กว่า 3 ทศวรรษที่บริษัท แปซิฟิค แปรรูปสัตว์น้ำ จำกัด ได้ก่อตั้งโรงงาน ณ ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เมื่อปี 2527 และได้สั่งสมประสบการณ์ ก้าวเป็นผู้นำกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปแช่แข็งแถวหน้าของเมืองไทย และได้ขยายกิจการต่อเนื่องในนามพี.เอฟ.พี.กรุ๊ป ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 4 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท แปซิฟิคแปรรูปสัตว์ จำกัด(บจก.) ซึ่งเป็นบริษัทแม่, บจก.อุตสาหกรรมปลาป่นแปซิฟิค, บจก.พี.เอฟ.พี.เทรดดิ้ง และบจก.ที.พี.แปซิฟิค มียอดขายรวมในปี 2558 ที่ผ่านมากว่า 4.5 พันล้านบาท
[caption id="attachment_42617" align="aligncenter" width="356"]
ทวี ปิยะพัฒนา
ประธานกรรมการบริหาร[/caption]
เพื่อให้เห็นภาพของพี.เอฟ.พี.กรุ๊ป ณ ปัจจุบัน มากขึ้น ระหว่างวันที่ 25-26 มีนาคมที่ผ่านมา "ทวี ปิยะพัฒนา" ประธานกรรมการบริหารกลุ่มได้เปิดให้สื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมไลน์การผลิตในกลุ่มปูอัดและเต้าหู้ปลา 2 ผลิตภัณฑ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุด ของโรงงานแปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ ณ สำนักงานใหญ่ จังหวัดสงขลา รวมถึงตอบข้อซักถามต่างๆ
[caption id="attachment_42615" align="aligncenter" width="500"]
โรงงานแปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ[/caption]
พัฒนาต่อเนื่องสู่ปัจจุบัน
"ทวี" เล่าว่า โรงงานแปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ ในช่วงเริ่มต้นเป็นการผลิตและจำหน่ายเนื้อปลาบดแช่แข็ง หรือซูริมิ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ปูอัด เต้าหู้ปลา ลูกชิ้นปลา และอื่นๆ ต่อมาบริษัทได้พัฒนาเป็นการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูปแช่แช็ง ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายกว่า 100 ชนิด รวมกว่า 950 รายการ ขณะที่ช่วงที่ผ่านมาปลาในประเทศขาดแคลน บริษัทได้หันไปนำเข้าเนื้อปลาบดจากต่างประเทศเข้ามาใช้ในการผลิต โดยสัดส่วน 60% นำเข้าจากเวียดนาม 10% จากสหรัฐอเมริกา และที่เหลือจากในประเทศ
สำหรับโรงงานของแปซิฟิค แบ่งออกเป็น 2 โรงงาน โรงงานที่ 1 ผลิตเต้าหู้ปลา, เต้าหู้แผ่น, ชิกูว่า และปลา/กุ้งทิพย์ และโรงงานที่ 2 ผลิตปูอัด IQF, ปูอัด Vacuum, Snow crab, เต้าหู้ปลา, ลูกชิ้น/ซาลาเปา, ทอดมัน/กลุ่มทอด, ก้ามปู/กุ้งเทียม และอื่นๆ รวมกำลังผลิตทั้ง 2 โรงงาน 2.5 พันตันต่อเดือน
"ตลอดระยะเวลา 30 ปี บริษัทยึดมั่นหลัก 3 ประการ คือ 1.คุณภาพ 2.การพัฒนาคน และ 3.การวิจัยและพัฒนา หรือการทำอาร์แอนด์ดีสินค้าใหม่ๆ มาอย่างต่อเนื่อง มีการนำเครื่องจักรที่ทันสมัยจากเยอรมัน อังกฤษ สเปน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้มาติดตั้งใช้งาน มีการลงทุนระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม การทำก๊าซชีวภาพเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และช่วยลดภาวะโลกร้อน สินค้าของเรา คือ ปูอัดและเต้าหู้ปลาได้คาร์บอนเครดิต เพราะเป็นโปรดักต์ที่ไม่ทำให้โลกร้อน" ทวีเผยถึงหลักของความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา
[caption id="attachment_42614" align="aligncenter" width="500"]
โรงงานแปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ[/caption]
มุ่งอาหารเพื่อสุขภาพ
นอกจากนี้อีกนโยบายสำคัญคือสินค้าของบริษัทเป็นอาหารเพื่อสุขภาพไม่ใส่ผงชูรส หรือวัตถุกันเสีย พนักงานและคนงานมี 1.736 พันคน เป็นต่างด้าว (จากกัมพูชาและลาว) 507 คน เป็นแรงงานถูกต้องตามกฎหมาย 100% มีการจ่ายค่าแรงตามกฎหมายไทย มีหอพักให้อยู่ฟรี และมีการจ่ายโบนัสเหมือนกับคนไทย ทุกเทศกาลต่างๆ บริษัทจะบริหารจัดการให้หมด ไม่มีการแบ่งชั้นว่าเป็นลาว กัมพูชา หรือไทยมุสลิม
[caption id="attachment_42616" align="aligncenter" width="500"]
โรงงานแปซิฟิคแปรรูปสัตว์น้ำ[/caption]
ไม่หวั่น IUU ทุกขั้นตอนถูกต้อง
ส่วนประเด็นร้อนกรณีสหภาพยุโรป (อียู) ให้ใบเหลืองไทยที่มีปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) "ทวี" ระบุว่า ไม่มีผลกระทบกับการส่งออกของบริษัทไปยังยุโรป (สัดส่วนส่งออกของบริษัท 12%) เพราะบริษัทได้ทำเรื่องนี้มาก่อนหน้านี้แล้วเกือบ 30 ปี โดยสามารถสำแดงเอกสาร และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน เช่น วัตถุดิบที่บริษัทใช้ผลิตมาจากเรือลำใด ถูกกฎหมายหรือไม่ จากปลาล็อตไหน ผลิตสินค้าเมื่อไร ทุกอย่างสำแดงได้หมด ดังนั้นในรูปบริษัทจึงไม่กังวลในเรื่องนี้ แต่ก็ยอมรับว่าหากไทยได้ใบแดงจะกระทบกับทุกบริษัทที่ส่งสินค้าไปยุโรป ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกัน
โชว์เครือข่ายใน-นอก21ปท.
ขณะที่ด้านการตลาด นายธวัชชัย รัตนะพิสิฐ กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทพี.เอฟ.พี. กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดของพี.เอฟ.พี.สัดส่วน 60% เป็นตลาดในประเทศ ซึ่งรวมถึงการค้าชายแดนกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านคือ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) และอีก 40% เป็นตลาดส่งออกทั้งในโซนเอเชีย ยุโรป และอเมริกา รวมถึงออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
ทั้งนี้ในส่วนของตลาดในประเทศจะเป็นระบบเอเยนต์ (ผ่านตัวแทนจำหน่าย/ผู้จัดจำหน่าย) และมียี่ปั๊วในส่วนของตลาดสด โดยปัจจุบันในส่วนของตลาดสดคิดเป็นสัดส่วนปริมาณ 85-90% ของยอดขาย และอีก 10-15% เป็นตลาดในกลุ่มโมเดิร์นเทรด โรงแรม และฟู้ดส์เชน (ร้านอาหารที่มีสาขา) ส่วนตลาดต่างประเทศจะมีเอเยนต์ในแต่ละประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า 60 รายใน 21 ประเทศ
เป้าปีลิงทะยาน 5 พันล้าน
สำหรับเป้าหมายของพี.เอฟ.พี.กรุ๊ปในปี 2559 ตั้งเป้าหมายรวมทั้งตลาดในและต่างประเทศจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 15% หรือจะมียอดขายกว่า 5 พันล้านบาท แผนการตลาดเพื่อนำสู่เป้าหมาย ในส่วนของตลาดในประเทศจะมุ่งเน้นการรักษาฐานลูกค้าเก่าที่มีอยู่ โดยเฉพาะตลาดตลาดสดจะขยายให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศให้มากขึ้น ส่วนในโมเดิร์นเทรด จากที่ห้างฯต่างๆ มีแผนขยายสาขาในทุกแบรนด์ ทางกลุ่มก็จะอาศัยช่องทางนี้ขยายการขายและเติบโตไปด้วยกัน นอกจากนี้ จะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายในส่วนของคอนวีเนียนสโตร์ (ร้านสะดวกซื้อ) ที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนในเมืองที่กำลังอินเทรนด์
"ตลาดในประเทศล่าสุดเรายังมีแคมเปญ "PEP 30 ปี ลุ้นทวีโชค"โดยให้ลูกค้าส่งชิ้นส่วนมุมซองของผลิตภัณฑ์ PFP มาร่วมชิงโชค รวมถึงใช้งบทำกิจกรรมส่งเสริมการขายตลอดทั้งปีนี้ประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่ายอดขายของบริษัทในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ขยายตัวเพียง 3% ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากภัยแล้ง และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ดังนั้นจึงต้องจัดกิจกรรมกระตุ้น"
มุ่ง3ตลาดใหญ่ช่วยดันยอด
ขณะที่ในส่วนของตลาดต่างประเทศ จะมุ่งเน้นไปที่ตลาดจีน ซึ่งแม้เวลานี้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัว แต่บริษัทเล็งเห็นโอกาสจากจีนที่มีประชากรมาก และกำลังซื้อสูง และสินค้าของบริษัทก็สอดคล้องกับความต้องการของชาวจีน ดังนั้นจึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก อีกส่วนหนึ่งจากสินค้าของบริษัทได้รับเครื่องหมาย HAL-Q และเป็นสินค้าฮาลาลยังสามารถส่งออกไปในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ที่มีประชากรเป็นชาวมุสลิมได้อย่างไม่มีปัญหา และยังมีแผนร่วมกับพันธมิตรในมาเลเซียที่เป็นประเทศมุสลิม ในการส่งออกสินค้าจากมาเลเซียไปยังตะวันออกกลางเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคมากขึ้นด้วย รวมถึงตลาด CLMV ที่บริษัทได้ทำตลาดมานานเป็น 10 ปีแล้ว แต่จากที่ประเทศเหล่านี้ได้พัฒนา และมีกำลังซื้อมากขึ้น และจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าระหว่างกันก็เปิดมากขึ้น จะเป็นโอกาสในการสร้างยอดขายให้บริษัทในตลาด CLMV ในปีนี้ได้เพิ่มขึ้น
CSR หนุนโตอย่างยั่งยืน
ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร หรือ CSR น.ส.ปิยกาญจน์ ปิยะพัฒนา กรรมการบริหารกลุ่มบริษัท พี.เอฟ.พี.กล่าวโดยสรุปว่า การจัดการสิ่งแวดล้อมในองค์กรได้ลงทุนบำบัดน้ำทิ้งโดยใช้พื้นที่ถึง 40 ไร่ และนำก๊าซชีวภาพที่ได้จากระบบหมักแบบปิดมาผลิตกระแสไฟฟ้าประหยัดค่าไฟได้ราว 2 ล้านบาท/ปี การนำตะกอนจากระบบบึงประดิษฐ์มาทำปุ๋ยหมักจำหน่ายให้กับพนักงานและประชาชนในราคาถูก และน้ำที่ผ่านการบำบัดได้นำมาเลี้ยงปลา และรดต้นไม้ เป็นต้น
ส่วนกิจกรรมเพื่อสังคมในชุมชน เช่น มีโครงการวิทยาลัยในโรงงาน โดยร่วมกับวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ เปิดสอนหลักสูตรแปรรูปสัตว์น้ำในระดับ ปวช. และปวส.โดยให้เรียนฟรีและมีงานทำ การมอบทุนการศึกษาให้เด็กในชุมชนรอบๆ บริษัท และมีกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชน
ทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พี.เอฟ.พี.กรุ๊ปประสบความสำเร็จและจะเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,145 วันที่ 3 - 6 เมษายน พ.ศ. 2559