การส่งออกไทยรายได้หลักของประเทศยังซมพิษโควิด-19 ช่วง 4 เดือนแรกปี 2563 มูลค่าการส่งออกรูปดอลลาร์สหรัฐฯยังขยายตัวเพียง 1.19% (กราฟิกประกอบ) ซึ่งสถานการณ์โควิดแม้เวลานี้จะเริ่มคลี่คลายในฝั่งเอเชีย
เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แต่ฝั่งยุโรป อเมริกา และอเมริกาใต้ การแพร่ระบาดยังขยายวงกระทบต่อธุรกรรมนำเข้า-ส่งออกระหว่างประเทศที่ยังสะดุด อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบคำสั่งซื้อสินค้าไทยเพื่อส่งมอบช่วงครึ่งหลังของปีนี้พบมีได้และมีเสีย
นายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซี แวลู จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกทูน่ากระป๋องและผลิตภัณฑ์ทูน่ารายใหญ่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากอานิสงส์โควิด-19 มีล็อกดาวน์และ Work From Home ในหลายประเทศ ส่งผลมีคำสั่งซื้อทูน่ากระป๋องจากต่างประเทศเข้ามายังบริษัทอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึง ณ ปัจจุบัน เวลานี้บริษัทได้เดินเครื่องผลิตเต็มเพดานที่ 800 ตันวัตถุดิบต่อวัน
“เดิมมองว่าออเดอร์ที่เข้า มาจำนวนมากในไตรมาสที่ 2 และสถานการณ์โควิดที่คลี่คลายในหลายประเทศจะทำให้ออเดอร์ไตรมาส 3 อาจชะลอตัวลง แต่เวลานี้มองว่าถ้าชีวิตผู้คนทั่วโลกยังไม่กลับมาเป็นปกติ ภาคท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ความต้องการอาหารกระป๋องเพื่อตุนไว้ทานที่บ้านในช่วงครึ่งปีหลังก็ยังมีต่อเนื่อง อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยเสี่ยงค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ประกอบกับราคาวัตถุดิบปลาทูน่าลดลงมีผลต่อราคาสินค้าที่ลดลง ทำให้เรายังคงเป้าหมายยอดขายทั้งปีไว้ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท”
นายหลักชัย กิตติพล นายกกิตติมศักดิ์สมาคมยางพาราไทย กล่าวว่า การส่งออกยางพาราไทยเริ่มกลับมาเป็นปกติ โดยตลาดหลักคือจีนเริ่มมีการนำเข้ายางแท่งเพื่อใช้ผลิตยางรถยนต์ และน้ำยางข้นเพื่อใช้ในการผลิตถุงมือยางที่เป็นสินค้าจำเป็นในป้องกันเชื้อโรคมากขึ้น (ไทยส่งออกถุงมือยาง 4 เดือนแรก 13,894 ล้านบาท ขยายตัว 14%) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมาเพื่อเร่งสร้างงานให้ชาวจีนมีงานทำ และเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่งผลราคาน้ำยางสดในไทยปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาน้ำยางสด ณ วันที่ 5 มิถุนายน 2563 อยู่ที่ 43-44 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) (เทียบกับเดือนธ.ค. 2562 ก่อนโควิดแพร่ระบาดเฉลี่ยอยู่ที่ 40 บาทต่อกก.)
“คาดการณ์ส่งออกยางพาราไทยปีนี้ ด้านปริมาณจะส่งออกได้ประมาณ 3.8 ล้านตันจากปีที่แล้วส่งออกได้ 4 ล้านตันเศษ และมูลค่าส่งออกจะติดลบประมาณ 15% (จากปี 2562 ส่งออก 1.28 แสนล้าน) จากผลกระทบโควิดทำให้การส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกสะดุดไป รวมถึงตลาดอื่น ๆ เช่น ยุโรป อเมริกาปรับตัวลดลง”
ขณะที่ในสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งถูกมองเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นช่วงวิกฤติโควิด นายสมชาย พรจินดารักษ์ ประธานสมาพันธ์อัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (รวมทองคำที่ซื้อมาขายไปเพื่อเก็งกำไร)ช่วง 4 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่า 252,721 ล้านบาท ขยายตัว 111% แต่หากหักทองคำการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจากโรงงานผลิตยังติดลบ(-27%) คาดทั้งปีนี้จะติดลบ 20-30% จากเวลานี้คำสั่งซื้อไม่มีเข้ามา ผู้ประกอบการในภาพรวมเริ่มขาดสภาพคล่อง ล่าสุดนางสาวพรทิวา นิพาริน นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับได้ประสานกับ 6 ธนาคารเพื่อปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% ให้กับสมาชิกเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนและประคองธุรกิจ
นายสุกิจ คงปิยาจารย์ กรรมการผู้จัดการ ฮงเส็งกรุ๊ป ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่ให้กับแบรนด์เนมดัง มีโรงงานในไทย เวียดนาม และกัมพูชา กล่าวว่า คำสั่งซื้อจากต่างประเทยังไม่ดีขึ้น แม้เวลานี้ในหลายประเทศจะอนุญาตให้จัดการแข่งขันกีฬาได้แล้ว แต่เป็นเพียงการถ่ายทอดสด ไม่มีผู้ชมหรือกองเชียร์ในสนาม ทำให้ความต้องการชุดสำหรับนักกีฬาและกองเชียร์ยังไม่ดีขึ้น อย่างไรก็ดีบริษัทมีออเดอร์เก่าส่งมอบถึงเดือนพฤษภาคม แต่หลังจากนี้ไม่มีออเดอร์ใหม่ ทำให้ทางกลุ่มต้องประคองธุรกิจโดยลดเวลาการทำงานลงทุกโรงเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์เพื่อรอสถานการณ์กลับมากระเตื้องดีขึ้น คาดปีนี้รายได้ของบริษัทอาจติดลบถึง 20%
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,581 วันที่ 7 - 10 มิถุนายน พ.ศ. 2563