ส่งออกข้าวไทยส่อเค้า ยอดทั้งปีอาจไม่ถึง 6 ล้านตัน เหตุราคาข้าวขาวยังสูงกว่าข้าวอินเดียกว่า 100 เหรียญต่อตัน หอมมะลิแพงกว่าหอมเวียดนาม 200 เหรียญ ลุ้นอินโดฯ-บังกลาเทศมีออร์เดอร์ล็อตใหญ่ช่วยชีวิต ขณะข้าวจีทูจีกับจีน ต่อราคาแบบไม่อยากซื้อ
การส่งออกข้าวไทยที่กระทรวงพาณิชย์และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ตั้งเป้าไว้ที่ 6 ล้านตันในปีนี้ ดูท่าจะหืดขึ้นคอ เพราะแค่ 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ไทยส่งออกได้เพียง 1.13 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 3.7 แสนตันเท่านั้นถือว่าน้อยกว่าปี 2563 ที่ส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 4.9 แสนตัน ทำให้อันดับการส่งออกข้าวของไทยยังคงอยู่ในอันดับที่ 3 ตามหลังประเทศอินเดีย และปากีสถาน โดยสูงกว่าเวียดนามประมาณ 3 หมื่นตันเท่านั้น
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการส่งออกข้าวไทยเดือนมีนาคมทำได้เพียง 3.2 แสนตัน และคาดเดือนเมษายนน่าจะอยู่ประมาณ 4 แสนตัน ซึ่งต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ เพราะถ้าเหตุการณ์ปกติก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไทยส่งออกข้าวได้ประมาณเดือนละ 6.5-7 แสนตัน (เทียบเมื่อปี 2562 ที่ไทยส่งออกข้าวได้ 7.5 ล้านตัน) ดังนั้นในครึ่งปีหลังหวังว่าราคาข้าวส่งออกของไทยจะปรับตัวลงมาทำให้แแข่งขันได้ดีขึ้น จากช่วงที่ผ่านมาแม้ราคาข้าวส่งออกจะปรับราคาลงมา แต่ราคาข้าวในประเทศกลับสูงขึ้น เช่น ข้าวขาว 5% ราคาอยู่ที่ 14,000 บาทต่อตัน ส่งผลให้ราคาส่งออกเอฟโอบี ไทยสูงขึ้น โดยข้าวขาว 5% อยู่ที่ 590 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ข้าวขาวเวียดนามใกล้เคียงกับไทยที่ 580-590ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวของอินเดีย 490-500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตันถูกกว่าเกือบ 100 ดอลลาร์ต่อตัน
“ราคาข้าวเวียดนามใกล้เคียงกับข้าวไทยมาก และส่งออกลดลงเช่นเดียวกับข้าวไทย ประกอบกับข้าวนาปีของเวียดนามปีนี้ออกมาในปริมาณน้อยเพราะภัยแล้งและน้ำเค็มทำให้ข้าวได้รับผลกระทบ ปีนี้อินเดียคาดจะยังคงเป็นเบอร 1 ผู้ส่งออกข้าวโลก โดยเขาตั้งเป้าไว้ที่ 16 ล้านตัน ขณะที่ไทยตั้งเป้าไว้ที่ 6 ล้านตัน อาจจะทำได้ตํ่ากว่าเป้า หากไม่มีปัจจัยบวกหรือมีตลาดใหม่ที่มีความต้องการข้าวมาช่วยให้การส่งออกขยับขึ้นในครึ่งปีหลัง”
ทั้งนี้ในครึ่งปีหลังหากอินโดนีเซียกลับมาซื้อข้าวเป็นล้านตัน จะช่วยให้ส่งออกได้ดีขึ้น ทั้งนี้ไทยอาจจะไม่ได้ออร์เดอร์มาทั้งหมด เช่น มีความต้องการ 1-1.5 ล้านตัน ไทยอาจจะได้มาหลักแสนหรือล้านตัน เพราะยังมีข้าวเวียดนามที่ราคาไม่ต่างกับข้าวไทยและคุณภาพใกล้เคียงกับข้าวไทยมากที่เป็นตัวเลือก ส่วนตลาดฟิลิปปินส์ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะมีความต้องการข้าว แต่หลักๆ ฟิลิปปินส์ยังซื้อข้าวจากเวียดนามแต่ถ้าราคาข้าวเวียดนามใกล้เคียงกับไทย ก็อาจทำให้ข้าวไทยมีความหวังขึ้นมาบ้าง ส่วนการซื้อขายข้าวรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ไทยกับจีน จีนต่อราคาต่ำมาก เช่น ไทยเสนอไป 526 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน จีนต่อราคาเหลือ 480 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งต่อแบบไม่อยากซื้อข้าวไทย
“ครึ่งปีหลังเอกชนหวังราคาข้าวภายในประเทศจะลดลงบ้าง ประกอบกับเงินบาทอ่อนค่า อาจทำให้ราคาข้าวส่งออกลดลง แข่งขันได้ดีขึ้น แต่เกษตรกรในประเทศอาจจะไม่ชอบใจ เพราะราคาข้าวเปลือกจะถูกลง รวมถึงถ้ามีตลาดใหม่ที่ไม่ใช่ตลาดประจำเข้ามา อย่างอินโดนีเซียหรือบังกลาเทศก็อาจทำให้ส่งออกดีขึ้น ซึ่งถ้าจะให้ได้ 6 ล้านตัน ต้องส่งออกต่อเดือนเฉลี่ย 5 แสนตันขึ้นไป”
นอกจากตลาดข้าวขาวจะทำตลาดได้ยากแล้ว ตลาดข้าวหอมมะลิไทยเองก็ยังเงียบเช่นกัน แม้ราคาจะลงมาจาก 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เหลือ 800 ดอลลาร์แล้ว ก็ยังส่งออกยากเนื่องจากข้าวหอมเวียดนามยังถูกกว่าไทยถึง 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน โดยราคาอยู่ที่ 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ทำให้ผู้นำเข้าหันไปซื้อข้าวหอมจากเวียดนามแทนเพราะคุณภาพใกล้เคียงกัน
ขณะปัญหาที่พบในเวลานี้คือ ผู้นำเข้าจะซื้อข้าวหอมเวียดนามแล้วเอาไปผสมกับข้าวหอมไทย 20% แต่จะติดป้ายอ้างว่าเป็นข้าวหอมไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่แก้ปัญหาได้อยากเพราะผู้ซื้อต้องการซื้อของถูกแต่คุณภาพใกล้เคียงกันและสามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตลาดฮ่องกงที่ข้าวหอมมะลิไทยส่งออกได้ลดลงจากข้าวเวียดนามไปแย่งตลาด
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 8 ฉบับที่ 3,678 วันที่ 13 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564