นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า กพท.จะออกประกาศสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่องแนวปฎิบัติของสายการบินระหว่างประเทศ โดยรายละเอียดของเนื้อหาประกาศฉบับใหม่ จะเพิ่มข้อกำหนดกรณีที่สายการบินของประเทศไทย และสายการบินที่ทำการบินผ่านประเทศไทยลงจอดเติมน้ำมันและแวะพัก
แม้ผู้โดยสารจะไม่ได้ออกมานอกเครื่อง แต่สายการบินจะต้องกำหนดให้ผู้โดยสารทุกคนที่โดยสารมาในเครื่องบินลำดังกล่าวจะต้องมีใบรับรองผลการตรวจว่าเป็นผู้ไม่ติดเชื้อโควิด-19 ( COVID-19 ) ก่อนที่จะซื้อตั๋วโดยสารมากับเครื่องได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทย ไลอ้อน แอร์ ยันไม่มีผู้โดยสารออกจากเครื่องบินในเที่ยวบินที่ถูกจีนแบน
จีนห้าม "ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ - ไทยไลอ้อนแอร์" บิน หลังพบขนคนติดโควิดเข้าประเทศ
การออกประกาศดังกล่าวเพื่อเป็นการป้องกันสายการบินที่มีสัญชาติไทย และทำการบินแบบเช่าเหมาลำ ทำการบินจากประเทศที่ 1 ไปยังประเทศจุดหมายปลาย หรืออาจจะแวะมาจอดเติมน้ำมันที่ประเทศไทย ไปยังจุดหมายปลายทาง และเมื่อถึงจุดหมายปลายทางแล้ว ทางปลายทางกลับตรวจพบว่ามีผู้โดยสารในลำนั้นๆ มีเชื้อไวรัสโควิด -19 ( COVID-19 )สายการบินดังกล่าวจะถูกขึ้นบัญชีดำทันที
กรณีนี้มีตัวอย่างมาแล้วจากการที่กรมการบินพลเรือนของประเทศจีน หรือ CAAC ได้ระงับการทำการบินของสายการบิน ไทยแอร์เอเซียเอ็กซ์ เส้นทางบินจากมาเลเซีย-มะนิลา-ไทย-เทียนจิน และสายการบิน ไทยไลอ้อนแอร์ เส้นทางจาการ์ตา-ดอนเมือง-กวางโจว รับผู้โดยสารคนจีนจากประเทศอินโดนีเซียไปกวางโจว
โดยทั้ง 2 สายการบินทำการบินแบบเช่าเหมาลำ ซึ่งจากกรณีที่ปลายทางเป็นประเทศจีน มีการตรวจคัดกรองผู้โดยสารก่อนลงเครื่องและพบผู้โดยสารมีเชื้อไวรัสโควิด -19 ( COVID-19 )นั้น ระเบียบข้อบังคับของจีนได้กำหนดว่า หากเครื่องบิน 1 ลำมีการตรวจพบผู้โดยสารติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ต่ำกว่า 10 คน สายการบินนั้นจะถูกระงับการบินเข้าประเทศทันที 1 สัปดาห์ แต่หากในเครื่อง 1 ลำ ตรวจพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 10 คน จะถูกระงับทำการบินเข้าประเทศทันที 4 สัปดาห์
ทั้งนี้ การที่สายการบินใดๆ ที่ทำการบินระหว่างประเทศในขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นสายการบินที่ถูกว่าจ้างให้ไปรับคนกลับไปยังประเทศตัวเองแบบเช่าเหมาลำ และเครื่องบินดังกล่าวจะต้องมีสิทธิในการทำเส้นทางบินนั้นๆ อยู่ก่อนแล้ว จึงจะสามารถทำการบินได้