นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด ( มหาชน ) หรือ ปตท. เปิดเผยว่า เตรียมพร้อมวางรากฐานธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) แบบครบวงจร ภายใน 2-3 ปีจากนี้ โดยภายในไตรมาส 3 /64 จะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นสำหรับการลงทุนดังกล่าว ซึ่งจะให้ บริษัทออน-ไอออน โซลูชั่นส์ จำกัด (On-I on Solutions) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่ Alpha Com (บริษัทย่อยที่ ปตท. ถือหุ้นทางอ้อม 100) จัดตั้งด้วยทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท เป็นผู้ดำเนินการ ทั้งการร่วมทุน เพื่อผลิตยานยนต์อีวี และส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานีเครื่องอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้ า (EV Charging Station) นอกสถานีบริการน้ำมัน เช่น ศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน เป็นต้น รวมถึงจำหน่ายสินค้าและให้บริการที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น จัดจำหน่ายและติดตั้ง EV Charger ในที่พักอาศัย เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ New S-Curve ของ ปตท.
ทั้งนี้ ในส่วนของการลงทุนด้านแบตเตอรี่ และส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ นั้น บริษัทในเครือก็จะสามารถดำเนินการได้ แล้วแต่ความเหมาะสมในแต่ละเรื่อง เช่น การพัฒนา แบตเตอรี่ของ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) เป็นต้น
“การพัฒนาอีวีเป็นเป้าหมายของกลุ่ม ปตท.ที่จะรุกในธุรกิจ New S-Curve และตอบสนองนโยบายอีวีของรัฐบาล โดยการร่วมทุนพัฒนารถยนต์อีวี ก็ตั้งเป้าหมายจะมีทั้งรถ 2 ล้อ 4 ล้อ รถยนต์นั่ง รถบรรทุก ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างหารือกับพาร์ทเนอร์ โดยความคืบหน้าอีวีโดยรวมจะมีความชัดเจนในไตรมาส 3 ปีนี้”
สำหรับแผนลงทุนของ ปตท. นั้น ยังเป็นไปตามแผนแม้จะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสาม โดยในปี 2564-2568 เตรียมเงินลงทุนไว้ประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้สำหรับการลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ โรงแยกก๊าซหน่วยที่ 7 ,ท่อขนส่งก๊าซฯ ,คลังก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) หนองแฟบ ที่จะแล้วเสร็จปี 2565 ,การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส3 และเทคโนโลยีวิศวกรรมต่างๆ ซึ่งยังไม่รวมวงเงินที่เตรียมไว้อีกประมาณ 3 แสนล้านบาท เพื่อใช้สำหรับลงทุนโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษา ขณะที่วงเงินลงทุนทั้งกลุ่ม ปตท. ปี 2564-2568 รวมอยู่ที่ประมาณ 8.5 แสนล้านบาท
นายอรรถพล กล่าวต่อไปอีกว่า แนวโน้มผลประกอบการปีนี้จะเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เพียงไตรมาส 1/64 มีกำไร 3.2 หมื่นล้านบาท ใกล้เคียงกับทั้งปี 63 ซึ่งมีกำไร 3.7 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 60-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และค่าการกลั่น(GRM) ปีนี้อยู่ที่ 2-2.5 เหรียญต่อบาร์เรล เทียบกับปีก่อนไม่ถึง 1 เหรียญต่อบาร์เรล ซึ่งมาจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันและปิโตรเคมีเพิ่มขึ้น และปีนี้กลุ่ม ปตท. ตั้งเป้ากลับมาเดินเครื่องโรงงานในอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ส่งผลให้ปีนี้จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น
“ผลประกอบการของ ปตท. ที่ดีขึ้นในไตรมาส1/64นั้น นอกจากสถานการน้ำมัน และปิโตรเคมีที่ดีขึ้นแล้ว ยังมาจาก กลุ่ม ปตท. สามารถบริหารจัดการการดำเนินงานได้ดี ไม่สะดุด มีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะดำเนินการภายใต้สถานการณ์ Covid-19”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :