รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความว่า ทำไมต้อง CPTPP? แค่ทำ FTA กับแคนาดาและเม็กซิโกไม่พอหรือ?
ต่อข้อสงสัยของ FTA Watch
ยาวนิดนึง แต่อดทนอ่านนะครับ จะได้มี #ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงกัน
หนึ่งในประเด็นที่หลายๆ ฝ่ายถกเถียงในการสนับสนุน หรือคัดค้าน การเจรจาเพื่อพิจารณาทางเลือกว่าไทยจะเข้าร่วมเจรจาเพื่อขอเป็นสมาชิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership หรือ #CPTPP) ก็คือ เราจำเป็นแค่ไหนที่ต้องร่วม CPTPP ในเมื่อเรามีข้อตกลงการค้าเสรีอยู่แล้วกับ เวียดนาม, สิงคโปร์, บรูไนและมาเลเซีย ภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC), มีข้อตกลงการค้าเสรีอยู่แล้วกับ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทั้งในระดับทวิภาคี (เจรจา 2 ประเทศ) และในระดับ ASEAN+1 (เจรจาร่วมกันทั้งกลุ่มในระดับภูมิภาค) และในกรณีของชิลีกับเปรู เราก็เริ่มต้นบังคับใช้ เปิดเสรีการค้าไปแล้วบางส่วน (ลดภาษีศุลกากรไปแล้วในบางรายการสินค้า) ก่อนที่จะสรุปผลการเจรจา (Early Harvest) นั่นเท่ากับเรายังขาดกรอบการค้าเสรีอยู่กับเพียงแค่อีก 2 ประเทศ นั่นคือ แคนาดา กับ เม็กซิโก เท่านั้นมิใช่หรือ แล้วมูลค่าการค้ากับ 2 ประเทศนั้นก็ไม่ได้สูงด้วย รวมกันมีมูลค่าการค้าคิดเป็นเพียงร้อยละ 2 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยเท่านั้น
เพื่อที่จะหาคำตอบนี้ เราต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า ข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: #FTA) คือการที่ประเทศคู่เจรจาตกลงที่จะ ลด ละ เลิก มาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างกัน ทั้งมาตรการภาษี และมาตรการทางการค้าที่มิใช่มาตรการทางภาษี (Non-Tariff Measures: #NTMs)
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ไทยจะสามารถส่งอะไรก็ได้ออกไปขายกับคู่เจรจาของเราแล้วได้สิทธิประโยชน์ภาษีศุลกากร 0% และไม่มี NTMs ทันทีโดยอัตโนมัติ
เราจะใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ได้ หรือเราจะสามารถค้าขายด้วยภาษี 0% และไม่มี NTMs ได้ก็ต่อเมื่อ สินค้าที่เราจะขายต้องมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และ/หรือ ประเทศที่เรามี FTA ด้วยเท่านั้น เช่น ไทยจะส่งสินค้าออกไปขายที่ญี่ปุ่นและจะไม่ต้องถูกเก็บภาษีศุลกากรเมื่อนำเข้าไปในญี่ปุ่นได้ก็ต่อเมื่อ สินค้านั้น ๆ มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและ/หรือในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น เพราะนี่คือข้อตกลงระหว่างไทยกับญี่ปุ่นที่จะลด ละ เลิกสิ่งกีดกันทางการค้าระหว่างกัน ดังนั้น ไทยจะลักไก่ไปซื้อของจากฝรั่งเศสเข้ามาแล้วส่งออกไปขายที่ญี่ปุ่น แล้วขอให้ญี่ปุ่นไม่เก็บภาษีไม่ได้
นั่นหมายความว่า #กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด (Rules of Origin: #ROO) ซึ่งเป็นหลักการในการชี้บ่งว่าสินค้าใดมีถิ่นกำเนิดที่ไหน จึงมีความสำคัญมาก และในการเจรจา FTA ส่วนใหญ่ เรื่องที่เจรจายากและใช้เวลาในการเจรจายาวนานก็คือเรื่อง ROO นี้ล่ะ ที่มีความยุ่งยากซับซ้อนมาก แน่นอนสำหรับสินค้าเกษตร กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดคงไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนมากมายนัก เพราะส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดใช้กฎการใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด (Wholly Obtained: WO) เช่น ทุเรียน มังคุด มันสำปะหลัง การชี้บ่งว่าสินค้านี้เป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย เพื่อให้เราขอใช้สิทธิประโยชน์ไม่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเมื่อเราส่งออกไปขายยังประเทศที่มี FTA ด้วยก็เป็นเรื่องไม่ซับซ้อน เพราะเราอยู่แล้วว่าทุเรียนผลนั้นเริ่มต้นจากต้นทุเรียนที่อยู่ในสวนในประเทศไทย จากดอก กลายเป็นผลอ่อน กลายเป็นผลโตเต็มไว เราก็สามารถส่งทุเรียนไปขายด้วยภาษี 0% กับประเทศที่เรามี FTA ได้ง่าย ไม่ต้องพิสูจน์ถิ่นกำเนิดให้ยุ่งยากซับซ้อน
แต่กับสินค้าที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม การชี้บ่งว่าสินค้านี้มีถิ่นกำเนิดที่ไหนเป็นเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนมาก ๆ เช่น รถยนต์กระบะ Toyota ที่มีโรงงานประกอบอยู่ในประเทศไทย เราจะสามารถบ่งชี้ได้หรือไม่ว่ารถกระบะคันนี้เป็นสินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในไทย (อย่าลืมนะครับว่าชื่อ Toyota ก็บอกแล้วว่าเป็นรถยนต์สัญชาติญี่ป่น) ในความเป็นจริงรถกระบะคันนี้อาจจะประกอบในไทย แต่ใช้ชิ้นส่วนจากทั่วโลก ในชิ้นส่วนนับพัน ๆ ชิ้นที่ประกอบขึ้นเป็นรถกระบะ 1 คันมีทั้งชิ้นส่วนที่ผลิตในไทย ในจีน ในอาเซียน ในญี่ปุ่น และในที่ต่าง ๆ จากทั่วโลก แล้วแบบนี้เราจะบ่งชี้ถิ่นกำเนิดของรถยนต์คันนี้อย่างไร คำตอบคือ เราใช้หลักการที่เรียกว่า หลักการคำนวณมูลค่าเพิ่ม (Value Added Rule: VA หรือ Ad Valorem Rule)ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น (ชื่อทางการคือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น Japan-Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) อาจจะกำหนดไว้ว่า หากรถกระบะคันนี้มีมูลค่าของชิ้นส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นรถคันนี้ที่ผลิตในไทย และ/หรือ ในญี่ปุ่น รวมกันสูงกว่า 40% (ตัวเลขสมมติ) ให้ถือว่า รถยนต์คันนี้มีถิ่นกำเนิดในไทยและญี่ปุ่น ที่เพียงพอที่จะขอใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกไปขายแล้วคิดภาษีศุลกากรที่ 0% และไม่มีข้อกีดกันทางการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นได้ โดยการขอใช้สิทธิประโยชน์นี้ ผู้ประกอบการต้องพิสูจน์กับกรมการค้าต่างประเทศ
อ่านมาถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านคงจะเริ่มเห็นความแตกต่างระหว่าง การเจรจาเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคี คือ 2 ประเทศ กับการเจรจาการค้าเสรีในระดับภูมิภาค ที่มีประเทศร่วมกันเจรจาหลาย ๆ ประเทศมีความแตกต่างกัน เพราะการเจรจาการค้าแบบภูมิภาคที่มีหลาย ๆ ประเทศจะทำให้เราสามารถสะสมถิ่นกำเนิดได้ (cumulative value added) โดยเฉพาะในโลกยุคที่การผลิตอยู่ในรูปแบบที่เรียกว่า ห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก (Global Value Chains: #GVCs)
ลองนึกดูนะครับว่า ถ้าโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องมีชิ้นส่วนมากกว่า 300 ชิ้น ซึ่งแน่นอนมากจากหลากหลายประเทศทั่วโลก มีทั้งชิ้นส่วนที่มาจาก ไทย จากญี่ปุ่น จากจีน จากเกาหลี จากทั่วโลก ดังนั้นการนับมูลค่าเพิ่มแบบทวิภาคีแค่ 2 ประเทศ เราก็จะสะสมถิ่นกำเนิดได้แค่ 2 ประเทศ ซึ่งอาจจะไม่ถึงเกณฑ์ที่จะใช้สิทธิประโยชน์ได้ (เกณฑ์ VA ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 35-40%) เพราะโทรศัพท์มือถือเครื่องนั้นอาจจะมีมูลค่าชิ้นส่วนจากไทย 15% จากญี่ปุ่น 10% รวมกันแค่ 25% ซึ่งไม่พอ
แต่ในกรอบภูมิภาค เราอาจะรวมถิ่นกำเนิดจากไทย 15% ของญี่ปุ่น 10% เข้ากับของ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนจนครบ VA 40% ตามข้อตกลง และทำให้เราส่งออกไปขายในประเทศเหล่านี้ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ อาเซียน-ญี่ปุ่น ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership: AJCEP) ได้ด้วยภาษี 0% นี่คือความแตกต่างระหว่างกรอบทวิภาคี กับกรอบภูมิภาค ที่กรอบภูมิภาคแน่นอนว่าอาจจะเจรจาได้ยุ่งยากซับซ้อนมากกว่า ใช้เวลานานกว่า แต่เมื่อเวลาที่บังคับใช้ข้อตกลง กรอบระดับภูมิภาคก็จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์และเข้าสู่ตลาดได้มากขึ้น
กลับมาที่ CPTPP แน่นอนถึงแม้เราจะมีกรอบอื่น ๆ อยู่แล้วที่เป็นการเปิดเสรีกับประเทศสมาชิกถึง 9 จาก 11 ประเทศ แต่อย่าลืมว่าหลาย ๆ ข้อตกลง เราก็ยังใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ เช่น ในกรณีของชิลีและเปรูที่เจรจาการค้ามานานแต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ และแน่นอนข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับแคนาดา และไทยกับเม็กซิโกก็ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นหากมี CPTPP จึงไม่ใช่เพียงแค่การมี FTA เพิ่มขึ้นกับอีกเพียง 2 ประเทศดังที่หลายฝ่ายกล่าว แต่ในโลกที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่เราต้องนำเข้าและส่งออกทั้งวัตถุดิบและสินค้าขั้นสุดท้าย ผู้ประกอบการของเราจะมีแต้มต่อเพิ่มมากยิ่งขึ้นหากมีข้อตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมจำนวนสมาชิกเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกรอบนั้น ๆ เป็นกรอบที่มีแหล่งวัตถุดิบ มีกำลังแรงงาน มีตลาดขนาดใหญ่ ซึ่ง CPTPP ก็เป็นกรอบหนึ่งที่มีคุณสมบัติเหล่านี้
และประเทศเพื่อนบ้านเรา เช่น เวียดนาม ก็ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ในการดึงดูดเงินลงทุน เพราะนอกจาก FTA แบบทวิภาคีแล้ว เวียดนามเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ถือเป็นแหล่งรวมข้อตกลงทางการค้าในกรอบภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น RCEP หรืออาเซียน+5, CPTPP, และกรอบล่าสุดคือ ข้อตกลงการค้าเสรีเวียดนาม-สหภาพยุโรป (ซึ่งมีสมาชิกถึง 27 ประเทศ) การมีอยู่ของข้อตกลงทางการค้าเหล่านี้ เป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้นักลงทุนจากทั่วโลกเลือกที่จะเข้ามาตั้งโรงงาน เอาเงินเข้ามาลงทุนในเวียดนาม เพราะไม่ว่าจะอยู่ในห่วงโซ่อุปทานไหน เวียดนามก็มีสิทธิประโยชน์ มีแต้มต่อในเรื่องของการค้าและการลงทุน
และสำหรับ #คนไทยทั้งประเทศ ในฐานะที่เราเป็นผู้บริโภค เราซื้อ เรากิน เราใช้ สินค้า ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นการมีข้อตกลงทางการค้าที่ครอบคลุมประเทศจำนวนมาก อย่าง #RCEP และ CPTPP ก็จะยิ่งทำให้ พวกเราทุกคน สามารถซื้อสินค้า กิน ใช้ สินค้า จากหลากหลายประเทศทั่วโลก ได้ในคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น (ทั้งในมิติการคุ้มครองแรงงาน คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ต้านการคอรัปชั่น คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา) ในราคาที่ลดต่ำลง เพราะไม่มีข้อกีดกันทางการค้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง