“จับคู่กู้เงิน”กร่อย ขอสินเชื่อแค่หลักพันล้าน ติงดอกสูง-เงื่อนไขเขี้ยว

23 มิ.ย. 2564 | 03:05 น.
อัปเดตล่าสุด :24 มิ.ย. 2564 | 22:11 น.

นับตั้งแต่ประเทศไทยเจอกับวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกสาม ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 จนถึงปัจจุบันยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย แม้รัฐบาลจะเร่งฉีดวัคซีนควบคู่อัดฉีดเม็ดเงินเพื่อเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูภาคธุรกิจแต่ก็ยังไม่เพียงพอ เฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ร้านอาหาร ที่ได้ผลกระทบอย่างหนักในครั้งนี้ ซึ่งหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อ นับวันจะยิ่งมีผู้ประกอบการผู้ล้มหายตายจากไปเป็นจำนวนมากจากขาดสภาพคล่องในการประคองธุรกิจเพื่อให้ไปต่อได้ 

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ประกอบการร้านอาหารในระบบทั้งสิ้น 118,967 ราย แบ่งเป็นนิติบุคคล 15,967 ราย คิดเป็น 13.43% และบุคคลธรรมดา 103,000 ราย คิดเป็น 86.57% 

ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ผุดโครงการ “จับคู่กู้เงิน” ระหว่างสถาบันการเงินกับร้านอาหาร ระหว่างวันที่ 7-20 มิถุนายนนี้ เพื่อช่วยเหลือในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และช่วยเติมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ เฉพาะอย่างยิ่งเพื่อรองรับการเปิดประเทศใน 120 วันตามที่นายกรัฐมนตรีได้ลั่นวาจาเอาไว้ โดยกระทรวงฯได้ประสานกับสถาบันการเงินจัดแคมเปญเฉพาะกิจเพื่อปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษและเงื่อนไขผ่อนปรนให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วประเทศ ทั้งที่เป็นนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา โดยได้รับความร่วมมือจาก 5 สถาบันการเงินได้แก่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME D Bank) 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า  โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการช่วยให้ร้านอาหารสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ หรือเข้าถึงสถาบันการเงินโดยมีดอกเบี้ยอัตราพิเศษและปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณี และเงื่อนไขผ่อนปรนอื่นๆ เพื่อให้โครงการนี้สามารถช่วยร้านอาหารได้จริงในทางปฏิบัติ เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถคุยกับสถาบันการเงินตรง มีปัญหา มีข้อติดขัดตรงไหน ก็คุยกันได้เลย เพราะเป็นการจับเข่าคุยกัน และสถาบันการเงินเอง ก็พร้อมที่จะปล่อยเงินกู้ อัตราดอกเบี้ยพิเศษ และผ่อนปรนหลาย ๆ เงื่อนไข ส่วนการที่ผู้ประกอบการต้องการดอกเบี้ยที่ถูกลงกว่านี้ กระทรวงไม่สามารถไปกำหนดให้ได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการเงินเป็นผู้กำหนดเงื่อนไข กระทรวงเพียงแค่ช่วยประสานให้เท่านั้น

“จับคู่กู้เงิน”กร่อย ขอสินเชื่อแค่หลักพันล้าน ติงดอกสูง-เงื่อนไขเขี้ยว

  ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบข้อมูลหลังสิ้นสุดโครงการ (20 มิ.ย.) (ตรวจสอบ ณ วันที่ 21 มิ.ย.) ถึงความคืบหน้าโครงการ ทั้งจำนวนผู้ยื่นกู้ วงเงินสินเชื่อ โดยได้พยายามติดต่อขอข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์ และจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าที่เป็นเจ้าของโครงการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ระบุว่ายังรวบรวมตัวเลขไม่แล้วเสร็จ และหากรวบรวมเสร็จแล้วก็ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ต้องรอรายงานไปยังนายจุรินทร์ก่อน  

อย่างไรก็ดีจากข้อมูลระหว่างวันที่ 7-14 มิ.ย. 2564  มีร้านอาหารยื่นขอสินเชื่อทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ในส่วนของต่างจังหวัด รวม 3,001 ราย วงเงินที่ขอสินเชื่อรวมกัน 879 ล้านบาท แบ่งเป็น ธนาคารออมสินมีผู้ยื่นขอกู้ 2,520 ราย วงเงินขอสินเชื่อ 750 ล้านบาท ธนาคาร SME D Bank มีผู้ยื่นขอกู้ 146 ราย วงเงินขอสินเชื่อ 64 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทยมีผู้ยื่นขอกู้ 98 ราย วงเงินขอสินเชื่อ 43 ล้านบาท ธ.ก.ส.ยื่นขอกู้ 49 ราย วงเงินขอสินเชื่อ 22 ล้านบาท ส่วน บสย. มีผู้ยื่น 188 ราย และในส่วนกลาง (จัดที่กระทรวงพาณิชย์) ข้อมูลล่าสุด (7-20 มิถุนายน) มีจำนวนผู้ประกอบการเข้ามาเจรจาจับคู่กู้เงิน 228 คู่ ขอสินเชื่อ 279 ล้านบาท (ยังไม่รวมตัวเลขผู้ที่ยื่นออนไลน์) ภาพรวมในเบื้องต้นทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีผู้ยื่นขอสินเชื่อ 3,229 ราย วงเงินขอสินเชื่อ 1,158 ล้านบาท

ทั้งนี้ สาเหตุที่ยอดผู้ยื่นขอสินเชื่อน้อยถ้าเทียบกับจำนวนผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งประเทศที่มีเกือบ 1.2 แสนรายนั้นแทบจะไม่ถึง 1% ของจำนวนผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วประเทศ ส่วนหนึ่งผู้ประกอบการระบุมาจากเงื่อนไขยิบย่อยของของธนาคารที่ปล่อยกู้ และให้เฉพาะผู้ที่เป็นลูกค้าของธนาคารและต้องไม่ติดเครดิตบูโร รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ยังไม่จูงใจ รวมถึงระยะเวลาของโครงการที่มีเพียง 14 วันถือว่าน้อยและไม่ได้ช่วยผู้ประกอบการร้านอาหารมากนัก ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์มีแผนจะดำเนินโครงการจับคู่กู้เงินในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เกี่ยวกับภาคการส่งออกซึ่งต้องรอดูต่อไปว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด 

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์มองอีกมุมว่าโครงการจับคู่กู้เงินให้กับร้านอาหารถือว่าประสบความสำเร็จ และผู้ประกอบการอยากให้มีเฟสสอง อย่างไรก็ตามมองว่านายจุรินทร์คงอยากให้โครงการนี้จบก่อนเพื่อประเมินความต้องการของผู้ประกอบการ ซึ่งเฟสสองอาจจะเป็นจับคู่กับธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจบริการ หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เพื่อช่วยเหลือให้ได้ทุกกลุ่ม  

ด้าน นางสาวประภัสสร รังสิโรจน์ นายกสมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า มาตรการดังกล่าวสามารถช่วยผู้ประกอบการได้มาก โดยเฉพาะเวลานี้ที่ผู้ประกอบการต้องการสภาพคล่อง แต่มองว่าอัตราดอกเบี้ยยังสูง อย่างเช่น ของธนาคารกรุงไทยกำหนดดอกเบี้ยที่ 2% กว่า หรือธนาคารออมสินที่มีอัตราดอกเบี้ย 3.95% ผู้ประกอบการมองว่ายังสูงไปในสภาวะเช่นนี้ ซึ่งผู้ประกอบการเองอยากได้อัตราดอกเบี้ยที่ 1-2%

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,690 วันที่ 24 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"จับคู่กู้เงิน" 7 วัน ร้านอาหารยื่นกู้ 3,000 ราย

“จุรินทร์”สั่งขยาย "จับคู่กู้เงิน" ถึง30มิ.ย.

รู้จัก “จับคู่กู้เงิน” ช่วยร้านอาหารเข้าถึงสินเชื่อ

"จับคู่กู้เงิน” ต่อสายป่าน ร้านอาหารทั่วประเทศ