นางสาวสุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากพืชรายแรกของภูมิภาคเอเซีย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ว่า ขณะนี้โรงงานที่ใช้ผลิตวัคซีน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขนาด 1,000 ตารางเมตรใกล้จะดำเนินงานแล้วเสร็จประมาณสิ้นเดือนมิถุนายน หลังจากนั้นก็จะผลิตวัคซีนล็อตแรก เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนของการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ คาดจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนี้
ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมจะเปิดรับอาสาสมัครประมาณ 100 คน เพื่อทดสอบวัคซีนดังกล่าว เชื่อว่าจะหาได้ไม่น่ามีปัญหา เนื่องจากน่าจะมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรก หลังจากนั้นต้องรอดูผลว่ามีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร หากผลออกมาดีอย่างที่ตั้งใจไว้ คาดช่วงกลางปีหน้า หรือประมาณไตรมาส 2/2565 น่าจะสามารถใช้งานได้จริง
“การทดสอบวัคซีนจะต้องทำทั้งหมด 3 ระยะก่อนที่จะถูกนำไปใช้งานจริง ซึ่งถือว่าใช้ระยะเวลานานพอสมควร โดยการทดสอบในระยะที่ 2-3 บริษัทจะต้องมีการวางแผนการเตรียมการไว้เป็นอย่างดี เพราะเชื่อว่าเวลานั้น อาจจะหาอาสาสมัครที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนมาทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนค่อนข้างยาก”
อย่างไรก็ดี บริษัทยังได้ดำเนินการพัฒนาวัคซีนในเจเนอเรชั่นต่อไป ซึ่งจะมีสรรพคุณในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้มีมากขึ้นสำหรับป้องกันเชื้อโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ ปัจจุบันจะเห็นแล้วว่าวัคซีนของหลายบริษัทผู้ผลิตมีประสิทธิภาพที่ลดลง ซึ่งวัคซีนเจเนอเรชั่นที่ 2 จะใช้สำหรับกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้มีมากขึ้น โดยคาดว่าจะนำมาทดสอบต่อจากเจเนอเรชั่นแรกทันที
นางสาวสุธีรา กล่าวอีกว่า สำหรับราคาค่าวัคซีนต่อโดสจะอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่นั้น เวลานี้ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน โดยจะต้องดูว่าเมื่อนำไปผลิตที่โรงงานจริงจะมีต้นทุนอยู่ที่เท่าใด คาดว่าราคาไม่น่าจะสูงกว่าที่ผลิตจากต่างประเทศ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 300-500 บาทต่อโดส
ขณะที่ในส่วนของการระดมทุนนั้น คาดว่าสิ้นปีนี้น่าจะต้องเปิดระดมทุนอีกรอบหนึ่ง เพื่อดำเนินการต่อในเฟสที่ 3 ซึ่งจะต้องมีการสร้างโรงงานแห่งใหม่ ที่ต้องใช้เงินอีกจำนวนมาก ปัจจุบันเงินที่ได้จากการระดมทุนจำนวน 50 ล้านบาท บวกกับที่ได้จากสถาบันวัคซีนแห่งชาติอีกประมาณ 160 ล้านบาท และเงินที่บริษัทลงทุนเองอีกจำนวนหนึ่งได้ถูกใช้ไปจนเกือบหมดแล้ว
อนึ่ง บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด เป็นบริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ได้รับการบ่มเพาะจากศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU Innovation Hub ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ในกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตที่ใช้เซลล์พืช
หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,682 วันที่ 27 - 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :