จากการจัดทำร่างแผนฟื้นฟูการบินไทยที่ใกล้งวดขึ้น เพราะต้องจัดทำร่างแผนฟื้นฟู เพื่อใช้ประกอบการไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลายกลาง ซึ่งต้องแล้วเสร็จก่อนวันที่ 17 ส.ค.2563 และปมความขัดแย้งต่างๆที่เกิดขึ้นระหว่างการประชุมจัดทำแผนดังกล่าว ทำให้คณะทำแผนฟื้นฟูการบินไทย จึงได้แตกออกเป็น 2 ขั้ว
จ่อถอดชื่อ “ปิยสวัสดิ์”
ขณะนี้มีการส่งสัญญาณถึงนายกรัฐมนตรี ที่จะขอให้ปลด นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ ออกจากทีมทำแผน และจะแต่งตั้ง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และกรรมการบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ PTTGC มานั่งทำงานแทน เพื่อผลักดันให้การจัดทำแผนมีความราบรื่นและรวดเร็วกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อเดินไปสู่โหมดการฟื้นฟูกิจการได้อย่างแท้จริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หลังจากการบินไทยได้บริษัท แมคคินซี่ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการบิน ซึ่งมีประสบการณ์ในการฟื้นฟู อเมริกัน แอร์ไลน์ เข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านการวางแผนธุรกิจในอนาคต ภายใต้แผนฟื้นฟู
ทั้งนี้ที่ผ่านมานายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ก็ถูกร้องขอให้เข้ามาช่วยทำแผนให้การบินไทย นอกรอบอยู่แล้ว เพื่อให้คณะผู้ทำแผนดำเนินการจัดทำร่างแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ศาลนัดไต่สวน จากปัญหาที่ก่อนหน้านี้บอร์ดการบินไทย ได้จ้าง บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด วงเงิน 20 ล้านบาท เข้ามาเป็นผู้ทำแผน แต่ไม่สามารถจัดทำแผนฟื้นฟูได้ครบถ้วน เพราะอีวายประเทศไทย มีเพียงใบอนุญาตเป็นผู้ทำแผน มีประสบการณ์ทำแผนฟื้นฟูในไทย แต่ไม่มีประสบการณ์ในการทำแผนฟื้นฟูสายการบินมาก่อน
ดึง “สุพัฒนพงษ์”เสียบแทน
จุดแตกหักที่นำไปสู่การเสนอให้เปลี่ยน นาย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เข้ามาทำแผนแทนการบินไทย เป็นเพราะที่ผ่านมา หลังจากการแต่งตั้งบอร์ดเข้ามาทำแผนฟื้นฟูครบทั้ง 6 คน ได้แก่ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน,พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค,บุญทักษ์ หวังเจริญ,ปิยสวัสดิ์ อัมระนันท์ และ จักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ก็เกิดปมเรื่องการบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ที่มีการจ้างก่อนที่บอร์ดทั้ง 6 คน จะเข้ามาทำงานครบทีม จนต้องแก้ปัญหาด้วยการนำไปสู่ความจำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษาเพิ่ม
โดยในการจ้างที่ปรึกษาเพิ่ม ก็มีความเห็นต่างระหว่างนายปิยสวัสดิ์ และนายพีระพันธ์ โดยนายปิยสวัสดิ์ สนับสนุนว่าการนำเสนอ ของ Seabury ดีกว่า แมคคินซีย์ ที่เสนอมาแบบพื้นๆ แต่ฝั่งทางนายพีระพันธุ์ เห็นต่าง เพราะโดยมองว่าแมคคินซีย์ ลงรายละเอียดชัดเจน และมีข้อมูลแน่นกว่า แถมยังคิดค่าที่ปรึกษาแค่17.5 ล้านบาท ขณะที่ Seabury เสนอราคามา 80 ล้านบาท พวกค่าบริการเพิ่มอีก 5 % ในช่วงทำแผน 7 ปี ท้ายสุดบอร์ดจึงประสานเสียงเลือกแมคคินซีย์
อย่างไรก็ตามในอดีต เป็นที่รับทราบกันดีว่า Seabury เคยเป็นที่ปรึกษาการบินไทย มาก่อนอยู่แล้ว แต่คำปรึกษาก็ไม่ได้ช่วยให้การบินไทยดีขึ้นและทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งตอนหลังทาง Seabury ก็ไปรวมตัวกับ Accenture ซึ่ง Accenture ก็เคยเข้ามารับงานของการบินไทย โดยดูการจัดซื้อเนื้อหาระบบสาระบันเทิง บนเครื่องบิน ซึ่งปรากฏว่าเอาเปรียบการบินไทยมาก จนต้องเจรจาหลักการคิดค่าบริการกันใหม่
นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งเรื่องการพิจารณาโยกย้ายตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยในตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(EVP) ได้แก่ นายณัฐพงศ์ สมิตอำไพพิศาล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี ,นางสุวิมล บัวเลิศ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายทรัพยากรบุคคล และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายบริหารงานกฎหมาย และบริหารทั่วไป ซึ่งฝั่งทางนายพีระพันธุ์ มองว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน เพราะมีการทำงานที่ผิดพลาด มีพฤติกรรมโยนความผิดให้บอร์ด และจนถึงวันนี้บอร์ดยังไม่รู้ตัวเลขทางบัญชีที่แท้จริง และการไปเจรจากับเจ้าหนี้หุ้นกู้ที่ก็ยังไม่ไปดำเนินการ
เล็งสอบสัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน
อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ก้าวข้ามปัญหาให้ได้ เพราะที่ผ่านมาก็มีการสร้างขั้วอำนาจในองค์กร การจัดซื้อจัดจ้างก็แพง โดยเฉพาะเรื่องของการจัดซื้อเครื่องบิน ที่เป็นจุดรั่วไหลมากที่สุดแผนเช่าซื้อเครื่องบิน และซ่อมเครื่องบิน ก็ชุดเดียวกัน ซื้อเครื่องยนต์ มาก็เสีย บินไม่ได้
สัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน ที่ปัจจุบันติดสัญญาเช่าทางการเงิน 31 ลำ และเช่าดำเนินงาน 39 ลำรวมทั้งหมด 70 ลำ วงเงิน1.45 แสนล้านบาท ก็ใช้วิธีทั้งผ่านผู้ให้เช่า( Lessor) ผ่านผู้ให้ยืม (Lender) ก็เป็นสิ่งที่ทางทีมฟื้นฟู ก็มองที่จะเข้าไปตรวจสอบ และส่วนหนึ่งในการจัดซื้อเครื่องบิน ก็มีเกิดขึ้นในยุคนายปิยสวัสดิ์ เป็นดีดีการบินไทย ร่วม 50 กว่าลำด้วย
เนื่องจากทำไมการบินไทยไม่ไปกู้เงินจากสถาบันผู้ให้ยืมโดยตรง ทำไมต้องทำผ่านบริษัทผู้ให้เช่า หรือแม้แต่ผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle หรือ SPV)ที่ผู้ให้เช่าตั้งขึ้นมา ซึ่งสรุปแล้วการทำแบบนี้การบินไทยต้องเสียดอกเบี้ยจริงๆให้แก่ผู้ให้เช่าเครื่องบินจริงๆกี่เปอร์เซ็นต์
อีกทั้งล่าสุดในการเปิดใจกับพนักงานของรักษาการดีดีการบินไทย นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ได้ย้ำว่าขอให้ทิ้งความผิดพลาดในอดีตที่ผ่านมา และเดินไปข้างหน้ามุ่งสู่การเป็นองค์กรที่เป็น “THE BEST” คือเป็นองค์กรที่ต้องรักษาคนดีคนเก่งไว้ได้ ขณะเดียวกันก็ดึงดูดคนดีและคนเก่งเข้ามาเพิ่ม มีแผนกลยุทธ์และแผนงาน รวมทั้งดำเนินงานตามแผนให้บรรลุผลสำเร็จ โดยจ้างที่ปรึกษาให้น้อยที่สุด เพราะไม่มีใครรู้เรื่องการบินดีกว่าเรา
“ความซื่อสัตย์ สุจริต (Integrity) เป็นสิ่งสำคัญขององค์กรที่เป็น THE BEST หากพบว่ามีการทุจริต ขอให้แจ้งเบาะแส และได้มอบหมายให้รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธฯ(DY) พิจารณานำสินทรัพย์ต่างๆมาใช้ประโยชน์และก่อให้เกิดรายได้” และย้ำว่า มี 3 ทางรอด ที่ในวันนี้พนักงานทุกระดับต้องช่วยกันเพื่อให้บริษัทฯผ่านวิกฤตครั้งนี้ ด้วยการ 1.การเสนอแนวทางลดค่าใช้จ่าย/การลงทุนที่ไม่จำเป็น 2.การหารายได้และกำไรจากความรู้ ความสามารถและทรัพยากร จากจุดแข็งที่มีอยู่ โดยร่วมมือกับมืออาชีพ 3.การทำทุกอย่างเพื่อให้องค์กรอยู่รอดได้ เช่น การร่วมกันสร้างรายได้ที่นอกเหนือจากการบิน (Non-flight Income)
ด้านนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวถึงกรณีกรรมการทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ มีความเห็น ไม่ตรงกัน และอาจมีการเปลี่ยนแปลงกรรมการทำแผนฟื้นฟูฯ นั้น ขอชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง
การที่คณะกรรมการบริษัทฯ ฝ่ายบริหาร และพนักงาน มีความเห็นที่แตกต่างกันบ้างถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะแต่ละคนมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ และต่างมีความรู้ความสามารถ ก็อาจมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ แต่ไม่แตกแยก และทุกคนล้วนรัก มีความปรารถนาดีต่อการบินไทยทั้งสิ้น ซึ่งกรรมการบริษัทฯ ผู้บริหาร และพนักงาน มีความรักสามัคคี ร่วมมือประสานการทำงานกันเป็นอย่างดี รวมทั้งรับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของการบินไทยประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
ทั้งนี้ขอยืนยันว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3593 วันที่ 22-25 กรกฎาคม 2563