การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว ของบัตรเครดิตเคทีซี ปัจจุบันจัดอยู่ในอันดับ 2 ของยอดการใช้จ่ายรวม แล้วการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นสะท้อนพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยอย่างไร และเป้าหมายการขับเคลื่อนยอดการใช้จ่ายด้านนี้ในปีนี้จะเป็นเช่นไร อ่านได้จากสัมภาษณ์ นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจบัตรเครดิต “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
พิทยา วรปัญญาสกุล
คนไทยเที่ยวถี่ขึ้น
เคทีซี มีลูกค้าบัตรเครดิต 2.3 ล้านใบ คิดเป็นจำนวนผู้ถือบัตรอยู่ที่ 1.9 ล้านคน (1 คนอาจมีบัตรเครดิตมากกว่า 1 ใบ) ซึ่งในปีที่ผ่านมา เคทีซีมียอดการใช้จ่ายโดยรวมอยู่ที่ 1.93 แสนล้านบาท เติบโตราว 9% ในจำนวนนี้เป็นยอดการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวและสันทนาการ 1.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 8% ซึ่งถือว่าอยู่ในอันดับ 2 ส่วนยอดการใช้สูงอันดับ 1 อยู่ที่การซื้อประกัน
การเติบโตของการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวผ่านบัตรเครดิตเคทีซี เราเริ่มเห็นพฤติกรรมการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไป วันนี้จะเห็นว่าค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวถูกลง เพราะคนใช้โลว์คอสต์ แอร์ไลน์ เป็นทางเลือกในการเดินทางที่มีราคาถูก และจะไม่นิยมจองล่วงหน้าเหมือนในอดีต ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดความถี่ในการเดินทางได้มากขึ้น นี่เองจึงทำให้ยอดการใช้จ่ายใน 5 หมวดด้านการท่องเที่ยว หลักๆ ยังคงเป็นสายการบิน, โรงแรม, ทราเวล เอเยนต์ ที่เหลือจะเป็นการจองด้านการขนส่งที่ไม่ใช่สายการบินอย่างรถเช่า และการจองตั๋วการแสดงต่างๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมาของเราเติบโตอยู่ที่ 8% แต่กลับพบว่าเรามียอดการทำรายการด้านการท่องเที่ยวมีการเติบโตสูงถึง 20% โดยมีมากถึง 4 ล้านรายการ ทั้งยังมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนี้ต่อไป เพราะวันนี้ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ คนอายุน้อย มองว่าการท่องเที่ยวเป็นความสำคัญของการใช้ชีวิต ไปเปิดโลกทัศน์เจอสิ่งใหม่ๆ
อีกความเปลี่ยนแปลงคือ ทุกวันนี้จะเห็นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซี ผ่านออนไลน์ ทราเวล เอเยนต์ เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่การไปซื้อทัวร์หน้าร้านอย่างในอดีต ดังนั้นจะเห็นเอเยนต์ ดั้งเดิม ปรับรูปแบบการทำธุรกิจ มาเน้นกลุ่มนิช มาร์เก็ต รวมถึงการทำแพ็กเกจ รวมกลุ่มกันขายแบบโฮลเซล
ตั้งเป้าใช้จ่ายท่องเที่ยวโต 10%
ทิศทางในปีนี้เราตั้งเป้ายอดการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวเติบโตราว 10% หรืออยู่ที่ราว 1.7-1.8 หมื่นล้านบาท กลยุทธ์สำคัญคือกระตุ้นให้สมาชิกบัตร เครคิตเคทีซี ใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น ผ่านการทำโปรโมชัน ซึ่งนอก จากการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีแล้ว เรายังได้ทำกับเครดิตแบบ Co-Brand ร่วมกับทางการบินไทยและบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งปัจจุบันมีบัตร Co-Brand อยู่ราวกว่า 1 แสนใบ ที่อาจจะยังน้อยอยู่ แต่ต่อไปถ้าเราเจาะลึกไลฟ์สไตล์คน นำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ สร้างความหลากหลาย ก็จะกระตุ้นการใช้จ่ายในด้านท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการนำเสนอบริการรองรับแนวโน้มการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป จะเห็นว่าคนเที่ยวแบบเฉพาะกลุ่มมากขึ้น เช่น เที่ยวเชิงเกษตร, วัฒนธรรม, ศิลปะ, สุขภาพ, อาหาร, วิ่งมาราธอน เราก็จะร่วมกับพันธมิตรและองค์กรต่างๆ ในการนำเสนอบริการเหล่านี้ รวมถึงการร่วมมือกับองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และบริษัทโลคอล อะไลค์ฯ ผลักดันการท่องเที่ยวชุมชน
ขยายเซอร์วิส เคทีซี เวิลด์
เคทีซียังร่วมมือกับพันธมิตร องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำเสนอบริการ ซึ่งก็มีลูกค้ากลุ่มที่มองเรื่องราคา การขายตั๋วที่ไม่บินตรง ก็จะรองรับได้ ขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่คำนึงเรื่องคุณภาพ ก็จะต้องบินตรง
เรามี KTC World ที่บริการในเรื่องเหล่านี้อยู่แล้วสำหรับลูกค้าเคทีซี ผ่านการจองแบบออนไลน์ โดยเฉพาะเรื่องของตั๋วเครื่องบิน และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวกที่ครบวงจร เช่น การจองรถเช่า จองทราเวลเอเยนต์ในต่างประเทศ คาดว่าน่าจะเริ่มเห็นบริการที่มากขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ KTC World ก็จะเป็นอีกหนึ่งบริการผ่านทางออนไลน์ที่ในปีที่ผ่านมามีการเติบโตอยู่ที่ 10% เพิ่มเติมจากช่องทางคอลล์เซ็นเตอร์ ที่ขายทุกอย่าง เช่น บัตรรถไฟ พ็อกเกตไว-ไฟ
“การมีบริการเหล่านี้ ทำให้เรามีการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว ทั้งในเรื่องการให้ข้อมูล มาตรฐานการให้บริการที่ลูกค้ามีความมั่นใจในการใช้จ่าย และทำให้เราแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดนั่นเอง”
สัมภาษณ์ โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร
หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3452 ระหว่างวันที่ 14 - 16 มีนาคม 2562