อุ้ม5แสนราย เอสเอ็มอีชายขอบ ลุ้นลุงตู่ ทุ่ม5หมื่นล้านดอกเบี้ย1%10 ปี

10 ก.ค. 2563 | 01:30 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2563 | 08:38 น.

สสว.ชงรัฐบาลลุงตู่ขอใช้งบเงินกู้ 5 หมื่นล้าน ช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อยชายขอบ เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ให้ครม.เศรษฐกิจเคาะ 10 ก.ค.นี้ ตั้งเป้า 5 แสนราย ปล่อยกู้ดะรายละ 1 แสนบาท จนถึง 1 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 1% ผ่อนนาน 10 ปี เงื่อนไขต้องเข้าอบรม พัฒนาทักษะ ธุรกิจห้องแถว บุคคลธรรมดา แผงลอย ได้หมด

การประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หลังต่อไป(เลื่อนจากวันที่ 10 กรกฎาคม 2563) มีวาระสำคัญที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะหยิบยกขึ้นมาพิจารณา จะเป็นมาตรการช่วยเหลือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนเพื่อมาฟื้นฟูกิจการ ที่คาดว่าจะนำเงินที่เหลือราว 2 แสนล้านบาท จากแผนงานเพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ภายใต้กรอบการกู้เงิน 5.5 แสนล้านบาท มาดำเนินงานช่วยเหลือเอสเอ็มอีราว 1 แสนล้านบาท

ก่อนหน้านี้ ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือสสว.ได้เสนอการช่วยเหลือผ่านโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ไปจำนวน 2 โครงการวงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท แต่ได้มีการถอนโครงการออกมาภายหลัง ได้แก่ โครงการพลิกฟื้นธุรกิจ SME ที่เป็น NPL ให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีสถานะเป็น NPL ให้สามารถฟื้นธุรกิจได้ โดยให้กู้ยืมเงินไปปรับปรุงกิจการ และการให้ความรู้พัฒนาทักษะหรือสนับสนุนโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการให้เข้มแข็งมากขึ้น มีเป้าหมาย 1.1 แสนราย สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง และโคงการฟื้นฟูศักยภาพการดำเนินธุรกิจสำหรับเอสเอ็มอี ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอีก 5 หมื่นล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"นายกฯ" ยกเลิกประชุมครม.เศรษฐกิจ พรุ่งนี้ หลัง 4 กุมารลาออกพปชร.

ครม.เคาะใช้ "พรก.เงินกู้" ล็อตแรก1.5หมื่นล้าน 4กระทรวง5โปรเจ็กต์

เปิดบิ๊กโปรเจ็กต์ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

 

ชงครม.เห็นชอบ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุมครม.เศรษฐกิจ จะมีการพิจารณาการใช้เงินกู้ ที่เหลือจากงบช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบ จากไวรัสโควิด-19 ราว 2 แสนล้านบาท มาใช้ช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนก้อนแรก 5 หมื่นล้านบาท และอีกราว 5 หมื่นล้านบาทจะตามมาภายหลัง

“การใช้เงินก้อนนี้ช่วยเหลือเอสเอ็มอี เนื่องจากกรอบวงเงินที่สสว.เสนอมา ไม่เข้าข่ายการใช้เงินจากโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาท แต่การช่วยเหลือ
เอสเอ็มอีมีความจำเป็น เพราะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่การพิจารณาโครงการก็ต้องขึ้นกับคณะกรรมการกลั่นกรองของสำนักงานสภาพัฒนากรเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เห็นชอบด้วย”

นายวีระพงษ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางถึงขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า มาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้กรอบวงเงิน 5 หมื่นล้านบาทนั้น สสว. ได้นำเสนอโครงการผ่านสำนักงานสภาพัฒนากรเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อขออนุมัติใช้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาท ซึ่งมีการประชุมเพื่อพิจารณากลั่นกรองข้อเสนอโครงการจากคณะทำงาน สศช. ในวันที่ 8 กรกฎาคม 2563

ทั้งนี้ กระบวนการพิจารณาจากคณะทำงานฯนั้น จะเป็นไปอย่างเข้มข้น ซึ่งจะต้องรอดูว่าคณะทำงานฯจะมีการท้วงติง หรือให้นำกลับมาดำเนินการแก้ไขเงื่อนไขอย่างไรหรือไม่ ก่อนที่จะถูกนำเสนอไปสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจในวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 พิจารณาอีกครั้ง

ช่วย 5 แสนราย

สำหรับมาตรการที่จะช่วยเหลือมีเป้าหมายที่จะช่วยเอสเอ็มอีประมาณ 5 แสนราย ประกอบด้วย โครงการ “เติมพลังฟื้นชีวิต” วงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท เป็นเงินอุดหนุนให้กับบุคคลธรรมดา นิติบุคคลที่จดทะเบียนพาณิชย์ หรือยังไม่จดทะเบียนพาณิชย์ก็ได้ ที่สำคัญจะต้องมีสถานประกอบการที่เป็นหลักแหล่ง สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีการดำเนินธุรกิจมาแล้วในระยะเวลาหนึ่ง โดยจะมีทีมงานเข้าไปพิสูจน์ธุรกิจของเอสเอ็มอี (KYC) ซึ่งจะมาจากธนาคารของรัฐบาล เช่น ธนาคารออมสิน, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ “ธพว.” (SME D Bank) เป็นต้น โดยจะพิจารณาวงเงินตามขนาดของธุรกิจ

“วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย จะสามารถกดปุ่มได้ทันทีเมื่อทีมงานพิสูจน์ได้ว่ามีสถานประกอบการที่เป็นหลักแหล่งอย่างแท้จริง การช่วยเหลือในลักษณะดังกล่าวนี้ถือว่าดำเนินการได้ทันท่วงทีอย่างแท้จริง”

ปล่อยกู้ดอกเบี้ย1%

นองจากนี้ ยังมีโครงการเพิ่มทุนให้กับธุรกิจที่มีโอกาส และมีศักยภาพ โดยสสว.จะเข้าไปร่วมทุนในกิจการของเอสเอ็มอี และโครงการวงเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย โดยวงเงิน 1 แสนบาทต่อราย และ 1 ล้านบาทต่อราย จะเป็นการปล่อยกู้แบบผ่อนปรน
ที่มีกฎระเบียบ มีกติกาที่แตกต่างจากธนาคารปกติ มีดอกเบี้ยเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 1% ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระประมาณ 10 ปี

 

ต้องเข้าอบรมทักษะ

นายวีระพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ประอบการที่จะเข้าร่วมโครงการ จะต้องร่วมเข้าอบรมหรือพัฒนาทักษะตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ได้รับเงินกู้ไป ซึ่งจะทำให้ได้เอสเอ็มอีมีคุณภาพ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อรับเงินสินเชื่อเท่านั้น แต่จะต้องมีการพัฒนาทักษะในการพัฒนาธุรกิจด้วย เป็นข้อกำหนดเบื้อต้น และจะต้องรายงานตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโครงการ

อีกทั้งเอสเอ็มอีจะต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างใดอย่างหนึ่งของภาครัฐหรือเอกชน เพื่อให้มีฐานข้อมูลที่ชัดเจน เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ  (กอช.) สมาชิกสมาพันธ์เอสเอ็มอี
หรือสมาคมวิชาชีพต่างๆ หรือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น ภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งไม่รวมการเป็นสมาชิกของสสว.ที่เอสเอ็มอีจะต้องเป็นตั้งแต่วันแรกที่เข้าสู่ระบบ

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,590 วันที่ 9 - 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563