เป็นที่ถกเถียงกันมากว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าของ กทม.หรือของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถูกกว่า หาคำตอบได้จากบทความนี้
รถไฟฟ้าภายใต้การกำกับดูแลของ กทม.คือรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีเส้นทางดังนี้
1. เส้นทางหลัก
ประกอบด้วยช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กิโลเมตร กทม.ได้ให้สัมปทานแก่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เป็นเวลา 30 ปี ตั้งแต่ปี 2542-2572 โดยบีทีเอสเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด 100% ทั้งงานโยธาและงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล เป็นเงินประมาณ 53,000 ล้านบาท และต้องแบกรับภาระความเสี่ยงเองทั้งหมดด้วย
2. ส่วนต่อขยาย
2.1 ส่วนต่อขยายที่ 1
ประกอบด้วยช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร กทม.จ้างบีทีเอสให้เดินรถตั้งแต่ปี 2555-2585
2.2 ส่วนต่อขยายที่ 2
ประกอบด้วยช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ ระยะทาง 12.6 กิโลเมตร และช่วงหมอชิต-คูคต ระยะทาง 17.8 กิโลเมตร กทม.จ้างบีทีเอสให้เดินรถตั้งแต่ปี 2559-2585
หาก กทม.ขยายสัมปทานให้บีทีเอสเป็นเวลา 30 ปี ตั้งปี 2573-2602 โดยจะต้องพ่วงส่วนต่อขยายให้บีทีเอสรับผิดชอบด้วยตั้งแต่วันที่จะลงนามสัญญาจนถึงปี 2602 บีทีเอสจะต้องเก็บค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท จะต้องแบ่งรายได้ให้ กทม.ไม่น้อยกว่า 2 แสนล้านบาท และถ้าได้ผลตอบแทนเกิน 9.6% จะต้องแบ่งรายได้ให้ กทม.เพิ่มเติมอีก ทั้งนี้ บีทีเอสจะต้องรับภาระหนี้แทน กทม.ถึงปี 2572 และจะต้องรับภาระความเสี่ยงเองทั้งหมด
รถไฟฟ้าภายใต้การกำกับดูแลของ รฟม.ที่เปิดให้บริการแล้วคือสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง
1. สายสีน้ำเงิน
1.1 เส้นทางหลัก
ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ระยะทาง 20 กิโลเมตร รฟม.ได้ให้สัมปทานแก่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็มเป็นเวลา 25 ปี จากปี 2547-2572 เส้นทางนี้ใช้เงินลงทุนทั้งหมด 115,812 ล้านบาท โดย รฟม.ลงทุนงานโยธาเป็นเงิน 91,249 ล้านบาท คิดเป็น 79% และบีอีเอ็มลงทุนงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล เช่น ขบวนรถ ติดตั้งระบบสื่อสาร อาณัติสัญญาณ และระบบตั๋ว เป็นเงิน 24,563 ล้านบาท คิดเป็น 21%
1.2 ส่วนต่อขยาย
ประกอบด้วยช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 11.08 กิโลเมตร และหัวลำโพง-บางแค (หลักสอง) ระยะทาง 15.9 กิโลเมตร เป็นการลงทุนรูปแบบเดียวกันกับเส้นทางหลัก กล่าวคือ รฟม.ลงทุนงานโยธา และบีอีเอ็มลงทุนงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล
รฟม.ได้ขยายสัมปทานเส้นทางหลักให้บีอีเอ็มออกไปอีก 20 ปี จากปี 2573-2592 โดยพ่วงส่วนต่อขยายให้บีอีเอ็มเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตั้งแต่ปี 2560-2592 มีการลงนามในสัญญาขยายสัมปทานไปแล้วเมื่อปี 2560 โดยบีอีเอ็มเก็บค่าโดยสารสูงสุดได้ไม่เกิน 42 บาท หากได้ผลตอบแทนไม่เกิน 9.75% ไม่ต้องแบ่งรายได้ให้ รฟม. แต่ถ้าได้เกิน จะต้องแบ่งให้ รฟม. ทั้งนี้ บีอีเอ็มไม่ต้องช่วยแบกภาระหนี้แทน รฟม. แต่ต้องแบกรับภาระความเสี่ยงเองทั้งหมด
2. รถไฟฟ้าสายสีม่วง
รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร มีบทบาทหน้าที่เหมือนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เนื่องจากมีเส้นทางต่อจากสายสีน้ำเงินที่เตาปูน รถไฟฟ้าสายนี้ รฟม.ลงทุนเองทั้งหมด 100% เป็นเงิน 62,903 ล้านบาท และต้องแบกรับภาระความเสี่ยงเองทั้งหมดด้วย โดยได้จ้างบีอีเอ็มให้เดินรถตั้งแต่ปี 2559-2592 เหตุที่ รฟม.ต้องลงทุนเองทั้งหมดเป็นเพราะรถไฟฟ้าสายนี้มีผู้โดยสารน้อย เอกชนจึงไม่สนใจมาร่วมลงทุน
ค่าโดยสารรถไฟฟ้า กทม.หรือ รฟม.ถูกกว่า?
เพื่อความเป็นธรรม การเปรียบเทียบค่าโดยสารจะต้องเปรียบเทียบต่อระยะทาง 1 กม. ปรากฏว่าได้ผลดังนี้
1. รถไฟฟ้า กทม. หรือสายสีเขียว
ค่าโดยสารสูงสุด 65 บาท เดินทางได้ไกลสุดคือจากคูคต-เคหะสมุทรปราการ ระยะทาง 53 กิโลเมตร คิดเป็นค่าโดยสารเฉลี่ย 1.23 บาทต่อกิโลเมตร
2. รถไฟฟ้า รฟม. หรือสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง
ค่าโดยสารสูงสุด 70 บาท เดินทางได้ไกลสุดคือจากคลองบางไผ่ (บางใหญ่)-หัวลำโพง ระยะทาง 44 กิโลเมตร กล่าวคือจากคลองบางไผ่-เตาปูน ระยะทาง 23 กิโลเมตร ใช้รถไฟฟ้าสายสีม่วง ค่าโดยสาร 42 บาท และจากเตาปูน-หัวลำโพง ระยะทาง 21 กิโลเมตร ใช้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ค่าโดยสาร 28 บาท คิดเป็นค่าโดยสารเฉลี่ย 1.59 บาทต่อกิโลเมตร
สรุป
1. ค่าโดยสารรถไฟฟ้า กทม. หรือสายสีเขียวเฉลี่ย 1.23 บาทต่อกิโลเมตร
2. ค่าโดยสารรถไฟฟ้า รฟม. หรือสายสีน้ำเงินรวมกับสายสีม่วงเฉลี่ย 1.59 บาทต่อกิโลเมตร
3. สรุปได้ว่า ค่าโดยสารรถไฟฟ้า กทม.หรือสายสีเขียวถูกกว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้า รฟม. หรือสายสีน้ำเงินรวมกับสายสีม่วง 36 สตางค์ต่อกิโลเมตร ซึ่งหากคำนึงถึงสัดส่วนการลงทุนในเส้นทางหลัก ค่าโดยสารรถไฟฟ้า รฟม.ควรถูกกว่า เพราะรัฐร่วมลงทุนมากกว่า