การแพร่ระบาดของไวรัส “โควิด-19” (Covid-19) ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ “เอสเอ็มอี” (SMEs) อย่างรุนแรงทางตรงและทางอ้อม กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ “ธพว.” (SME D Bank) ได้มอบหมายให้ ธพว. เร่งช่วยเหลือฟื้นฟูธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มเติม โดยการเพิ่มสินเชื่อกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วย SMEs ได้ประมาณ 24,000 กิจการ ส่งผลดีต่อไปยังระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้สู่ท้องถิ่น ช่วยรักษาการจ้างงานประมาณ 120,000 ราย สร้างมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจประมาณ 9 หมื่นล้านบาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สินเชื่อของ ธพว. จะประกอบด้วย สินเชื่อวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสภาพคล่อง สำรองเป็นค่าใช้จ่าย ได้แก่ สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash สำหรับผู้ประกอบการนิติบุคคลธุรกิจการท่องเที่ยว ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรก 3% ต่อปี และไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3%ต่อปี 3 ปีแรก และสินเชื่อ soft loan ธปท. อัตราดอกเบี้ย 2%ต่อปี อีกทั้งยังมีสินเชื่อวัตถุประสงค์เพื่อลงทุน ขยาย ปรับปรุงกิจการ ได้แก่ สินเชื่อเสริมสภาพคล่อง SME D Happy อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.375% ต่อปี และสินเชื่อ SMART SMEs อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 5% ต่อปี แถมยังรับรีไฟแนนซ์ (Refinance)
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ ธพว. เติมทุนจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้แก่ลูกค้าในโครงการสินเชื่อประชารัฐ แบ่งเป็น "โครงการสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ" (สินเชื่อประชารัฐ) และ “โครงการฟื้นฟูและเสริมศักยภาพวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสำหรับ SMEsคนตัวเล็ก” (สินเชื่อ SMEs คนตัวเล็ก) คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี และร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินการสินเชื่อ “SMEs One” คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 12 เดือน
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ ธพว. กล่าวว่า ธนาคารจะกระจายการสนับสนุนเอสเอ็มอีทั่วประเทศครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ ด้วยการใช้ออฟไลน์ควบคู่ออนไลน์ จับมือกับหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อผลักดันเอสเอ็มอีทั่วประเทศให้เข้าถึงความช่วยเหลือทางการเงินของ ธพว. มากที่สุด
ที่ผ่านมา ธพว. ดำเนินมาตรการเยียวยาช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภายใต้ชื่อมาตรการ "ลด-พัก-ขยาย-ผ่อน-เพิ่ม" โดย ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 มีเอสเอ็มอีไทยเข้าสู่มาตรการแล้ว 9,458 ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 1.49 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มได้รับผลกระทบทางตรง 4,892 ราย คิดเป็นมูลค่า 7.08 พันล้านบาท และกลุ่มได้รับผลกระทบทางอ้อม 4,566 ราย คิดเป็นมูลค่า 7.84 พันล้านบาท
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 15 พฤษภาคม 63 ธพว. ได้เติมทุนช่วยเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไปแล้ว จำนวน 3,329 ราย วงเงินรวม 6.23 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดี ธพว. ยังช่วยเหลือลูกค้าลดภาระค่าใช้จ่าย ตามนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยชะลอการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติ สูงสุด 6 เดือน ให้ลูกค้าทุกรายที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยมีลูกค้า ธพว. ได้รับการชะลอการชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติจำนวน 43,215 ราย คิดเป็นมูลค่ารวม 6.64 หมื่นล้านบาท ซึ่งแม้มาตรการนี้จะส่งผลให้ ธพว. สูญเสียรายได้เดือนละกว่า 2.1 พันล้านบาท เป็นเวลา 6 เดือน แต่ธนาคารก็ยินดี เพราะได้มีส่วนช่วยเหลือลูกค้าและส่งเงินกลับคืนเข้าหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 1.26 หมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกัน ธพว. ดำเนินมาตรการพักชำระหนี้เงินต้น สูงสุด 12 เดือน ให้แก่ผู้ประกอบการกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กลุ่มเป้าหมายประมาณ 10,000 ราย ภาระหนี้รวม 1.18 หมื่นล้านบาท นับตั้งแต่เปิดรับคำขอเข้าร่วมโครงการ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา นับถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา มีลูกค้ากองทุนประชารัฐเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 2,961 ราย วงเงินประมาณ 5.51 พันล้านบาท
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า แนวทางการช่วยเหลือฟื้นฟูเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 นอกจากด้านการเงินแล้ว ธนาคารยังมุ่งเติมความรู้ควบคู่ไปด้วยเสมอ เพื่อจะเสริมภูมิคุ้มกันธุรกิจ ช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถปรับตัวก้าวฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปได้ รวมถึง ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจแข็งแกร่งกว่าเดิมที่เคยเป็นมา ช่วยให้ในอนาคตธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ "วัคซีนเติมความรู้" อบรมออนไลน์ ด้วยหลักสูตรเรียนรู้ด้วยตัวเองที่เว็บไซต์ wdev.smebank.co.th ซึ่งแบ่งเป็น 4 ห้องเรียน กว่า 40 หลักสูตร ได้แก่ 1.ห้องเรียนการตลาด เช่น การโปรโมทสินค้าโซเชียลมีเดีย การทำตลาด E-Commerce เป็นต้น
2.ห้องเรียนด้านบริหารจัดการ เช่น การเขียนแผนธุรกิจ การลงทุนแฟรนไชส์ 3.ห้องเรียนด้านบัญชีและการเงิน เช่น การทำงบการเงิน การทำบัญชีอย่างง่าย และ 4.ห้องเรียนด้านการผลิต/กระบวนการ/มาตรฐาน เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ มาตรฐานการผลิตสินค้าอาหาร เป็นต้น ( ณ 23 พ.ค. 2563 ผู้เข้าใช้บริการ 3,086 ราย)
"วัคซีนเพิ่มรายได้" ช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีขายสินค้าในตลาดนัดออนไลน์ สร้างโอกาสจับคู่ธุรกิจ ด้วยเฟซบุ๊กกรุ๊ป "ฝากร้านฟรี SME D Bank" ในแฟนเพจ powersmethai (ณ 23 พ.ค. 2563 ผู้เข้าใช้บริการ 6,605 ราย) และ "วัคซีนขยายตลาด” ดันสินค้าขยายตลาดผ่านแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ชื่อดัง เช่น Shopee, LAZADA, Thailandpostmart.com, Alibaba, LINE, JD Central เป็นต้น (ณ 23 พ.ค. 2563 ผู้เข้าใช้บริการ 3,153 ราย)
โครงการ One Hero One Community สร้างผู้ประกอบการ hero ใน 77จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนโดยจ้างนักศึกษาจบใหม่หรือแรงงานที่กลับบ้านเกิดให้มีงานทำโดยอบรมให้เป็นผู้ประสานกับวิสาหกิจชุมชนในการยกระดับสินค้าและบริการเป้าหมาย 1,000 สินค้า 1,000 ชุมชนทั่วประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 15-20%
นอกจากนั้น ธพว.ยังดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือดูแลสังคมไทย ด้วยการเปิด “ตู้ปันสุข ธพว.” ตั้งตู้รับบริจาคข้าวสาร อาหารแห้ง และของที่ใช้ในชีวิตประจำวัน จำนวน 2 ตู้ ด้านหน้าอาคาร SME Bank Tower สำนักงานใหญ่ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน อีกทั้ง ส่งมอบอุปกรณ์ เช่น น้ำดื่ม หน้ากากผ้า Face shield และเจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น ให้แก่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้เป็นเสบียง รวมถึงใช้ป้องกันและลดความเสี่ยงให้กับเจ้าหน้าที่ กทม. ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครจากมูลนิธิต่างๆ