รายงาน : โดย ชลธิษ จันทร์สิงห์
ธุรกิจบริการรับส่งสินค้าแห่เปิดตัวลงสนาม เติบโตคู่กับอี-คอมเมิร์ซที่กำลังขยายตัวอย่างก้าวกระโดด มีผู้ให้บริการทั้งทุนยักษ์ระดับโลก ธุรกิจใหญ่เจ้าของเครือข่ายร้านสะดวกซื้อเมืองไทย ไล่ไปถึงรายเล็กรายน้อย โดยมี “เคอรี่” เป็นผู้นำ แย่งส่วนแบ่งจากไปรษณีย์ไทย และผู้ประกอบการรถขนส่งสินค้าดั้งเดิม ที่เรียกกันว่ากลุ่มรถสิบล้ออย่างหนัก จนเจ้าตลาดเดิมต้องงัดกลยุทธ์ต่างๆ ขึ้นสู้เพื่อความอยู่รอด
นายทนงศักดิ์ สายสอน หัวหน้าที่ทำการสำนักงานไปรษณีย์ จังหวัดอุบลราชธานี จากสภาพการแข่งขันอย่างรุนแรงของธุรกิจบริการขนส่งสินค้า ไปรษณีย์ปรับตัวมาเป็นลำดับ จากเดิมที่ให้บริการรับส่งจดหมาย และพัสดุภัณฑ์ต่างๆ ที่ต่อมาขยายไปถึงการรับฝากส่งสินค้าพัสดุขนาดใหญ่ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน รถจักรยาน จักรยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ โดยบริการส่งให้ถึงบ้านผู้รับ ที่ได้รับการตอบรับจากผู้ใช้บริการทั่วไทยด้วยดี
นอกจากนี้ยังเปิดบริการโครงการ “ไปรษณีย์ไทย ส่งเสริมเกษตรกรไทย” เพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ โดยรับจัดส่งผลไม้นานาชนิดตามฤดูกาลที่หมุน เวียนกันออกมา เป็นการสนับสนุนกิจการของเกษตรกรชาวสวนในพื้นที่ต่างๆ ให้สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น
นายทนงศักดิ์กล่าวต่อว่า เวลานี้ที่ได้รับผลกระทบคือในส่วนของการรับส่งสินค้าสิ่งของพัสดุภัณฑ์ต่างๆ เนื่องจากมีบริษัทเอกชนหลายแห่งเข้ามาเป็นคู่แข่งขันการบริการด้านนี้โดยตรง มีส่วนแบ่งทางการตลาดไปมากพอควร
ทางเราปรับตัวโดย 1.เปิดเคาน์เตอร์ที่ทำการสาขาย่อยตามแหล่งชุมชนจุดต่างๆ 4 มุมเมือง เพิ่มความสะดวกผู้ใช้บริการ ได้แก่ บริเวณบ้านห้วยวังนอง ตลาดดอนกลาง และจะเปิดเพิ่มที่ศาลากลางจังหวัด และย่านโรงแรมสุนีย์แกรนด์ ส่วนจุดอื่นๆ อยู่ระหว่างพิจารณา
2.จัดรถเคลื่อนที่เร็ว สัญจรไปให้บริการตามแหล่งชุมชนต่างๆ เช่น ช่วงเช้าที่บริเวณหน้าตลาดใหญ่ (ตลาดสดเทศบาล 3) และบริเวณหน้าโรงพยาบาลศูนย์มะเร็ง เป็นต้น
3.ขยายเวลาให้บริการของสำนักงานเกือบทุกแห่ง จากเดิมเปิดปิดตามเวลาราชการ (ปิด 16.30 น.) ก็ขยายเวลาออกไปถึง 20.00 น.ทุกวัน โดยไม่มีวันหยุด และ 4. เพิ่มอัตรากำลังจากที่มีทุกแผนก 143 คน กำลังรับเพิ่มอีก 23 คน เพื่อให้เพียงพอต่อความหนาแน่นของงาน รองรับการขยายตัวในอนาคตได้อย่างทันท่วงที
ด้านนายพีระพล บุญชินวงศ์ นายกสมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน และเจ้าของกิจการบริษัท อุบลแสงทองโลจิสติกส์ จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกกว่า 900 บริษัท กระจายอยู่ในทั้ง 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมมีรถบริการทุกขนาด 50,000-60,000 คัน ขนส่งในเส้นทางเข้าออกกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นหลัก
ระยะหลังผู้ประกอบการต่างประสบปัญหามีคู่แข่งขันเข้ามาช่วงชิงตลาด ก่อนหน้านี้ไปรษณีย์ไทยได้ขยายบริการจากเดิมที่รับแต่พัสดุขนาดเล็ก มาเป็นรับส่งพัสดุภัณฑ์ทุกขนาด ซึ่งสินค้าชิ้นใหญ่ทางผู้ประกอบการรถบรรทุกให้บริการอยู่ก่อน ล่าสุด 2-3 ปีมานี้มีบริษัทเอกชนนับ 10 ราย หลายรายเป็นกลุ่มทุนต่างชาติ เปิดตัวเข้ามาให้บริการขนส่งทั่วไทยด้วย ตอนนี้ยังรับเป็นพัสดุภัณฑ์บรรจุกล่องขนาดประมาณไม่เกิน 20 กิโลกรัมเป็นส่วนใหญ่ ในระดับราคาที่ใกล้เคียงกัน แต่มีความเร็วมากกว่า มีขบวนมอเตอร์ไซค์ส่งต่อให้ผู้รับถึงบ้าน เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดไปกว่า 50%
ผู้ประกอบการรถขนส่งต้องปรับตัวลดต้นทุนลงให้มากที่สุด จากเดิมที่วิ่งรถบรรทุกธรรมดา เปลี่ยนมาเป็นเพิ่มรถพ่วงหลังเกือบทุกเที่ยว ทำให้ขนสินค้าต่อเที่ยวได้เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และต้องบริหารการขนส่งอย่างเข้มข้นขึ้น โดยต้องให้มีสินค้าเต็มความจุรถในการขนส่งทั้งไปและกลับ ไม่ให้เหลือพื้นที่ว่างหรือวิ่งรถเปล่า
นายพีระพลกล่าวอีกว่า นอกจากนี้มีสินค้าที่ยังไม่มีใครเข้ามาแข่งคือ สินค้าขนาดใหญ่นํ้าหนักมาก เช่น วัสดุก่อสร้างต่างๆ หิน ปูน เหล็กเส้น กระเบื้อง ที่ต้องไปรับจากโรงงานผลิต หรือผลผลิตทางการเกษตรที่ต้องไปรับจากแหล่งปลูก ที่ยังต้องใช้บริการกลุ่มรถบรรทุกอยู่ แต่นายกสมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสานก็ทิ้งท้าย “แต่อนาคตวันหน้ายังไม่แน่”
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,488 วันที่ 18 - 20 กรกฎาคม 2562