“ศักดิ์สยาม" ฟันธงไม่ยกสนามบินกระบี่ให้ทอท. ส่วนอีก3สนามบินอุดรธานี-บุรีรัมย์-ตาก เปลี่ยนจากโอนเป็นให้ทย.ทำสัญญาจ้าง ทอท.บริหาร แบ่งรายได้และกำไรร่วมกัน
จากกรณีที่คณะกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือบอร์ดทอท. มีมติที่จะขอรับโอน ท่าอากาศยาน 4 แห่งของกรมท่าอากาศยาน (ทย.)โดยทอท.ขอเปลี่ยนจากท่าอากาศยานสกลนครและท่าอากาศยานชุมพร มาเป็นท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานกระบี่ ส่วนท่าอากาศยานอุดรธานี และท่าอากาศยานตาก ยังคงรับโอนตามเดิม เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้ทย.ไม่เห็นด้วยที่จะมีการโอนสนามบินกระบี่ให้ทอท.เนื่องจากสนามบินกระบี่ จัดว่าเป็นสนามบินหลักที่สร้างรายได้เลี้ยงสนามบินทั้ง 28 แห่ง
ทั้งนี้หลังการประชุมร่วมกัน โดยมี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเมื่อวันที่ 27สิงหาคม2562ได้ข้อสรุปว่า จะให้ทอท.เข้าร่วมบริหาร สนามบิน 3 แห่ง คือ อุดรธานี,บุรีรัมย์ ,ตาก ในรูปแบบ Management contract หรือ การบริหารตามสัญญา ส่วน สนามบินกระบี่ ทย.ยังคงบริหารจัดการเองเหมือนเดิม โดยทย.จะต้องทำแผนการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพให้สายการบินสามารถเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศโดยตรงได้ เพื่อลดความแออัดของสนามบินภูเก็ต
ส่วนการบริหารสัญญาสนามบิน 3 แห่ง ดังกล่าวจะเป็นลักษณะการจ้างทอท.บริหาร โดยไม่ต้องประมูล ซึ่ง ทย.ยังคงเป็นเจ้าของสนามบินและทรัพย์สิน โดยจะมีการตีมูลค่าทรัพย์สินในส่วนของ ทย. และเงินลงทุนในส่วนของทอท. ในการพัฒนาศักยภาพสนามบิน เพื่อแบ่งรายได้ตามสัดส่วนที่ลงทุน ซึ่งอาจจะกำหนดเป็นขั้นต่ำไว้ (Minimum) ทั้งนี้ผลกำไรที่เกิดขึ้นจะมีการนำส่งเข้ากองทุนเข้ากองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานเพื่อลดภาระงบประมาณ ซึ่งวิธีนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพสนามบินของทย.
สำหรับขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ นายศักดิ์สยามได้มอบให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธานในการประชุมรายละเอียด หลักการและรายละเอียด อีกครั้งในสัปดาห์หน้า เนื่องจากทอท.จะต้องนำเรื่องกลับไปเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) ขออนุมัติ อีกครั้ง เนื่องจากก่อนหน้านี้บอร์ดทอท.มีมติขอรับโอน 4 สนามบิน และเสนอกระทรวงคมนาคม
“เรื่องนี้ยุติด้วยดี ทั้งสองฝ่ายพอใจ โดย ทย.เสนอรูปแบบที่ไม่ต้องโอน คือการบริหารสัญญาร่วม หรือจ้างบริหาร ไม่ใช่ PPP ซึ่งทั้ง 3 สนามบินแม้ปริมาณผู้โดยสารจะยังไม่มาก แต่ทอท.มองว่า มีแนวทางที่สามารถพัฒนาได้และทอท.มีศักยภาพในการบริหารจัดการ การลงทุน ซึ่งวิธีนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพสนามบินของ ทย.ได้”
ส่วนสนามบินกระบี่นั้นมีปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารมาก ท่าอากาศยานกระบี่ ปัจจุบันมีพื้นที่ท่าอากาศยาน 2,620 ไร่ มีความยาวทางวิ่ง 45 x 3,000 เมตร ลานจอดเครื่องบินสามารถรองรับเครื่องบินโบอิ้งได้ 10 ลำ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,500 คน/ชั่วโมง หรือ 4.32 ล้านคน/ปี ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาท่าอากาศยานกระบี่ ภายใต้งบประมาณรวมกว่า 3,875 ล้านบาท
ประกอบด้วย 1. งานอาคารที่พักผู้โดยสาร หลังที่ 3 และปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสาร หลัง 1,2 พร้อมอาคารจอดรถยนต์ ออกแบบโดย บริษัท สำนักงานออกแบบระฟ้า จำกัด ก่อสร้างโดย บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) และมีบริษัท เซ้าท์อีสท์เอเชียเทคโนโลยี จำกัด เป็นที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างฯ
2. งานก่อสร้างลานจอดเครื่องบินพร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน ก่อสร้างโดย กิจการร่วมค้าทีพีพีซี โดยมีบริษัท วีเอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท กรุงเทพ เอ็นยิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างฯ โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 จะเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร โดยสามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 3,000 คน/ชั่วโมง หรือ 8 ล้านคน/ปี และสามารถรองรับเครื่องบินโบอิ้งได้ถึง 40 ลำอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามจากประเด็นดังกล่าวก่อนหน้านี้ ในมุมมองของสายการบินต่างชาติที่เปิดทำการบินเข้าไทย มองว่าอยากขอให้ทุกฝ่าย พิจารณาถึงผลดีและผลเสียในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ IATA(International Air Transport Association) ได้เคยให้ความเห็นไว้และขอให้ภาครัฐ ใช้ความระมัดระวังในเรื่องของ Airport Privatisation หรือการให้เอกชนเข้ามาดำเนินการสนามบิน ซึ่งทาง IATA เห็นว่า เป็นเรื่องที่ผิด หากคิดว่าจะสามารถตอบโจกท์ได้ทั้งหมด
ก่อนอื่นต้องถือว่า ทอท. คือภาคเอกชน เพราะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องมุ่งหวังผลกำไรและผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น ถึงแม้จะอ้างว่ากระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ตาม ในขณะที่ ทย. คือหน่วยงานราชการ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ทย.กำกับดูแลสนามบินอื่นๆ ในต่างจังหวัด ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เป็นการกระจายความเจริญ ความเท่าเทียมในการเดินทางโดยอากาศยานให้กับประชาชนและภาคธุรกิจในต้นทุนที่ต่ำกว่า ทอท.มาก ซึ่งมาตรฐานการบริการและความปลอดภัยของสนามบินในการกำกับดูแลของ ทย.นั้น ก็เป็นไปตามมาตราฐานด้านการบิน
สนามบินสุวรรณภูมิ ที่อยู่ในความดูแลของ ทอท.นั้น ท่านต้องถามผู้ใช้บริการ (Airport User) คือผู้โดยสารและสายการบินต่างๆ แล้วจะทราบว่า มีการบริการพื้นฐานหลายอย่าง ที่ก็อยู่ในระดับที่ได้ตามมาตราฐานขั้นต่ำของสนามบินสากล แต่ไม่ได้สูงถึงระดับ World Class Airport พึงมี เพราะยังมีความแออัด ไม่สะดวกสบาย
ที่สำคัญปัญหาหลักๆ ของสนามบินสุวรรณภูมิของ ทอท.นั้น ยังไม่ได้มีการแก้ไข ทั้งที่เป็นการบริการขั้นพื้นฐาน (Minimum Requirement) ในการให้บริการของสนามบิน เช่น การ Check-in, จุดตรวจเพื่อความปลอดภัย (Security) และจุดผ่านตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) นั้น แออัดและรอรับการบริการเป็นเวลานาน สายการบินเองก็มีปัญหาเรื่องสำนักงาน ไม่มีพื้นที่ให้เช่า คับแคบและอยู่กระจัดกระจาย ตามซอกตามมุมต่างๆ ของอาคารสนามบิน ในขณะที่พื้นที่เพื่อการพาณิชย์นั้น มีอยู่เต็มไปหมด แม้กระทั้งในอาคารที่จอดรถ มีทั้งร้านทำผม, ร้านอาหาร และร้านสะดวกซื้อ
Airport Charge หรือค่าบริการการใช้สนามบินของ ทอท. นั้นแพงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการบริการที่ได้รับ ทอท.มีผลประกอบการในแต่ละปี กำไรมากขึ้น มากขึ้นทุกปี เพราะเป็นธุรกิจผูกขาด สนามบินของ ทอท.ทั้งหมดล้วนเป็นสนามบินสากล หลักๆ ของประเทศ ในขณะที่สายการบินต่างๆ ต้องประสบภาวะขาดทุน การแข่งขันสูง ต้องปิดตัวลง ต้องปรับตัวหรือควบรวมเพื่อความอยู่รอด ตลอดเวลา
สายการบินจึงอยากขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการสนามบินซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศในทุกๆ ด้าน ซึ่งควรที่จะเป็นการบริการของภาครัฐ เพื่อเป็นการประกันการเข้าถึงสนามบินที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า ที่มีให้กับประชาชน, สายการบินและผู้ประกอบการอื่นๆ ในธุรกิจการบิน อย่างแท้จริง