ลุ่มเจ้าพระยา อู่ข้าว อู่น้ำ เส้นเลือดใหญ่ผลิตอาหารหล่อเลี้ยงคนไทยมาอย่างยาวนาน วันนี้กำลังตกอยู่ในเดิมพัน!ครั้งสำคัญ เมื่อชาวนาในพื้นที่เลือกที่จะ
ปลูกข้าวหอมมะลิพันธุ์เวียดนาม แทนข้าวสายพันธุ์ไทย
“ฐานเศรษฐกิจ” ได้สอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องห่วงโซ่ทั้งอุตสาหกรรมข้าวทั้งระบบว่า
"อนาคตข้าวไทยจะเป็นอย่างไร?" เมื่อ
'ข้าวหอมมะลิเวียดนาม'ยึดนาไทย’
นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า โดยหลักง่ายๆ ของชาวนา ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ไหน หากชาวนาปลูกแล้วขายได้ราคา ผลผลิตดี และต้านทานโรคก็ปลูกทั้งนั้น โดยเฉพาะตลาดต้องการ ทำไมชาวนาจะไม่ปลูก จริงหรือไม่ ความจริงเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดูแล ก็คือ
“กรมการข้าว” กับ
“กรมวิชาการเกษตร” จะต้องผลิตพันธุ์ข้าวอย่างที่ชาวนาต้องการ หากไปห้ามในการปลูกจะต้องมีพันธุ์ข้าวใกล้เคียงอย่างนี้มีหรือไม่ ต้องยอมรับความจริงว่าชาวนาไม่รู้ว่าสายพันธุ์มาจากไหน แต่หากมีผู้ซื้อก็ปลูกขายเท่านั้นเอง!
ด้านนายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ข้าวหอมพวง เป็นข้าวนิ่มปานกลาง ให้ผลผลิตสูง ลำต้นแข็งแรง แล้วตลาดภายในขานรับ บางพื้นที่ปลูกได้ดีมีคุณภาพลักษณะเม็ดจะยาว แต่ถ้าพื้นที่ไม่ดีจะมีลักษณะป้อมสั้นแต่อยู่ในชั้นข้าวขาวไม่เกิน 5-10% จะต้องมีการพิสูจน์ข้าว แหล่งที่มามาจากไหน มาเผยแพร่อย่างไร ให้ดูคุณสมบัติข้อดีข้อเสีย ควรจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหรือไม่ เกรงว่าหากปริมาณเยอะเกินไปจะมีผลเสียอย่างไรหรือไม่ ส่วนในภาคการส่งออก สามารถรองรับข้าวชนิดนี้ได้หรือไม่ ถ้าการส่งออกไม่สามารถรองรับข้าวชนิดนี้ได้เกิดเกษตรกรปลูกเยอะขึ้น ตลาดรองรับที่เป็นตลาดภายในจะไม่มีที่รองรับแล้วถ้ายอมรับทั้งตลาดในและตลาดต่างประเทศ น่าจะเป็นพันธุ์ข้าวอีกตัวหนึ่งที่น่าสนใจเพราะว่าผลผลิตดี ลำต้นแข็งแรง มีความนุ่มปานกลาง ไม่แข็งเกินไป ไม่นิ่มเกินไป
ขณะที่นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยการที่จะไปผสมกับข้าวหอมมะลิ เพื่อปลอมปนไม่กลัว เพราะเมล็ดข้าวไม่เหมือนกัน เพราะลักษณะที่เห็นเม็ดสั้น และอ้วน ไม่ใช่จะไปผสมง่ายๆ เพราะการตรวจสอบเข้มงวดมาก สิ่งที่ได้เห็นก็คือการปลูกในประเทศ จะเห็นว่าตลาดในประเทศมีความต้องการข้าวนิ่ม แต่ไทยไม่มี ประกอบกับผลผลิตได้สูงมาก และปลูกระยะสั้น ชาวนาชอบโดยเฉพาะแถวภาคกลางจังหวัดนครสวรรค์แค่เริ่มต้นเท่านั้นเอง แต่ความจริงมีหลายพันธุ์ที่เข้ามาในประเทศมีหลายสายพันธุ์ควบคุมไม่ถึง โยงไปที่พระราชบัญญัติข้าว พ.ศ. .... คนที่เดือดร้อนก็คือชาวนา เพราะมีกฎหมายออกมาจะต้องระบุสายพันธุ์ แล้วถึงเวลาโรงสีไม่กล้าซื้อใครเดือดร้อน และถ้ามีค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบใครเดือดร้อนใครจะต้องจ่าย นี่คือสิ่งที่โยนกลับไปให้ผู้ที่ร่างกฎหมายได้เข้าจริงกับสภาพปัญหาที่แท้จริง
นายเกษม ผลจันทร์ นายกสมาคมผู้รวบรวมและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว เผยว่า สมาชิกของสมาคมได้รับผลกระทบมากเนื่องจากเมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมการข้าวที่สมาชิกส่งเสริมแปลงไว้ไม่สามารถจำหน่ายได้ เพราะไม่เป็นที่ต้องการของเกษตรกรและตลาดในบางพื้นที่กำลังต้องการข้าวพื้นนุ่มในขณะนี้ มีผู้รวบรวมบางรายฉวยโอกาสรวบรวมข้าวพันธุ์หอมพวงจำหน่ายให้เกษตรกร ซึ่งทางสมาคมฯ ได้ขอความร่วมมือและให้คำแนะนำว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ห้ามส่งเสริมและรวบรวมอย่างเด็ดขาด นอกจากนั้นเกษตรกรยังไปหาซื้อข้าวในแปลงนาของเกษตรกรด้วยกันเพื่อนำมาปลูกโดยไม่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างถูกต้องอีกด้วย ทางสมาคมเห็นว่าทางกรมการข้าวจะต้องเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มที่ตอบโจทย์ให้เกษตรกรได้ครบทุกด้านอย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ดี
สมาคมมีจุดยืน คือ ส่งเสริมให้ผู้รวบรวมฯผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน พ.ร.บ.พันธุ์พืช และถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น เพื่อจะได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีไว้ให้เกษตรกรได้ลงแปลง และ
ไม่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้สมาชิกผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่มีการขึ้นทะเบียนพันธุ์กรมวิชาการเกษตรและ
ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบหรือจดทะเบียนรับรองพันธุ์ข้าวจากกรมการข้าว หากพบเห็นผู้รวบรวมฯ รายได้กระทำผิด!
ทางสมาคมจะแจ้งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ทางกรมการข้าวทราบทันที
ด้านนางสาวธันยนันท์ อริยขจรนนท์ นายกสมาคมค้าข้าวไทย(หยง) เผยว่า ความจริงชาวนาไม่ว่าจะปลูกข้าวพันธุ์อะไรก็ขายได้ทั้งหมด แต่มองอีกด้านว่า
เป็นการทำลายข้าวส่งออกไทยหรือไม่ เพราะข้าวหอมเวียดนามได้ราคาแพงกว่าข้าวขาว แค่ 1,000 หรือ 2,000 บาท/ต่อตันเท่านั้นเอง แต่อนาคต
ตลาดโลกข้าวหอมมะลิจะได้ราคาสูงอย่างนี้หรือไม่ หวั่นลูกค้าจะไม่ไว้ใจ เมื่อไม่เชื่อใจการได้ราคาสูงอย่างนี้ก็คงเกิดขึ้นได้ยาก ปัจจุบันข้าวหอมมะลิ ขายได้กว่า 1 พันดอลล่าร์สหรัฐ แล้วหากทราบว่าไทยปลูกข้าวชนิดนี้แล้ว ต่อไปตลาดจะเป็นอย่างไร
ข้าวไทยอนาคตจะเหลืออะไร?
ว่าที่ร้อยตรี ดร.กฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ข้าวที่มีอ้างว่าถูกนำมาผสมในข้าวขาวดอกมะลิ 105 นั้น คือข้าวหอมพวง เป็นข้าวเจ้าพื้นนุ่มอายุเก็บเกี่ยวสั้น 90-95 วัน และเชื่อกันว่าเป็นข้าวที่ผู้ประกอบการลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศให้ชาวนาเพาะปลูกในจังหวัดสุพรรณบุรีประมาณปี 2558 แต่สันนิษฐานว่าข้าวดังกล่าวไม่ใช่ข้าวหอม Jasmine 85 ของประเทศเวียดนามที่มีอายุเก็บเกี่ยว 105-110 วัน โดยมีผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์จำหน่ายให้ชาวนาทั้งที่ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชจากกรมวิชาการเกษตร และไม่ได้รับรองพันธุ์จากกรมการข้าว แต่มี
ชาวนาไม่น้อยหลงเชื่อผู้ประกอบการที่ชักชวนให้ซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายเหล่านี้ ด้วยเห็นว่าเป็นข้าวที่มีอายุสั้นและสามารถขายกลับ
ผู้รับซื้อข้าวเปลือกได้ราคาสูงกว่าปกติตามคำโฆษณา
[caption id="attachment_380235" align="aligncenter" width="500"]
[/caption]
ปัจจุบันยังมีการ
ลักลอบจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมพวงและชักจูงชาวนาให้หลงเชื่อ โดยมีการปลูกมากในจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งคาดว่ามีพื้นที่ปลูกประมาณ 9,300 ไร่ ใน 10 ตำบลของอำเภอชุมแสง หน่วยสารวัตรเกษตรของกรมการข้าวได้เข้าตรวจค้นร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชในอำเภอชุมแสง แต่ไม่พบการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม แต่มีท่าข้าวที่รับซื้อ จำนวน 2 แห่ง คือ ท่าข้าวนโม และท่าข้าวไพรทอง อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ จึงได้เข้าตรวจสอบพร้อมทั้งได้เข้าเก็บตัวอย่างข้าวหอมพวง ซึ่งทราบว่าให้ราคารับซื้อข้าวเปลือกเกี่ยวสดในราคาตันละ 8,000 – 9,000 บาท สูงกว่ากว่าข้าวขาวปกติทั่วไปที่มีราคาประมาณตันละ 7,500 – 7,800 บาท และมีการส่งต่อข้าวเปลือกไปยังผู้ประกอบการโรงสีในจังหวัดนครสวรรค์และใกล้เคียง ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี
ผลการตรวจสอบคุณภาพทางกายภาพเบื้องต้นของตัวอย่างข้าวที่สุ่มเก็บมา 2 ตัวอย่าง พบว่ามีเมล็ดข้าวพันธุ์อื่นปนจำนวนมากถึง 70 เมล็ดในตัวอย่าง 500 กรัม ขณะเดียวกัน พบข้าวแดงปนจำนวนมากถึง190 เมล็ดในตัวอย่าง 500 กรัม ซึ่งกล่าวได้ว่า ผลผลิตข้าวเปลือกดังกล่าว แท้จริงมีพันธุ์ปนสูงมาก บ่อยครั้งในอดีตที่เกษตรกรหลงเชื่อปลูกข้าวที่ไม่มีที่มาที่ชัดเจน ซื้อหรือใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผิดกฎหมายและไม่มีคุณภาพ มักจะประสบปัญหาถูกปฏิเสธรับซื้อหรือกดราคาให้ต่ำเมื่อมีผลผลิตมากและข้าวเปลือกที่ได้มีข้าวปนจำนวนมาก
ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรที่ประสงค์จะปลูกข้าวพื้นนุ่มได้หันมาปลูกข้าวที่ได้รับการรับรองพันธุ์จากกรมการข้าว ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพการสีเป็นข้าวสารคุณภาพดี เมล็ดข้าวสารเรียวยาว ตรงตามพันธุ์และความต้องการของตลาด เช่น
พันธุ์ กข21 ที่มีความต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล หรือ
พันธุ์ กข77 ที่มีคุณภาพเมล็ดดี ให้ผลผลิตสูง และขณะนี้กรมการข้าวได้เตรียมรับรองพันธุ์ข้าวพื้นนุ่มพันธุ์ใหม่เพิ่มเติม คือ
พันธุ์ กข79 ที่มีอายุสั้น ผลผลิตสูง ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ต้านทานโรคไหม้ และมีคุณภาพการสีเป็นข้าวสารคุณภาพดี
“เพื่อให้คุณภาพข้าวไทยเป็นที่ยอมรับ สามารถรักษาชื่อเสียงข้าวไทยให้เป็นที่นิยมได้เป็นอย่างดีและยั่งยืน กรมการข้าวขอขอบคุณชาวนา ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว โรงสี ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตข้าวไทยที่ได้ให้ความร่วมมือ ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ปลูกข้าวที่ไม่มีข้อมูลทางการเกษตรที่ชัดเจนหรือไม่ได้จดทะเบียนและรับพันธุ์ข้าว และไม่นำข้าวคุณภาพต่ำไปปลอมปนผสมในข้าวคุณภาพดีอย่างข้าวหอมมะลิ ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้ว ข้าวหอมพวงมีลักษณะเมล็ดเล็กและสั้นกว่าข้าวหอมมะลิอย่างเด่นชัด ผู้ประกอบการสามารถสังเกตเห็นความแตกต่างด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน” อธิบดีกรมการข้าวกล่าวทิ้งท้าย
อ่าน | แฉ! "หอมมะลิเวียดนาม" โผล่ปลูกนครสวรรค์ร่วมหมื่นไร่