ระหว่างวันที่ 26-27 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม
Global Shippers’ Alliance (GSA) ร่วมกับกลุ่มผู้ส่งออกจากเอเชียและสหภาพยุโรป ที่เขตปกครองพิเศษฮ่องกงและมาเก๊า โดยมีการแลกเปลี่ยนแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งในด้านการขนส่งทางทะเล การขนส่งทางรางจากเอเชียไปยังยุโรป การอำนวยความสะดวกทางการค้าภายใต้องค์การการค้าโลก และประเด็นที่หารืออย่างเข้มข้น คือ การขนส่งทางอากาศ ซึ่งพบว่า แม้ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศมีการขยายตัว แต่ทิศทางของสายการบินสำคัญกลับลดจำนวนอากาศยานสำหรับขนส่งสินค้าโดยเฉพาะลง และหันไปขนส่งสินค้ากับอากาศยานขนส่งผู้โดยสารมากขึ้น รวมถึงข้อกำหนดของ IATA ระบุให้แต่ละสายการบินต้องทำ 80/20 Slot Allocation ทำให้ปริมาณระวางสำหรับการขนส่งสำหรับสายการบินมีน้อยลง แต่ในส่วนของผู้ให้บริการขนส่งสินค้ารายใหญ่และผู้ขนส่งในตลาดเฉพาะ กลับเพิ่มอากาศยานสำหรับขนส่งสินค้าโดยเฉพาะมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของ Amazon และ Alibaba ในอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการขนส่งสินค้าทางอากาศ ทำให้เกิดความแออัด ณ ท่าอากาศยาน เนื่องจากขาดการลงทุนในอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่เพียงพอ และยังไม่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลสินค้าระหว่างประเทศผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะไม่มีการทำ Data Harmonization ซึ่งส่งผลต่อ Interoperability ของระบบ และเป็นอุปสรรคของการทำ Digitalization ให้เชื่อมโยงตลอด end-to-end supply chain อาทิ การแปลงเอกสารการขนส่งให้เป็น eAWB เป็นต้น
แต่ไฮไลต์สำคัญ คือ ICAO ได้กำหนดนโยบาย Air Cargo Security ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.ค. 2020 (สหรัฐอเมริกาได้เริ่มใช้งานกับสินค้าขาเข้าตั้งแต่ปี 2017 ที่ผ่านมา) โดยให้ผู้ส่งสินค้าและผู้ขนส่งสินค้าทางอากาศต้องจดทะเบียนกับหน่วยงานกำกับดูแล ภายใต้แนวคิด Known Consignor (KC) และ Regulated Agents (RA) เพื่อยืนยันความปลอดภัยของสินค้าที่ขนส่งตลอดเส้นทาง ขณะที่ ท่าอากาศยานแต่ละแห่งต้องจัดเตรียมอุปกรณ์และระบบ X-Ray Scanning สำหรับการตรวจสอบสินค้าแบบ 100% ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความแออัดให้กับท่าอากาศยานอีกมาก เมื่อต้องรับมือกับการตรวจสอบสินค้า
'ทุกหีบห่อ' และเป็นคำถามสำคัญสำหรับหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ซึ่งไม่ได้มีการดำเนินโครงการ Known Consignor Scheme ว่า จะทำอย่างไรให้สามารถปฏิบัติสอดคล้องกับระเบียบภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด
ในเรื่องนี้ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยได้เสนอที่ประชุม GSA พิจารณากรณีที่ประเทศใดมีการดำเนินโครงการ AEO : Authorized Economic Operator ซึ่งมีรายละเอียด 80% สอดคล้องกับ KC และ RA ให้ใช้ทดแทนกัน โดยเปรียบเทียบมาตรฐานและกำหนดระเบียบรองรับการดำเนินงานภายในประเทศควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการตรวจสอบสินค้าก่อนบรรทุกขึ้นอากาศยาน ซึ่งในกรณีของประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานที่ต้องรับผิิดชอบมาตรการ Air Cargo Security ภายในท่าอากาศยาน และกรมศุลกากร ในฐานะเจ้าของโครงการ AEO Program ต้องหารือเพื่อเตรียมการในเรื่องดังกล่าวให้ทันตามกำหนดในอีก 2 ปีข้างหน้า
……………….
คอลัมน์ : เทรดวอตช์ โดย คงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,355 วันที่ 8-11 เม.ย. 2561 หน้า 08
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
● เทรดวอตช์ :
เจ้าสัวจับมือกันทำดัชนีการค้า
● เทรดวอตช์ :
มรสุมโลจิสติกส์ การส่งออกไทย