ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) : นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

21 ต.ค. 2559 | 09:16 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2559 | 15:55 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง “ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) : นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต”

ประเด็นสำคัญ

•EEC มีเป้าหมายเพื่อที่จะดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมายกฎระเบียบ และสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่นักลงทุน

•ในระยะสั้นถึงปานกลาง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า EEC จะให้ประโยชน์แก่นักลงทุนเดิม โดยเป็นการลงทุนต่อยอดในอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมกลุ่ม First S-curve ส่วนการลงทุนของนักลงทุนรายใหม่ในอุตสาหกรรม New S-curve จะยังมีไม่มากนัก โดยในระยะยาว การดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย อาทิ ปัจจัยด้านแรงงาน ความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ ระดับการพัฒนาด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ของประเทศ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และนวัตกรรม

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. … เพิ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างกระบวนการเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบและตราเป็นกฎหมายต่อไป โดยพ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือ EEC ที่รัฐบาลคาดหมายว่าจะเข้ามาช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยมีความทันสมัย สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และทำให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

การเตรียมความพร้อมของภาครัฐเพื่อรองรับ EEC

EEC ตั้งอยู่ในเขตแดน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นการต่อยอดจากอีสเทิร์นซีบอร์ดเป็นซูเปอร์อีสเทิร์นซีบอร์ด เน้นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เรียกว่า First S-curve และ New S-curve สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตในระยะยาว นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่เรียกว่า  2nd Wave S-curve ที่ต้องได้รับการปรับปรุงและนำเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์มาใช้เพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถเติบโตได้ต่อไป ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น (อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องหนัง อัญมณีและเครื่องประดับ) และกลุ่มอุตสาหกรรมวัสดุ (อุตสาหกรรมโลหะ อโลหะ ไม้ แก้ว กระจก ปูนซีเมนต์ และเซรามิค)

kec1-1 kec2-2 การเตรียมความพร้อมของภาครัฐเพื่อรองรับ EEC นั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 ด้าน ได้แก่

1) ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ (Hard infrastructure) ภาครัฐมีแผนการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพภายในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) เป็นมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท โดยจะเป็นการลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยมุ่งพัฒนาและเชื่อมโยงการขนส่งในแต่ละโหมดเพื่อให้การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal transport) เป็นไปอย่างไม่สะดุด รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาให้ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และเปิดให้เป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน และการพัฒนาท่าเรือจุกเสม็ดเพื่อการท่องเที่ยวทางเรือสำราญ เป็นต้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพที่ออกมานั้นค่อนข้างมีความชัดเจน และหากการพัฒนาสำเร็จตามแผนที่วางไว้จะช่วยให้ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมใน EEC เชื่อมโยงกันได้มากขึ้นจากต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วยการขนส่งโหมดต่าง ๆ ที่ประสานกัน และยังเชื่อมต่อกับกรุงเทพมหานครที่เป็นศูนย์กลางการบริโภคและศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศด้วยรถไฟความเร็วสูง เกิดการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับจำนวนแรงงานที่จะเพิ่มขึ้น รวมไปถึงรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

2) ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านกฎหมายกฎระเบียบ (Soft infrastructure) มีร่างพ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเป็นกฎหมายหลัก บริหารงานโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งคาดว่าหากพ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ตราออกมาเป็นกฎหมายแล้วจะทำให้การดำเนินงานใน EEC เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะคณะกรรมการฯ จะเป็นหน่วยงานเดียวที่มีอำนาจในการบริหาร EEC ทำให้เกิดความชัดเจนและคล่องตัวในการปฏิบัติงาน และการจัดตั้งศูนย์ดำเนินการแบบ One stop services ก็จะช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ช่วยลดต้นทุนทั้งตัวเงินและเวลาของนักลงทุนในการดำเนินการต่าง ๆ ได้

3) ด้านสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่นักลงทุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนเช่นเดียวกันกับไทย พบว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ EEC มีมากกว่าของประเทศอื่น ๆ และมีข้อจำกัดน้อยกว่า รวมไปถึงสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ภาษีอีกหลายประการ นับว่าเป็นข้อได้เปรียบของไทยที่สามารถดึงดูดนักลงทุนได้

kec3-3 อย่างไรก็ดี แม้สิทธิประโยชน์ที่ BOI ให้แก่นักลงทุนใน EEC มีแนวโน้มว่าจะสูงกว่าสิทธิประโยชน์ตามนโยบายอื่น ๆ ของ BOI แต่ก็ยังมีความไม่ชัดเจนในเรื่องของขอบเขตและเงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์ โดยที่ EEC ไม่ได้ระบุว่าจะส่งเสริมเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเท่านั้น หรือจะให้สิทธิประโยชน์แก่การลงทุนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วยหากเป็นการลงทุนในพื้นที่ EEC และยังไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า EEC มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ใดบ้างใน 3 จังหวัด ดังนั้น หาก BOI ต้องการให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนใน EEC อาจต้องกำหนดขอบเขตและเงื่อนไขของสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่นักลงทุนใน EEC ให้ชัดเจนว่า EEC จะส่งเสริมอุตสาหกรรมประเภทใดในพื้นที่ใด และกิจการใดในพื้นที่ใดที่ไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์จาก EEC ได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากแผนงานทั้ง 3 ด้านดำเนินการสำเร็จแล้ว EEC จะมีศักยภาพสูงในการดึงดูดนักลงทุน ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีความพร้อมและเชื่อมโยงกันทำให้ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเชื่อมโยงกันตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ การมีหน่วยงานบริหารเพียงหน่วยงานเดียวทำให้การบริหารงานเป็นไปอย่างคล่องตัว การจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนแบบ One stop services และกฎหมายกฎระเบียบรวมถึงสิทธิประโยชน์จำนวนมากที่ให้แก่นักลงทุน จะทำให้นักลงทุนเลือกเข้ามาลงทุนใน EEC ตามเป้าประสงค์ของรัฐบาลได้

First S-curve จะเป็นอุตสาหกรรมหลักใน EEC และการลงทุนใน New S-curve ต้องรอการพัฒนา

หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในเดือน พ.ย. 2558 ข้อมูลจาก BOI พบว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2559 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายไปแล้วทั้งสิ้น 515 โครงการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.44 แสนล้านบาท โดยอยู่ในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมากที่สุด แต่เมื่อพิจารณาตามจำนวนโครงการ จะมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลมากที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้การลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-Curve นั้นจะมีหลากหลายโครงการแต่มูลค่าของการลงทุนก็ยังคงต่ำโดยคิดเป็นเพียงร้อยละ 9 และการลงทุนส่วนใหญ่ยังอยู่ที่อุตสาหกรรมในกลุ่ม First S-curve ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 33 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด และเมื่อพิจารณารายพื้นที่ พบว่ามีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในภาคตะวันออกมากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 1.14 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 34 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งประเทศ โดยแบ่งเป็นการลงทุนในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมภาคตะวันออกร้อยละ 20 และการลงทุนในพื้นที่อื่น ๆ ร้อยละ 14 แสดงว่านักลงทุนยังคงเลือกลงทุนในภาคตะวันออกมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม และมูลค่าการลงทุนส่วนใหญ่ยังอยู่ในอุตสาหกรรมกลุ่ม First S-curve โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทยอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ในกลุ่ม New S-curve

kec-a1 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในระยะสั้นถึงปานกลาง EEC จะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนที่ปัจจุบันมีการลงทุนใน 3 จังหวัดนี้อยู่แล้วมากกว่าดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ ส่วนการลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-curve จะยังมีน้อย โดยการลงทุนส่วนใหญ่จะมาจากนักลงทุนเดิมที่ต้องการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมของตนออกไปในอุตสาหกรรมกลุ่ม First S-curve ในขณะที่อุตสาหกรรมกลุ่ม New S-curve อาจมีความน่าดึงดูดน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ เพราะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศทำให้ต้นทุนในการลงทุนอาจสูงกว่า หาก BOIต้องการให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนใน EEC ในอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-curve มากขึ้น ก็ควรกำหนดสิทธิประโยชน์ของ EEC โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-curve ให้ได้รับสิทธิประโยชน์สูงกว่านโยบายส่งเสริมการลงทุนประเภทอื่น ๆ ของ BOI อย่างชัดเจน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับนักลงทุน

kec6-6 อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในด้านความพร้อมต่ออุตสาหกรรมกลุ่ม New S-curve พบว่ามาเลเซียมีความพร้อมมากกว่าไทยค่อนข้างสูงในทุกด้าน และแม้ไทยจะได้เปรียบอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ในเรื่องความพร้อมทางเทคโนโลยี แต่กลับมีความพร้อมด้านนวัตกรรมต่ำที่สุด ส่วนด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรมและด้านระดับการพัฒนาของธุรกิจนั้นทั้ง 3 ประเทศมีระดับใกล้เคียงกัน โดยไทยอยู่ในระดับเดียวกับอินโดนีเซียในทั้งสองด้าน แต่ต่ำกว่าฟิลิปปินส์ในด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม แสดงว่าไทยไม่ได้มีความได้เปรียบประเทศเพื่อนบ้านซึ่งก็มีนโยบายดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีเช่นเดียวกัน จึงอาจทำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-curve ในประเทศเหล่านี้เพราะมีความพร้อมมากกว่าไทย

kec7-7 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าสัดส่วนของการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่ม First S-curve มีโอกาสเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33 ในช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค. ปี 2559 เป็นร้อยละ 38 ในปี 2564 จากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ส่วนการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-curve อาจมีสัดส่วนใกล้เคียงของเดิมที่ร้อยละ 9 และการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอื่น ๆ จะมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 58 เป็นร้อยละ 53 ซึ่งคาดว่าการลงทุนในกลุ่มนี้จะมาจากเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่งตามนโยบายของรัฐบาล และการลงทุนในอุตสาหกรรมดั้งเดิมเป็นหลัก

นอกจากนี้ ในระยะยาว หากต้องการให้การลงทุนในอุตสาหกรรมกลุ่ม New S-curve มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 9 ก็จำเป็นต้องพิจารณาด้วยว่าสิทธิประโยชน์จาก BOI เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอในการดึงดูดนักลงทุน แต่ปัจจัยด้านแรงงานก็เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานกึ่งทักษะและแรงงานมีทักษะ  จึงจำเป็นที่จะต้องผลิตบุคลากรให้ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมจึงจะสามารถดึงดูดนักลงทุนได้ ส่วนงานที่ต้องใช้แรงงานที่มีทักษะสูงก็อาจแก้ปัญหาโดยการจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างชาติมาเป็นการชั่วคราว และกำหนดเงื่อนไขให้การลงทุนมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology transfer) และการฝึกอบรมให้แก่แรงงานชาวไทยด้วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน ได้แก่ ความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ ระดับการพัฒนาด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) ของประเทศ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และนวัตกรรม เป็นต้น ซึ่งจำเป็นจะต้องปรับปรุงให้ปัจจัยเหล่านี้เอื้อต่อการลงทุนและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในระยะสั้นถึงปานกลาง EEC จะให้ประโยชน์แก่นักลงทุนเดิมเพื่อต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิมไปสู่อุตสาหกรรมในกลุ่ม First S-curve มากกว่าดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรม New S-curve ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยปี 2564 สัดส่วนการลงทุนของอุตสาหกรรมกลุ่ม First S-curve จะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 38 แต่ในระยะยาว หากประเทศไทยต้องการดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve ก็จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยด้านแรงงาน ให้การลงทุนเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่แรงงานชาวไทย รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย