จากกณีที่ กรมปศุสัตว์ตรวจพบว่า ประเทศไทยพบการระบาดครั้งแรกของ “โรคลัมปี สกิน” (Lumpy skin disease) เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2564 โดยกรมปศุสัตว์ได้รับรายงานพบโคเนื้อแสดงอาการสงสัยโรคลัมปี สกิน เป็นโคที่เกษตรกรรายย่อยที่อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 10 ราย จากจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในพื้นที่จำนวน 5,000 ราย โดยเกษตรกรแต่ละรายพบโคป่วย 1-2 ตัว
ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลจาก กรมปศุสัตว์พบข้อมูลที่น่าสนใจในการทำความรู้จัก กับ “โรคลัมปี สกิน” โดยข้อมูลระบุว่า
โรคลัมปี สกิน เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่สำคัญในโคกระบือ แต่ไม่ใช่โรคที่ติดสู่คนได้ เกิดจากเชื้อไวรัส Lumpy skin disease virs ในสกุล Capripoxvirus
สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง ต่อมน้ำเหลืองโต และมีตุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นที่ผิวหนังทั่วร่างกาย
พบมากที่คอ หัว เต้านม ถุงอันฑะและหว่างขา ตุ่มที่ขึ้นอาจแตก ตกสะเก็ดและเกิดเป็นเนื้อตาย หรือมีหนอนแมลงมาไชได้ อาจพบตุ่มน้ำใสขึ้นที่เยื่อเมือก ทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการน้ำลายไหล ตาอักเสบ มีตุ่มขึ้นที่เยื่อเมือกตา น้ำตาไหลและมีขี้ตา
นอกจากนี้สัตว์ที่ติดเชื้อจะมีอาการซึม เบื่ออาหาร อาจมีภาวะเป็นหมันชั่วคราวหรือถาวร แท้งลูกและมีปริมาณน้ำนมลดลง อัตราการป่วยอยู่ที่ 5 – 45 % อัตราการตายน้อยกว่า 10% แต่อาจมีอัตราการตายสูงในพื้นที่ที่ไม่เคยมีการระบาดมาก่อน ผลกระทบส่วนใหญ่จะอยู่ที่ผลผลิตที่ลดลง
การติดต่อของโรคนี้ ติดจากแมลงดูดเลือด เช่น เห็บ ยุง แมลงวัน และอาจติดจากการสัมผัสใกล้ชิดกันของสัตว์ ติดจากน้ำลาย สารคัดหลั่ง สะเก็ดแผล รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน
วิธีการป้องกันโรค โรคลัมปี สกิน
- การกำจัดและป้องกันแมลงในพื้นที่ ทำความสะอาดคอกและอุปกรณ์ในการเลี้ยง และกักสัตว์ใหม่ก่อนนำเข้าพื้นที่ โรคนี้ไม่มีการรักษาจำเพาะ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ ส่วนวัคซีนป้องกันโรคจะมีการนำเข้ามาในประเทศที่มีการระบาดของโรคแล้ว
โรคลัมปี สกินนี้เริ่มแพร่ระบาดในเอเชียตั้งแต่ปี 2562 ในจีนแผ่นดินใหญ่ บังกลาเทศ และอินเดีย หลังจากนั้น ในปี 2563 พบการระบาดในภูฏาน เนปาล ศรีลังกา ฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนามและพม่า ประเทศไทยมีการติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศและเฝ้าระวังโรคตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา รวมถึงการประกาศชะลอการนำเข้าโคกระบือจากประเทศพม่า
โรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) เป็นโรคระบาดตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 หากพบสัตว์มีอาการต้องสงสัย ต้องเเจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมปศุสัตว์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :