นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยว่าผลดำเนินการไตรมาส 1 ปี 2564 มีรายได้ 477,837 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 32,587.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 1,554 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นมีผลดำเนินงานดีขึ้น
อย่างไรก็ตามในส่วนของรายได้ ที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.2 % ส่วนใหญ่จากรายได้ของธุรกิจน้ำมันที่ลดลงตามปริมาณขายที่ลดลงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) รวมถึงรายได้ของกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ปรับลงตามราคาขายเฉลี่ยของก๊าซธรรมชาติที่ปรับลดลง
ในขณะที่รายได้ของกลุ่มปิโตรเคมี–การกลั่น-ธุรกิจการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ตามราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และมาร์จินปิโตรเคมีที่สูงขึ้น อีกทั้งกลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำเนินงานดีขึ้น จากต้นทุนก๊าซฯ ที่ลดลงและราคาขายเฉลี่ยที่สูงขึ้น
ส่วนราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทั่วโลกนั้น ประเมินว่าราคาจากนี้คงจะอยู่ที่ประมาณ 60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เพราะกลุ่มโอเปกพลัสและสหรัฐก็พร้อมจะผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นจึงทำให้ราคาคงจะไม่เพิ่มสูงนัก
นายอรรถพล กล่าวต่อไปอีกว่า ไตรมาส 1/64 บริษัทมียอดขาย 407,174 ล้านบาท ลดลง 1.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่มีกําไรจากการดําเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต้นทุนทางการเงิน และภาษีเงินได้ (EBITDA) จํานวน 102,997 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 218% จากราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่เฉลี่ย 60 ดอลลาร์/บาร์เรล จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 50.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หนุนมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน
ธุรกิจการกลั่นมีกำไรขั้นต่อจากการกลั่นรวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน (AGRM) เพิ่มเป็น 6.9 ดอลลาร์ต่อบาร์รล จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่อราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น และมีกำไรสต็อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 12,000 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสต็อกน้ำมัน 32,000 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี ปรับตัวดีขึ้น จากราคาผลิตภัณฑ์วัตถุดิบปรับสูงขึ้นหลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดรวมเริ่มฟืนตัว จากมาตรการผ่อนคลายการล็อคดาวน์ ร่วมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ
ธุรกิจก๊าซมีผลดำเนินงานดีขึ้น หลังธุรกิจโรงแยก๊าซธรรมชาติมีราคาเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นตามราคาปิโตรเคมี และปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นตามความต้องการลูกค้า
“ไตรมาสนี้มีส่วนแบ่งกำไรจากการร่วมค้าและบริษัทร่วม 1,947 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.1% มีผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ 7,398 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 61.4% และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงอยู่ที่ 4,330 ล้านบาท”
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 2/64 คาดว่าจะฟื้นตัวชะลอลจากไตรมาส 1/64 ท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะฟื้นตัวกลับชะลอลง ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ส่วนการส่งออกคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :