นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีความต้องการนำเข้าแอลเอ็นจี (LNG) ประมาณ 6-6.5 ล้านตันในปีนี้ โดยหากหักออกจากสัญญาระยะยาว 5.2 ล้านตันที่ ปตท.นำเข้าแล้วก็จะเป็นการเปิดทางให้ผู้นำเข้าอื่นตามแนวทางเปิดเสรีนำเข้าได้ ประมาณ 0.8-1.3 ล้านตัน แต่จะเป็นปริมาณที่ชัดเจนเท่าใดขึ้นอยู่กับคณะทำงานของกระทรวงพลังงาน ที่มีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) ร่วมพิจารณา โดยปัจจุบัน ราคา Spot LNG ส่งมอบเดือนมิถุนายนปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 10 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู
สำหรับความร่วมมือกับ กฟผ. นำเข้าแอลเอ็นจี มาใช้ในภาคกลางและภาคใต้นั้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการหารือกันอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของภาคใต้จะนำมาใช้ป้อนโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี 1,400 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขนอม ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเข้าราว 3-5 ล้านตันต่อปี
ส่วนความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับปี 62 ที่ประมาณ 4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนไตรมาส 1/64 ความต้องการอยู่ที่ประมาณ 4,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วประมาณ7-8% ซึ่งจากโควิด-19 ระลอกสามที่กำลังระบาดนี้ ปตท.กำลังประเมินผลว่าจะมีผลกระทบเท่าใด โดยในส่วนของร้านค้า ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อาจกระทบบ้าง แต่ยอดใช้ไฟฟ้าของโรงงานส่งออกยังโตได้ดีตามเศรษฐกิจโลกทำให้ความต้องการก๊าซทั้งผลิตไฟฟ้าและใช้เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมยังมีปริมาณสูง
ขณะที่การดำเนินงานของ ปตท. ภายใต้นโยบายส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และการพัฒนา Regional LNG Hub นั้น มีการดำเนินการทดสอบด้านเทคนิคเรียบร้อยแล้ว และจะเข้าสู่กระบวนการเชิงพาณิชย์ต่อไป ซึ่งจะมีการส่งออกทั้งส่วนการส่งออกทางเรือ และทางรถด้วยระบบ ISO THANK ในต่างประเทศ ซึ่งมีการทดสอบตลาดไปยังจีน และพร้อมจะส่งออกไปเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังติดปัญหาเรื่องโรคโควิด-19 ทำให้การติดต่อล่าช้า โดยในตลาดจีน ปตท. พร้อมร่วมมือกับ SGP หรือบริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน)ในการส่งออก
นายวุฒิกร กล่าวต่อไปว่า การลงทุน โครงสร้างพื้นฐานธุรกิจก๊าซเพิ่มเติมในปีนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้แก่ การก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ (แห่งที่ 7)เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซ แห่งที่1 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566-2567
โครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าตามแผน PDP2018 (Rev.1) มูลค่าประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในปี 2568
โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างยังเป็นไปตามแผน ได้แก่ โครงการ LNG Terminal 2 (หนองแฟบ) รองรับก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มูลค่าประมาณ 3.85 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2565 และการก่อสร้างโครงการท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5 มูลค่าประมาณ 1.72 หมื่นล้านบาท ล่าสุดได้เริ่มทดสอบนำก๊าซฯส่งผ่านท่อฯแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :