศักดิ์ กล่าวต่อว่า ด้านโครงการศึกษาออกแบบพัฒนาระบบประตูเชื่อมตะวันออกและจุดขึ้น-ลง ทางด่วนโดยเพิ่มจุดเชื่อมต่อสำหรับทาง-ขึ้นลงทางพิเศษช่วงอาจณรงค์-บางนา (S1) ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการฯ คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2567 เนื่องจากที่ผ่านมากทท.ได้รับนโยบายจากกระทรวงคมนาคมเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรการวิ่งขนส่งสินค้าของรถบรรทุกในท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งจะทำให้รถบรรทุกขนส่งสินค้าไม่จำเป็นต้องเดินทางผ่านพื้นที่ในกรุงเทพฯ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด ลดการเกิดฝุ่น PM 2.5 

 

เร่งปิดดีลประมูล “แหลมฉบังเฟส 3” ท่าF

ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทย เผยอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการประมูลโครงการแแหลมฉบัง ระยะที่ 3 หลังจากได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า จีพีซี ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และบริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด จากประเทศจีน ขณะนี้ อยู่ระหว่างรอให้ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นคาดว่าจะออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (NTP) ได้ภายในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้

ทั้งนี้หากครม.มีมติเห็นชอบราคากรณีที่คณะกรรมการคัดเลือกโครงการแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ได้เจรจากับผู้ชนะการประมูลแล้ว ขั้นตอนต่อไปคณะกรรมการฯ ต้องเปิดดูร่างสัญญา เพื่อเปิดดูซองข้อเสนอแนะทางเทคนิคในการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการฯ หรือซองที่ 5 ควบคู่กันไป หลังจากตรวจร่างสัญญาผ่านอัยการเรียบร้อยแล้ว จะนำเสนอต่อคณะกรรมนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบผู้ชนะการประมูล และเข้าสู่กระบวนการลงนามในสัญญาได้ภายใน 2 เดือน


เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร

ปลุกท่าเรือระนอง-ตราด

ขณะเดียวกันกทท.เดินหน้าปรับปรุงและพัฒนาท่าเรือคลองใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นท่าเรือภูมิภาคในอนาคต ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กทท.เข้าไปบริหารจัดการหลังจากกรมเจ้าท่า (จท.) ได้ดำเนินการสร้างท่าเรือดังกล่าวไว้แล้ว เบื้องต้นอยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเพื่อพิจารณา ส่วนการพัฒนาท่าเรือระนอง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดโครงการฯ คาดว่าจะดำเนินการออกแบบแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2564 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC) หากสามารถพัฒนาท่าเรือนะนองได้จะช่วยเพิ่มพื้นที่ตู้ขนส่งสินค้าถึง 2.5 แสนทีอียูต่อปี จากเดิมสามารถรองรับพื้นที่ตู้ขนส่งสินค้าเพียง 78,000 ทีอียูต่อปี ทั้งนี้ที่ผ่านมาปัจจุบันไทยมีท่าเรือในภูมิภาค 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน จังหวัดเชียงราย 2.ท่าเรือเชียงของ จังหวัดเชียงราย ส่งเสริมการค้าชายแดน 4 ประเทศ อาทิ จีน เมียนมา สปป.ลาวและไทย 3.ท่าเรือระนอง ซึ่งเป็นท่าเรือที่นำไปสู่ประตูการค้าในภาคใต้ 

 

หน้า 7 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,665 วันที่ 28 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2564