ก่อสร้างอ่วม จี้นายกฯรื้อค่า K ราคาเหล็กพุ่ง 80% เมกะโปรเจกต์แบกไม่ไหว

19 พ.ค. 2564 | 06:00 น.

รับเหมากระอัก ราคาเหล็กพุ่ง 50-80% กระทบต้นทุนค่าก่อสร้างรัฐ โครงการขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดใหญ่ รถไฟทางคู่ ไฮสปีดไทย-จีนที่มีสัญญากับภาครัฐ จี้นายกฯเร่งแก้ปัญหา ชง 5 ข้อเสนอ ยกเลิกค่า K ชั่วคราว เป็นเวลา 2 ปี หวั่นผู้ประกอบการแบกรับภาระไม่ได้เกิดการทิ้งงาน ต้องลอยแพลูกจ้าง 3 ล้านคน

นอกจาก อุตสาหกรรมก่อสร้างไทย จะได้รับ ผลกระทบรุนแรงจากการระบาดไวรัสโควิด-19 แล้วยังถูกซํ้าเติมจาก ความผันผวนของราคาเหล็ก ที่ปรับตัวสูงเฉลี่ย 50-80% นับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่ผ่านมาคาดว่าจะขยับต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปีส่งผลให้ภาคเอกชนต้องแบกภาระต้นทุนส่วนต่างโดยเฉพาะ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐ ที่เซ็นสัญญาแล้ว นับตั้งแต่ กลางปี 2562-2564 จำนวน 50,000-60,000 สัญญาตั้งแต่โครงการขนาดเล็กในท้องถิ่นจนถึงโครงการขนาดใหญ่ รวมถึงโครงการใหม่เตรียมนำออกประมูลในทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ถนน สะพาน ฯลฯ ที่อ้างอิงราคากลางเดิม เช่นเดียวกับค่าปรับราคาตามความผันผวนเศรษฐกิจหรือค่าเคอยู่ที่บวก-ลบ 4%

มองว่าไม่สะท้อนราคาที่แท้จริง และในระยะยาวหากไม่ได้รับการแก้ไข เชื่อว่า ภาครัฐอาจได้รับความเสียหายจากการทิ้งงานของผู้รับจ้าง และอีกหลายโครงการส่งมอบล่าช้า สร้างกระทบต่อ เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศที่รัฐบาลใช้โครงสร้างพื้นฐานขับเคลื่อนขณะต้นตอของปัญหาเกิดจากทุกประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะจีนมีความต้องการใช้เหล็กสูง เพื่อฟื้นฟูประเทศโดยลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และเนื่องจากต้องใช้เหล็กในปริมาณมาก ทำให้ไม่มีการส่งออกเป็นเหตุให้กระทบในวงกว้างมาถึงปัจุบัน

เหล็กพุ่งบิ๊กตู่ต้องช่วย

นางสาวลิซ่า งามตระกูล พานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 สมาคมฯได้ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาลให้ช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งระบบก่อนสถานการณ์จะสายเกินไปเพราะเนื่องจากเป็นเครื่องยนต์ตัวเดียวที่จะใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศได้

สำหรับหัวใจสำคัญขอให้ยกเลิกค่าเคบวก-ลบ4% เป็นการชั่วคราวออกไป2ปีนับตั้งแต่ เดือนมกราคม 2564-ธันวาคม 2565 ครอบคลุมโครงการที่เซ็นสัญญาแล้วและ โครงการที่ยังไม่ได้จัดซื้อจัดจ้างโดยให้ยึดราคาวัสดุก่อสร้างที่สะท้อนราคาปัจจุบัน และทุกหน่วยงานควรประเมินราคากลางใหม่ทั้งหมดก่อนนำออกประกวดราคา หากรัฐเพิกเฉย เกรงว่าเอกชนอาจไม่มีใครกล้ารับงาน

เปิด5ข้อเรียกร้อง

สำหรับรายละเอียด มาตรการเร่งด่วนที่เสนอนายกรัฐมนตรี ได้แก่

1.พิจารณายกเลิกส่วนต่างค่าปรับราคา (ค่า K) ± 4% จากสูตรการคํานวณค่าปรับราคา เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 - ธันวาคม 2565 กับโครงการที่ยังมีนิติสัมพันธ์อยู่ และโครงการที่จะดําเนินการจัดซื้อจัดจ้างในอนาคต ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวได้เคยถูกพิจารณาโดยมติคณะรัฐมนตรีมาแล้ว เมื่อมีความผันผวนอย่างมากของวัสดุก่อสร้างในปี พ.ศ.2551

2. ขอให้พิจารณาใช้ฐานดัชนีราคาในเดือนที่คิดราคากลางในการคํานวณค่า K แทนการใช้ดัชนีราคาในเดือนที่เปิดซองประกวดราคา เพื่อให้สะท้อนฐานดัชนีราคาที่ใช้ในการคิด

3. พิจารณาเร่งรัดการเบิกเงินชดเชยค่า K ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ยื่นขอเบิกจ่ายเงินชดเชย

4. พิจารณาการคิดราคากลางให้สะท้อนกับราคาเหล็กเสริมคอนกรีตที่แท้จริงในท้องตลาด โดยใช้ราคาไม่เกิน 30 วันก่อนประกาศประกวดราคาส่วนมาตรการระยะยาว พิจารณาเร่งรัดให้มีการปรับสูตรการคํานวณค่า K ให้สะท้อนโครงสร้างต้นทุนที่เป็นธรรมและใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด

รถไฟไทย-จีนหนักสุด

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล ประธานกรรมการ บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัดและอดีตนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างฯ ยอมรับว่า บริษัทก่อสร้างได้รับผลกระทบจากเหล็กราคาขยับขึ้น โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่เซ็นสัญญาไปในช่วง2เดือนที่ผ่านมา อย่างรถไฟไทยจีน 4 สัญญา ที่เช็นสัญญาไปเมื่อเดือนมีนาคม เพราะ นอกจากต้องแบกต้นทุนเหล็กแล้วที่ผ่านมาผู้รับจ้างต่างแข่งขันดัมพ์ราคาตํ่าเพื่อให้ได้งานไม่ตํ่ากว่า 20% อีกทั้งแรงงานขาด ได้รับผลกระทบจากโควิดขณะเดียวกันเอกชนยังต้องดูแลให้คนกลุ่มนี้ให้ปลอดจากการระบาดซึ่งถือเป็นต้นทุนที่สูง


ก่อสร้างอ่วม จี้นายกฯรื้อค่า K ราคาเหล็กพุ่ง 80% เมกะโปรเจกต์แบกไม่ไหว

บวกค่าผันผวนแล้ว

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กรมฯ ได้ขอรับจัดสรรงบประมาณเผื่อเหลือเผื่อขาดบางส่วน เนื่องจากเล็งเห็นว่าในช่วงปลายปี 2563 สถานการณ์ราคาวัสดุการก่อสร้างที่มีความผันผวนสูงขึ้น ส่วนใหญ่โครงการก่อสร้างถนนของกรมจะใช้รูปแบบการก่อสร้างแบบแอสฟัลติกคอนกรีต ขณะที่งานด้านโครงสร้างที่ใช้เหล็กเพื่อก่อสร้างสะพานมีไม่มากรวมทั้งการคิดราคากลางแต่ละโครงการจะดำเนินการให้อยู่ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณที่กรมฯขอรับจัดสรร

“ยืนยันว่าราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้นไม่ได้มีผลกระทบต่อโครงการถนนของกรมฯ โดยงานที่มีการประกวดราคาไปแล้วสามารถดำเนินการตามสัญญาได้ทันที ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคาได้ดำเนินการตั้งงบประมาณเผื่อบ้างแล้ว ทั้งนี้ในปัจจุบันโครงการถนนของกรมฯ มีทั้งหมด 4,600 โครงการ แบ่งเป็นโครงการที่ประมูลและลงนามสัญญาแล้วจำนวน 4,520 โครงการ โครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคา จำนวน 80 โครงการ”

นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ส่วนการก่อสร้างโครงการถนนของกรมฯ ไม่ได้รับผลกระทบจากราคาเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาหลังจากลงนามสัญญาแต่ละโครงการฯ มีการกำหนดราคากลางเพื่อก่อสร้างแล้ว นับตั้งแต่ 45 วันก่อนดำเนินการก่อสร้าง ขณะเดียวกันเชื่อว่าผู้รับเหมาฯ ได้รับผลกระทบจากราคาเหล็กที่ปรับตัวขึ้น แต่จะได้รับค่าตัวเลขดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างาน (ค่าเค) คืนด้วยเช่นกัน

รับความเสี่ยงสายสีส้ม

จากสถานการณ์ราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นมีผลกระทบต่อการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หรือไม่นั้น รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่าผู้รับเหมาอาจต้องรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น แต่สามารถขอเบิกค่าตัวเลขดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของค่างาน (ค่าเค) ขณะสายสีส้มตะวันตก ขึ้นอยู่กับผู้รับเหมาจะนำปัจจัยนี้เรื่องมาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ เพราะอีกนานจะก่อสร้าง

หารือรัฐ-เอกชน

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากราคาเหล็กในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับขึ้นทั้งในและต่างประเทศกรมได้หารือระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างที่เป็นผู้ใช้เหล็ก กับหน่วยงานภาครัฐคือสำนักงบประมาณ และกรมบัญชีกลางที่เป็นผู้พิจารณาค่าตัวเลขดัชนีที่ใช้วัดการเปลี่ยน แปลงของค่างาน (ค่า K) ในสัญญาก่อสร้างโครงการภาครัฐ เพื่อพิจารณาค่าดัชนีตัวเลขใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,680 วันที่ 20 - 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง