วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 . ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางมายังอาคารสำนักงานเขตปลอดอากร ชั้น1 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อร่วมในพิธีรับมอบวัคซีนโรคลัมปี สกิน จากประเทศแอฟริกาใต้ โดยมีนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวรายงาน พร้อมให้การต้อนรับร่วมกับผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
สำหรับวัคซีนโรคลัมปี สกิน” เดินทางสายการบินเอมิเรตส์ เที่ยวบิน EK766/EK384 เส้นทางโยฮันเนสเบิร์ก-กรุงเทพฯ ได้นำวัคซีนโรคลัมปี สกิน (Lumpy Skin Vaccine : LSDV) จำนวน 60,000 โดส ที่บรรจุในคอนเทนเนอร์ชนิดปรับควบคุมอุณหภูมิ ออกจากเดินทางจากประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา ในเวลา 19.10 น. ก่อนแวะพักที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเดินทางออกจากเมืองดูไบ ในวันที่ 30 พ.ค. เวลา 02.50 น. มาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในเวลา 12.15 น. ของวันนี้
เมื่อมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เจ้าหน้าที่สนามบินได้ลำเลียงวัคซีนเข้าสู่คลัง และจัดเก็บภายในห้องควบคุมอุณหภูมิตามมาตรฐาน พร้อมดำเนินการตามพิธีการศุลกากร พร้อมกันนี้หลังจากพิธีรับมอบวัคซีนแล้ว ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานได้ทำพิธีปล่อยรถขนส่งวัคซีน พร้อมเวชภัณฑ์ยา และทีมสัตวแพทย์ออกปฎิบัติงานฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบ
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการนำเข้า "วัคซีนโรคลัมปี สกิน" ด้วยเป็นโรคอุบัติใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งพบการติดเชื้อครั้งแรกในโคเนื้อของเกษตรกรที่อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา และได้แพร่กระจายของโรค โดยมีแมลงเป็นพาหะ ไปยังโค-กระบือของเกษตรกรในจังหวัดต่าง ๆ ถึง 35 จังหวัด มีสัตว์ป่วยรวม 7,200 ตัว และตาย 53 ตัว จากสถานการณ์ระบาดของโรคลัมปี สกิน ที่เกิดขึ้นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มีความห่วงใยและกำชับให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการระบาดให้สำเร็จโดยเร็ว
“การใช้วัคซีนควบคุมโรค เป็น 1 ใน 5 มาตการที่สำคัญของการควบคุมการระบาดที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการ โดยมอบหมายให้กรมปศุสัตว์จัดหาและสั่งซื้อวัคซีน ซึ่งกรมปศุสัตว์สามารถสั่งซื้อวัคซีน LSDV จำนวน 60,000 โดสได้จาก บริษัท Intervet International B.V. ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีโรงงานผลิตอยู่ที่ประเทศแอฟริกาใต้ และนำมาสู่การรับมอบในวันนี้
ดร.เฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า วัคซีน LSDV ล๊อตแรกจำนวน 60,000 โดสที่ได้รับในวันนี้ จะนำไปฉีดให้กับโคกระบือของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นหลักก่อน โดยต้องฉีดรอบจุดเกิดโรคเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของโรค และเป็นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งตนได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์รีบดำเนินการโดยเร็วที่สุด เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้เกษตรกรพร้อมกันนี้ยังได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีกจำนวน 300,000 โดส เพื่อให้เพียงพอ และเพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศไทย
“ที่สำคัญต้องขอฝากเรียนถึงพี่น้องเกษตรกรทุกคนที่กำลังประสบความเดือดร้อนว่า การฉีดวัคซีนโรคลัมปี สกินให้กับโคกระบือนี้ เป็นมาตรการช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น โค กระบือทุกตัวในพื้นที่การระบาด จะได้รับการฉีดให้ฟรี ดังนั้นหากพบการเรียกร้องค่าใช้จ่าย ขอให้แจ้งมาที่ตนโดยตรง จะดำเนินการจัดการด้วยมาตรการขั้นเด็ดขาด ”
การดำเนินมาตรการควบคุมป้องกันทั้ง 5 มาตรการ ได้แก่ หนึ่ง ควบคุมการเคลื่อนย้ายโค-กระบือ เพื่อลดการแพร่กระจายของโรค และปฏิบัติตามแนวทางการเคลื่อนย้ายอย่างเคร่งครัด สอง การเฝ้าระวังการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด เน้นการรู้โรคให้เร็ว ควบคุมได้ทัน โรคสงบได้อย่างรวดเร็ว สาม การป้องกัน และควบคุมแมลงพาหะนำโรค ให้เกษตรกรป้องกันโดยใช้สารกำจัดแมลงทั้งบนตัวสัตว์ และบริเวณโดยรอบฟาร์ม ทั้งในพื้นที่ระบาดของโรคและพื้นที่เสี่ยง สี่ การรักษาสัตว์ป่วยตามอาการ และ ห้า การใช้วัคซีนควบคุมโรค ยังต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อให้การระบาดสงบโดยเร็วที่สุด และไม่เกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ รายงานตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม เป็นต้นมา ยังไม่มีรายงานการกระจายหรือการระบาดเพิ่มในจังหวัดใหม่ สำหรับแผนการกระจายวัคซีนโรคลัมปี สกิน ตลอดจนมาตรการชดเชยเยียวยาเกษตรกร ขณะนี้ คณะกรรมการอำนวยการ และคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกัน ควบคุม และเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุโรคลัมปี สกิน หรือ War room ได้มีการวางแผนไว้เป็นที่เรียบร้อย และจะสามารถดำเนินการได้ทันที เมื่อได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน จึงจะสามารถนำมาใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความปลอดภัยของสัตว์ที่ได้รับวัคซีน คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน ซึ่งเมื่อทุกอย่างพร้อมกรมปศุสัตว์จะเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับโค-กระบือของเกษตรกรในทันที
“ ขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้จัดให้มีกิจกรรม Kick off รณรงค์ป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน โดยดำเนินการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด และองค์การบริหารส่วนจังหวัดในทุกจังหวัด ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 – 26 พ.ค. 2564 ได้จัดกิจกรรมขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น สกลนคร และมุกดาหาร โดยมีนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี การ Kick off รณรงค์ป้องกันและกำจัดโรคลัมปี สกิน มีกิจกรรมที่ประกอบด้วยการปล่อยขบวนสัตวแพทย์เคลื่อนที่ หน่วยพ่นยาทำลายเชื้อโรค แจกและพ่นสารเคมีกำจัดแมลงที่เป็นพาหะ แจกยารักษาแผลภายนอก ยาบำรุง แร่ธาตุ ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจโรคและการป้องกันให้กับพี่น้องเกษตรกร” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง