'ไมเนอร์ ' จ่อระดมทุนเพิ่ม 2.5หมื่นล.รับมือโควิด

19 พ.ค. 2563 | 00:56 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2563 | 09:39 น.

MINT ปรับโครงสร้างเงินทุน "ไมเนอร์" เตรียมระดมทุนเพิ่ม 2.5 หมื่นล้านบาท ทั้งออกหุ้นกู้ 1หมื่นล้าน เพิ่มทุน 1.03 พันล้านหุ้น เพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงิน รับมือโควิด หลังกระทบหนักกว่าที่คาด

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบการดำเนินของ MINT มากกว่าที่คาดไว้ โดยปิดงบไตรมาสแรกปี2563 ที่บริษัทประสบปัญหาการขาดทุนสุทธิจำนวน 1,774 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2563 เทียบกับผลกำไรจำนวน 583 ล้านบาทใน ไตรมาส 1 ปี 2562

\'ไมเนอร์ \' จ่อระดมทุนเพิ่ม 2.5หมื่นล.รับมือโควิด

   ล่าสุด MINT ประกาศแผนการสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างเงินทุน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ “MINT” ประกาศกลยุทธ์ในการจัดหาเงินทุนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างเงินทุนและฐานะทางการเงิน
    ด้วยผลกระทบจากการระบาดของโรค โควิด-19 ทั่วโลก MINT ได้เข้าดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทมีความสามารถในการปฏิบัติตามภาระผูกพันและรักษาความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงิน

   โดยนอกเหนือจากความมุ่งมั่นของบริษัทในการรักษาสถานะเงินสด และการบริหารจัดการสภาพคล่องและหนี้สินแล้ว คณะกรรมการของ MINT ได้อนุมัติแผนการจัดหาเงินทุนจำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท
    ผ่านเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ซึ่งรวมถึง การออกหุ้นกู้ที่มีลักษณะคล้ายทุน การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนโดยการจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน (Rights Offering) และการออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญซึ่งมีอายุ3ปี
    ทั้งนี้การเพิ่มทุนของบริษัทจะต้องได้รับการอนุมัติจากการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีที่จะจัดขึ้นในวันที่ 19 มิถุนายน 2563

การ ระดมทุน 2.5หมื่นล้านบาทของ ไมเนอร์ หรือ MINT จะดำเนินการผ่าน3ช่องทาง ได้แก่
   1.โครงการเพิ่มทุนดังกล่าวจะแล้วเสร็จในช่วงระหว่างปี 2563-2566 โดยการ ออกหุ้นกู้ ที่มีลักษณะคล้ายทุนในประเทศ/ต่างประเทศจำนวนเทียบเท่า 10,000 ล้านบาทคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2563
   2. การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มทุนจำนวนประมาณ 10,000 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2563
   โดย MINT เพิ่งแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถึงแผนการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทจํานวน 1,037,955,941 บาท จาก 4,849,860,006 บาท เป็น 5,887,815,947 บาท
    โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จํานวนไม่เกิน 1,037,955,941 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) สัดส่วน 6.45 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่
    3.การออกใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญเพื่อจัดหาเงินทุนเพิ่มเติมอีกประมาณ 5 พันล้านบาท จะเกิดขึ้นภายหลังจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนเสร็จสิ้น ซึ่งมีระยะเวลาสามปีนับจากวันที่ออกใบสำคัญแสดงสิทธิ
   ราคาการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิจะถูกกำหนดไว้ที่ราคาไม่สูงกว่าร้อยละ 10 ของราคาตลาดในช่วงต้นไตรมาสที่ 3 ปี 2563 โดยราคาดังกล่าวไม่ได้บ่งบอกถึงราคาหุ้นในอนาคต แต่จะเป็นผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของ MINT
   ทั้งนี้ อัตราส่วนและราคาการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน รวมถึงอัตราส่วนการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิและราคาใช้สิทธิจะถูกกำหนดก่อนการออกตราสารทั้งสองดังกล่าว โดยรายละเอียดในการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนและการออกใบสำคัญแสดงสิทธิจะแสดงไว้ในการเปิดเผยสารสนเทศของบริษัทต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  ในไตรมาส 1 ปี 2563 MINT รายงานผลขาดทุนสุทธิจำนวน 1,774 ล้านบาท จากผลกระทบของการระบาดของโรค COVID-19 ต่อทั้ง 3 ธุรกิจของบริษัททั่วโลก และผลกระทบเชิงลบจากการบังคับใช้มาตรฐานการบัญชี TFRS 16 ในเรื่องสัญญาเช่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : "MINT" อ่วมโควิด Q1 ขาดทุน 1.7พันล้าน


   โดยในไตรมาส 2 ปี 2563 ผลการดำเนินงานของ MINT จะได้รับผลกระทบที่เพิ่มมากขึ้นจากการปิดโรงแรมและร้านอาหารสำหรับการให้บริการนั่งทานในร้านชั่วคราว ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563

\'ไมเนอร์ \' จ่อระดมทุนเพิ่ม 2.5หมื่นล.รับมือโควิด
    ดังนั้น MINT จึงให้ความสำคัญในการรักษากระแสเงินสดและสภาพคล่องเป็นลำดับแรก โดยบริษัทจะยังคงรักษาเงินสดในมือและวงเงินสินเชื่อเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคต
    ในขณะเดียวกัน MINT มีการลดกระแสเงินสดจ่ายในทั้ง 3 หน่วยธุรกิจและในทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการการประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งประกอบด้วยในส่วนของเงินเดือน ค่าเช่า และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่นๆ
    นอกจากนี้ ได้มีการระงับการจ่ายเงินปันผลและการลงทุนในสินทรัพย์บางส่วนเท่าที่จะสามารถทำได้
    ทั้งนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังคงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา MINT ได้มีการเตรียมการทดสอบภาวะวิกฤตและมีความมั่นใจว่าแผนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างเงินทุนในครั้งนี้จะช่วยให้บริษัทสามารถก้าวข้ามผ่านสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

\'ไมเนอร์ \' จ่อระดมทุนเพิ่ม 2.5หมื่นล.รับมือโควิด
     ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ใดต่อไปในอนาคต เมืองต่างๆ ทั่วโลก ตั้งแต่กรุงมาดริดถึงกรุงเทพฯ จะเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการการปิดประเทศ โดย MINT มีความพร้อมสำหรับการกลับมาดำเนินธุรกิจตามวิถีชีวิตแบบใหม่ (“New Normal”)
   ทั้งนี้ ในระยะยาว MINT ได้ใช้โอกาสในการปรับโครงสร้างค่าใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ในขณะที่เสริมความแข็งแกร่งของความสามารถทางด้านดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทภายหลังจากการระบาดของโรค COVID-19

\'ไมเนอร์ \' จ่อระดมทุนเพิ่ม 2.5หมื่นล.รับมือโควิด
   นายดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มของ MINT กล่าวว่า ผมมีความมั่นใจเป็นอย่างมากว่าแผนการจัดหาเงินทุนที่ครอบคุมในครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัท
    บริษัทมั่นใจว่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากผู้ถือหุ้นใหญ่ในการจัดหาเงินทุนในครั้งนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มีต่ออนาคตของ MINT
     โดยฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งจะเป็นปัจจัยพื้นฐานของ MINT ในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีคุณภาพที่สั่งสมมาตั้งแต่ในอดีต เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว
     อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นจะกลับลงมาอยู่ที่ 1.3 เท่า ภายในสิ้นปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าเงื่อนไขการกู้ยืมที่อยู่ที่ 1.75 เท่า ทั้งนี้ ในนามของทีมผู้บริหารของ MINT เรามีความตื่นเต้นที่จะเริ่มต้นบนเส้นทางของการฟื้นตัวและเริ่มสร้างการเติบโตให้กับบริษัทอีกครั้ง

\'ไมเนอร์ \' จ่อระดมทุนเพิ่ม 2.5หมื่นล.รับมือโควิด

   อนึ่งบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT เป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจระดับสากล โดยประกอบ 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร และธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์
    MINT ดำเนินธุรกิจโรงแรมทั้งในรูปแบบเป็นเจ้าของเอง บริหารจัดการ และร่วมลงทุน โดยมีโรงแรมและเซอร์วิส สวีท ทั้งสิ้น 530 แห่ง ภายใต้แบรนด์ อนันตรา, อวานี, โอ๊คส์, ทิโวลี, เอ็นเอช คอลเลคชั่น, เอ็นเอช โฮเทลส์, นาว, เอเลวาน่า, แมริออท, โฟร์ซีซั่นส์, เซ็นต์ รีจิส, เรดิสัน บลู
    โรงแรมในกลุ่มไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ใน 55 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง แอฟริกา คาบสมุทรอินเดีย ยุโรป อเมริกาใต้ และอเมริกาเหนือ
    นอกจากนี้ MINT เป็นผู้นำในธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย โดยมีร้านอาหารกว่า 2,300 สาขา ใน 26 ประเทศ ภายใต้แบรนด์ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, ริเวอร์ไซด์, เบนิฮานา, ไทย เอ็กซ์เพรส, บอนชอน, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เลอร์, แดรี่ ควีน และเบอร์เกอร์ คิง
     อีกทั้งยังเป็นผู้นำด้านการจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์และรับจ้างผลิต ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ภายใตแบรนด์ อเนลโล่, โบเดิ้ม, บอสสินี่, บรูคส์ บราเธอร์ส, ชาร์ล แอนด์ คีธ, เอสปรี, เอแตม, โจเซฟ โจเซฟ, โอวีเอส, แรทลีย์, สโกมาดิ, สวิลลิ่ง เจ. เอ.เฮ็งเคิลส์ และไมเนอร์ สมาร์ท คิดส์