4 กลุ่มต่างชาติจ่อเข้าไทย รับคลายล็อกเฟส 6 ดันต่อ ‘Travel Bubble’

29 ก.ค. 2563 | 02:30 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ค. 2563 | 11:01 น.

4กลุ่มต่างชาติพร้อมเข้าไทย รับคลายล็อกเฟส 6  เผยผู้จัดงานแสดงสินค้าร่วมหมื่นคน ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ 7 ขอถ่ายทำในไทย ผูกกลุ่มรักษาสุขภาพพ่วง 8 แพ็คเกจทัวร์ ทั้งนำร่อง 200 สมาชิกอีลิทการ์ด ดันเปิด Travel Bubble กระตุ้น“เราเที่ยวด้วยกัน"เฟส2 เที่ยว 55 เมืองรอง รัฐสนุนค่าห้องพักค่าอาหารเพิ่มเป็น 60%

4กลุ่มต่างชาติพร้อมเข้าไทย รับรัฐคลายล็อกเฟส 6  หนุนดึงกลุ่มกำลังซื้อสูงใช้จ่ายในไทย เผยผู้จัดงานแสดงสินค้า จ่อเข้าไทยร่วมหมื่นคน ขณะที่ทีมถ่ายทำจากจีน-เกาหลีใต้-อังกฤษ-สหรัฐ ยื่นถ่ายทำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ 7 เรื่อง  รวมถึงผูกกลุ่มรักษาสุขภาพในไทยพ่วง 8 แพ็คเกจทัวร์ ทั้งนำร่อง 200 สมาชิกอีลิทการ์ดเข้าไทย แลกการใช้จ่ายขั้นต่ำ 1 แสนบาท พร้อมจ่อดันเปิด Travel Bubble ต่อเนื่อง รวมถึงเตรียมกระตุ้น “เราเที่ยวด้วยกัน"เฟส2  ดึงให้เที่ยว 55 เมืองรอง โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าห้องพักและค่าอาหารเพิ่มจาก 40% เป็น 60%

การคลายล็อก ระยะที่ 6 ของรัฐบาล ที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติ จาก 4 กลุ่ม เดินทางเข้าไทยได้  นับว่าเป็นสัญญาณที่ดี  เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวของไทย ซึ่งพึ่งพิงรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 2 ใน 3  เริ่ม พอจะเริ่มขยับได้บ้าง และสเต็ปต่อไปคือการผลักดันเรื่องการจับคู่การเดินทางกับประเทศที่ มีการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี หรือ Travel Bubble  ที่น่าจะเดินต่อไปได้ อ่านได้จาก นายพิพัฒน์ รัฐกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 

ล่าสุดใน การคลายล็อก เฟส 6 ของรัฐ ที่เปิดให้ชาวต่างชาติ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มที่เข้ามาจัดแสดงสินค้าในไทย 2.เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ 3.การเดินทางมาด้านเมดิคัลและเวลเนส และ 4.สมาชิกไทยแลนด์ อีลิท การ์ด สามารถเดินทางเข้าไทยได้  ถือว่าเป็นสเต็ปแรก ในการเริ่มเปิดให้ต่างชาติเริ่มเดินทางเข้าไทย ซึ่งเป็นการเปิดแบบมีเงื่อนไข โดยให้ความสำคัญในเรื่องของการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  เป็นเรื่องหลัก ควบคู่กับการมองเรื่องของมิติทางเศรษฐกิจ  เพราะถ้าไม่เปิดบ้างเลย รัฐบาลจะหาเงินที่ไหนมาจุนเจือคนตกงานมากมาย และถ้าสุดท้ายธุรกิจตกต่ำลึกถึงขีดสุดก็คงจะกลับมาไม่ได้ 

พิพัฒน์ รัฐกิจประการ

ทางออกที่ดีที่สุดก็ต้องมองทางสายกลาง ที่จะพยุงไม่ให้สถานการณ์ย่ำแย่ถึงขีดสุด เพราะการกระตุ้นไทยเที่ยวไทย ก็ถือว่าช่วยได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะการเดินทางในช่วง 200-300 กิโลเมตรที่คนในประเทศขับรถไปเที่ยว แต่ในเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต สมุย กลุ่มลูกค้าหลักคือต่างชาติ คนไทยไปเที่ยวบ้างแต่ก็ไม่มาก  การเปิดให้ต่างชาติบางกลุ่มเริ่มเข้าไทยได้ ก็จะเข้ามาช่วยประคองให้ธุรกิจยังพอไปต่อได้บ้าง 

ทั้งนี้ใน 4 กลุ่มที่อนุญาตให้ต่างชาติเข้าไทยได้ เราจะนำร่องจากความต้องการที่มีการเสนอตัวเข้ามาอยู่แล้ว โดย “กลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาจัดงานแสดงสินค้าในไทย” (Exhibition MICE)  ทางสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)หรือทีเส็บ แจ้งว่ามีกลุ่มนักธุรกิจต่างชาติมีความต้องการจะเข้ามาจัดแสดงสินค้าตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนถึงสิ้นปีนี้ร่วมหมื่นคน บางเดือนสูงสุดร่วม 4 พันกว่าคน  อาทิ ในเดือนกันยายน 2563 มีราว 680 คน พฤศจิกายน 4 งาน ราว 4,000 คน และธันวาคมอีกราว 1,000 คน 

โดยกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาจัดแสดงสินค้าในไทย แม้จะไม่ต้องถูกกักตัว 14 วัน เหมือนอีก 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่เข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ ,กลุ่มเดินทางมาด้านเมดิคัลและเวลเนส และสมาชิกไทยแลนด์ อีลิท การ์ด แต่กลุ่มที่เข้ามาจัดแสดงสินค้า จะต้องปฏิบัติตามแนวทางที่วางไว้ ตั้งแต่ก่อนการเดินทางเข้าประเทศ จะต้องมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่เกิน 3 วัน ก่อนเดินทาง ทำประกันโควิด ตามข้อกำหนดของรัฐบาล 1 แสนดอลล่าร์สหรัฐ มีหนังสือยืนยันการปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐบาลไทยและที่ผู้จัดงานกำหนด มีตั๋วเครื่องบินทั้งขามาและขากลับ

เมื่อมาถึงไทย ก็ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่สนามบิน และในระหว่างการอยู่ในไทยช่วงการจัดงาน การเช็คอินผ่านแอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ” เมื่อผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง ก็จะเข้าสู่กระบวนการดูแลของบริษัทรับจัดการเดินทางที่ตกลงไว้ โดยต้องอยู่ในโรงแรม Alternative State Quarantine ตามที่ผู้จัดงานกำหนดให้เท่านั้น โดยการรับรองของศบค. และจะมีเจ้าหน้าที่กำกับดูแลเจ้าหน้าที่ 1 คน/ต่างชาติ 10 คน เดินทางสู่หรือพัก หรือสถานที่จัดงานเท่านั้น โดยระหว่างอยู่ในไทยจะเดินทางไปไหนจะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสาธารณสุขและสามารถติดตามตัวได้ตลอดเวลา

อีกทั้งยังมีแนวทางปฏิบัติระหว่างจัดแสดงสินค้า ก็จะต้องทำตามเงื่อนไข  เพื่อควบคุมพื้นที่คูหาและการเจรจาธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น จัดให้มีฉากกั้นบนโต๊ะเจรจาภายในคูหา,จัดให้มีฉากระหว่างโต๊ะเจรจาในพื้นที่เจรจา,จัดให้มีการทำออนไลน์การเจรจาธุรกิจร่วมไปกับส่วนกายภาพเป็น Hybrid Discussion และจัดให้มีพื้นที่การเจรจาสำหรับชาวต่างชาติ(ผู้แสดงงาน)ออกจากพิ้นที่เจรจาของชาวไทย(ผู้แสดงงาน)

สำหรับ “กลุ่มคณะถ่ายทำภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศทุกประเภทที่เดินทางเข้ามาถ่ายทำในไทย” นั้น มีแจ้งเรื่องที่จะขอเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ในไทยแล้ว 7 เรื่องจากต่างประเทศ ในช่วงเดือนก.ย.ปีนี้ถึงเม.ย.ปีหน้า ได้แก่ A Summer Odyssey จากจีน, Dream จากเกาหลีใต้ , Wu Assassins-Reckoning จากสหรัฐอเมริกา,The Great Beer Run Ever จากสหรัฐอเมริกา, Inversion จากอังกฤษ ,47 Ronin 2 จากสหรัฐอเมริกา และ Mrs.CHURCHILLS WAR จากอังกฤษ  ซึ่งจะมีต่างชาติรวม 154 คน ทีมงานไทย 1,100 คน ใช้งบประมาณราว 1,696 ล้านบาท 

โดยก่อนเดินทางเข้าไทยต้องมีใบรับรองแพทย์และเอกสารตามที่ศคบ.กำหนด มาถึงเมืองไทยต้องกักตัว 14 วัน และทีมงานทุกคนทั้งไทยและต่างชาติ ต้องมีประกันคุ้มครองค่ารักษาโรคโควิด-19 ต้องแจ้งการใช้พื้นที่ถ่ายทำให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ทราบล่วงหน้า เพื่อสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ และจะมีเจ้าหน้าที่ติดตามตลอดระยะเวลาที่อยู่ในไทย

ส่วน “กลุ่มที่เดินทางมารักษาสุขภาพในไทย” จะอนุญาตให้ชาวต่างชาติในรูปแบบแพ็คเกจ ทัวร์ ที่เชื่อมโยงกับ Medical and Wellness โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ได้ เสนอให้นำร่องใน 8 แพ็คเกจทัวร์ ก่อน เพื่อแจ้งผ่านสำนักงานททท.ในต่างประเทศและเอเย่นต์ของต่างประเทศ ได้แก่ 1.แพ็คเกจลักชัวรี จ.เชียงใหม่ (7วัน 6 คืน) 2. จ.ภูเก็ต (6 วัน 5 คืน) 3. จ.ภูเก็ต (8 วัน7คืน) 4.ล่องเรือยอร์ช จ.กระบี่ (5วัน 4 คืน) 5.เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี (7วัน 6 คืน) 6.เกาะสมุย (5วัน 4คืน) 7.พัทยา (6วัน5คืน)และ8.พัทยา (11 วัน 10 คืน)  ซึ่งคนที่เดินทางมาด้านเมคิคัลและเวลเนสในไทย หลังการกักตัว 14 วันและรักษาสุขภาพตามโปรแกรมเสร็จ ก็จะเดินทางท่องเที่ยวไทยต่อในโปรแกรมนำร่องดังกล่าวต่อไป

ในส่วนของ “สมาชิกไทยแลนด์อีลิทการ์ด” จะนำร่องให้เดินทางเข้ามาในไทยอยู่ที่ 200 รายก่อน จากจำนวนสมาชิกในปัจจุบัน 10,363 ราย ซึ่งอยู่ในไทย 3,108 รายและอยู่นอกราชอาณาจัก 7,255 ราย ซึ่งสมาชิกที่เดินทางเข้าไทยต้องกักตัว  14 วันอยู่ในโรงแรม Alternative State Quarantine โดยมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 1 แสนบาท ต้องตรวจเชื้อโควิด-19จากต้นทางภายใน 72 ชั่วโมง ต้องมีประกันสุขภาพ วงเงินคุ้มครองมากกว่า 1 แสนดอลล่าร์สหรัฐ

ทั้งนี้การอนุญาตต่างชาติเข้าไทยใน 4 กลุ่มดังกล่าว จัดว่าเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายในไทยสูง ซึ่งเราก็ได้ผ่อนคลาย เพื่ออย่างน้อยก็ให้เกิดการเคลื่อนไหวในการเดินทางเข้าไทย อีกทั้งนายกรัฐมนตรียังได้สั่งให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงท่องเที่ยวฯไปดูในเรื่องของเที่ยวบินเช่าเหมาลำ เพื่อรองรับการเดินทางของต่างชาติใน 4 กลุ่มดังกล่าว รวมถึงการเปิดการท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble ( จับคู่ประเทศที่มีการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี)

นายพิพัฒน์ ยังกล่าวต่อว่า สเต็ปต่อไป ก็จะ ผลักดันเรื่องการเปิด Travel Bubble ต่อไป โดยจะ นำร่องใน 3 จังหวัด รวม 6 เกาะ ได้แก่ 1.จ.ภูเก็ต ทั้งเกาะ 2. จ.กระบี่ เฉพาะพื้นที่เกาะพีพี 3.จ.สุราษฏร์ธานี เฉพาะเกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และเกาะนางยวน  ซึ่งนักท่องเที่ยวเข้ามาจะต้องทำการบินเข้าไปยังจังหวัดนั้นๆโดยตรง ที่เบื้องต้นจะทำการบินโดยเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ต้องประสานกับสถานทูตไทยในต่างประเทศเพื่อขอวีซ่า เพราะไทยไม่มีการทำVISA ON ARRIVAL แล้ว

อีกทั้งก่อนบินเข้ามาต้องมีการตรวจเชื้อว่าไม่เป็นโควิด -19 เมื่อเข้ามาถึงก็มีการตรวจซ้ำ  และต้องกักตัวอยู่ในพื้นที่นำร่องดังกล่าว 14 วัน ห้ามข้ามจังหวัด หรือข้ามพื้นที่ที่กำหนดไว้  เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ติดเชื้อ จึงสามารถเดินทางข้ามไปเที่ยวยังจังหวัดอื่นๆของไทยได้ และในแต่ละพื้นที่จะรับนักท่องเที่ยวได้เท่าไร ก็ต้องขึ้นอยู่กับบุคคลากรทางการแพทย์ในแต่ละพื้นที่ด้วย อย่างภูเก็ต รับได้ 1 พันคนต่อวัน เป็นต้น ส่วนประเทศคู่เจรจาที่จะเปิด Travel Bubble ที่วางไว้เดิมก็จะต้องมีการปรับใหม่ เพราะบางประเทศอย่างออสเตรเลีย ตอนนี้ก็มีโควิดกลับมาระบาดใหม่ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามกระทรวงการท่องเที่ยวฯก็ตั้งความหวังว่าถ้าผลักดันให้เกิดการนำร่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวในลักษณะนี้ให้เกิดขึ้นได้ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้(ก.ย.-ธ.ค.นี้)อย่างน้อยก็น่าจะดึง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ททท.พลิกวิกฤติโควิด รีแบรนด์ภาพลักษณ์ใหม่ท่องเที่ยว
จับตา 4 เทรนด์ใหม่ ‘ท่องเที่ยวไทย’  หวังรายได้ 1.2 ล้านล้าน 
โควิด ฉุดธุรกิจ "การบิน-ท่องเที่ยว" ถอยหลังเริ่มนับหนึ่งใหม่​​​​​​​
6 บิ๊กโรงแรมไทยเดินหน้าลงทุน  รอรับธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นหลังโควิด​​​​​​​

 

 

นักท่องเที่ยวกลุ่มไฮเอนท์มาเที่ยวใน 3 จ.ภาคใต้นี้ได้ราว 2 แสนคน รวมกับการกระตุ้นไทยเที่ยวไทย ก็น่าจะ ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้ได้ตามเป้าหมาย 1.23 ล้านล้านบาท 

ในด้านของการกระตุ้น ไทยเที่ยวไทย ที่รัฐสนับสนุนวงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท  ใน 2 โครงการ คือ “กำลังใจ” ที่จะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.นี้ และ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่จะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา เรามองว่ายอดการจองห้องพักในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ห้องพักจำนวน 5 ล้านคืน โดยส่วนตัวคาดว่าน่าจะขายหมด แต่ในส่วนของตั๋วเครื่องบิน 2 ล้านที่นั่งคงไม่หมด เพราะส่วนใหญ่คนจะขับรถเที่ยว 

4 กลุ่มต่างชาติจ่อเข้าไทย รับคลายล็อกเฟส 6 ดันต่อ ‘Travel Bubble’

ดังนั้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดาเพิ่มขึ้น เพราะคนไทยเที่ยวกันแต่ช่วงวันหยุด จึงมีการเพิ่มวงเงินที่จะโอนเงินเพื่อให้ใช้จ่ายค่าอาหารและค่าเข้าสถานที่ท่องเที่ยวจาก 600 บาทต่อคืน เป็น 900 บาทต่อคืนสำหรับการจองที่พักเที่ยวในวันธรรมดา รวมถึงการผ่อนผันให้โรงแรมที่ไม่มีอนุญาตแต่อยู่ในระบบภาษีของกรมสรรพากร รวมถึงโรงแรมและโฮมสเตย์ที่ใบอนุญาตหมดอายุตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นมา สามารถนำที่พักเข้ามาเสนอขายในโครงการเราเที่ยวด้วยกันได้ เพื่อเป็นการกระจายได้ให้แก่โรงแรมระดับกลางและล่างด้วย 

ทั้งยังมองว่าโครงการเราเที่ยวด้วยกันจะมีเงินเหลือ เนื่องจากจำนวนคนที่จะจองใช้สิทธิ์เต็มจำนวน(ไม่เกินคืนละ 3 พันบาท 5 คืนคนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่ก็จะจองห้องพักกันคืนละพันกว่าบาทมากกว่า ก็จะมีเงินเหลือเตรียมที่จะทำแพ็คเกจใหม่เพิ่มเติม หรือ "เราเที่ยวด้วยกัน" ระยะที่ 2 โดยเน้นกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเมือง  โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวให้เพิ่มเป็น 60%       

อย่างไรก็ตามกระทรวงการท่องเที่ยวฯก็ตั้งความหวังว่าถ้าผลักดันให้เกิดการนำร่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวในลักษณะนี้ให้เกิดขึ้นได้ในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปีนี้(ก.ย.-ธ.ค.นี้)อย่างน้อยก็น่าจะดึง

นักท่องเที่ยวกลุ่มไฮเอนท์มาเที่ยวใน3 จ.ภาคใต้นี้ได้ราว 2 แสนคน รวมกับการกระตุ้นไทยเที่ยวไทย ก็น่าจะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวในปีนี้ได้ตามเป้าหมาย 1.23 ล้านล้านบาท

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,595 วันที่ 26 - 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2563