เปิดลิสต์16เจ้าหนี้ค้าน‘การบินไทย”ปม"อีวาย"บริหารแผนฟื้นฟู

19 ส.ค. 2563 | 06:40 น.

เปิดชื่อ16 เจ้าหนี้รายย่อย ยื่นคัดค้าน“บินไทย”เผยชนวนไม่เชื่อมั่น “อีวาย” บริหารแผน การบินไทย แจงกว่า 53% ของสินทรัพย์ ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท วอนศาลหนุนฟื้นฟู

    การนัดไต่สวนคำร้องขอ ฟื้นฟูกิจการ ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา แม้จะมีเจ้าหนี้รายย่อย ยื่นคัดค้านรวม 16 ราย และ ศาลล้มละลาย จะมีกำหนดนัดไต่สวนคำร้องเพิ่มเติมอีก 2 วัน คือวันที่ 20 สิงหาคม และวันที่ 25 สิงหาคมนี้

เปิดลิสต์16เจ้าหนี้ค้าน‘การบินไทย”ปม\"อีวาย\"บริหารแผนฟื้นฟู
    แม้ศาลจะยังไม่มีคำพากษา แต่ท้ายสุด การบินไทย ในฐานะลูกหนี้ ก็จะได้เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากเจ้าหนี้รายใหญ่หลายราย รวมทั้งกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในหนังสือสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการ และไม่คัดค้านคณะผู้ทำแผนฯ ที่การบินไทยเสนอ ซึ่งคิดเป็นจำนวนรวมมากกว่า 50% ของจำนวนหนี้ ตามงบการเงินไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2563 ซึ่งมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 332,199 ล้านบาท

เปิดลิสต์16เจ้าหนี้ค้าน‘การบินไทย”ปม\"อีวาย\"บริหารแผนฟื้นฟู

เปิดชื่อเจ้าหนี้ 16 รายคัดค้าน

    เจ้าหนี้ที่ยื่นคัดค้าน 16 ราย เป็น เจ้าหนี้บุคคลธรรมดา 13 ราย และนิติบุคคล 3 ราย เจ้าหนี้บุคคลธรรมดา ประกอบไปด้วย นางสาวณิชารัศม์ วงศ์นิตยเลิศ, นายคณิต ยูซูฟี, นางสาวสุชาดา ฤทัยสวัสดิ์, นายชยกร เอียมศิลา, นายนคร วงศ์จินดาเวศย์, นายยรรยง อัครจินดานนท์, นายเอกสิทธิ์ เรืองรัตน์, นายสนทยา น้อยเจริญ, นายวีรยุทธ โศภิษฐ์กมล, นางสิริวิมล สิทธิประศาสน์, นางสาวยุคลธร สดสวัสดิ์, นางปณาลี ไชยสาร และนางสาวจณสิตไชยสาร, นางสาวพิชามญช์ ขาวสกุล

    เจ้าหนี้นิติบุคคล ได้แก่ บริษัท ดาต้าโปรดักส์ ทอมปัง ฟอร์ม จำกัด,สหกรณ์ออมทรัพย์วชิรพยาบาล จำกัด และบริษัททิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องขอเสนอ นายนรภัทร เลขยานนท์ กรรมการของผู้ร้อง เป็นผู้ทำแผนร่วมกับผู้ทำแผนตามคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ

    เจ้าหนี้ที่ยื่นคัดค้าน ต่างข้องใจและไม่เห็นด้วยที่ การบินไทย ว่าจ้าง บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ทำแผนฟื้นฟูร่วมกับทีมผู้บริหารการบินไทย 6 คน ทั้งๆที่อีวาย ไม่เคยมีประสบการณ์ในการฟื้นฟูกิจการบินมาก่อน ไม่เคยเป็นผู้บริหารในบริษัทที่มีสินทรัพย์ระดับแสนล้านบาท ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านการบินเข้ามาทำแผนธุรกิจ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
16 เจ้าหนี้ รุมค้าน การบินไทย จ้าง "อีวาย" ทำแผนฟื้นฟูกิจการ
ศาลล้มละลายกลาง นัดไต่สวน "การบินไทย" เพิ่มอีก 2 วัน
การบินไทย ฝ่าแผนฟื้นฟู ไม่หวั่นเจ้าหนี้รุมค้าน
สุดอ่วม การบินไทย ครึ่งแรกปี63 ขาดทุน 2.8 หมื่นล้าน
กินโต๊ะ "การบินไทย" ที่ปรึกษาบ้าเลือด เสียค่าโง่จ้างอีวายทำแผนฟื้นฟู

“การบินไทย”จำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษา ยันจัดจ้างถูกต้องตามระเบียบ

ค้านอีวายบริหารแผน

   ขณะที่ อีวาย จะได้รับค่าจ้างในอัตราที่สูง คือ จ่ายเงินครั้งแรก 22 ล้านบาท และจ่ายรายเดือน เดือนละ 15 ล้านบาท จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งอีวาย จะได้รับค่าตอบแทนหากศาลสั่งให้การบินไทย ทำแผนฟื้นฟูกิจการ

     เจ้าหนี้ที่ยื่นคัดค้านบางราย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากการบินไทย ได้รับการฟื้นฟูกิจการ จะเป็นเรื่องที่ดี แต่มองว่า การบินไทย ควรจะให้อีวาย มีส่วนร่วมในการทำแผนฟื้นฟูกิจการ คุมทางด้านการเงินนั้น แต่ไม่ควรให้ อีวาย เข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูด้วย เนื่องจากมองว่าค่าจ้างแพง ไม่มีประสบการณ์ในการฟื้นฟูกิจการการบิน และอีวาย ที่การบินไทยจ้าง ก็ยังเป็นคนละบริษัทกับอีวาย ต่างประเทศ รวมถึงจากโปรไฟล์การทำแผนฟื้นฟูกิจการของอีวายในไทยไม่ว่าจะเป็น บริษัท สหฟาร์ม จำกัด บริษัทโกลเด้น ไลน์ บิสซิเนส จำกัด ที่ก่อนเข้ามาฟื้นฟูก็ไม่มีประสบ การณ์ในธุรกิจนี้มาก่อนเช่นกัน ทำมากว่า 5 ปี ภาระหนี้ไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ จนต้องขอขยายเวลาบริหารแผนอีก 1 ปี

ทรัพย์ 53%นอกกรรมสิทธิ์

    สำหรับบันทึกถ้อยคำแทนการซักถามพยานฝั่งของการบินไทย ที่ได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการ ต่อศาลล้มละลาย ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 การบินไทย มีหนี้ 3.52 แสนล้านบาท มีหนี้สินสูงกว่าทรัพย์สิน 2.85 พันล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินบางรายการมิได้เป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าที่จะสามารถยึดหรือบังคับมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ต่างๆได้ อาทิ มูลค่าของเครื่องบิน 31 ลำ มูลค่ารวม 9.47 หมื่นล้านบาท(ตามสัญญาเช่าทางการเงิน)และการบันทึกมูลค่าของเครื่องบินในส่วนของสินทรัพย์สิทธิการใช้จำนวน 42 ลำ มูลค่ารวม 8.34 หมื่นล้านบาท (ตามสัญญาเช่าดำเนินการ)

เปิดลิสต์16เจ้าหนี้ค้าน‘การบินไทย”ปม\"อีวาย\"บริหารแผนฟื้นฟู

     รวมถึงเงินประกันการบำรุงรักษาเครื่องบินจำนวน 1.47 หมื่นล้านบาท เป็นเงินที่การบินไทยจ่ายให้แก่บริษัทผู้ผลิตหรือบริษัทผู้ให้เช่าเครื่องบิน รายการสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี จำนวน 9.32 พันล้านบาท เป็นต้น โดยสินทรัพย์ที่แสดงในงบการเงินของการบินไทย กว่า 53% ของสินทรัพย์ทั้งหมด เป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของการบินไทย หรือไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสด หรือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าที่สามารถนำมาชำระหนี้ให้กับบรรดาเจ้าหนี้ได้ หากการบินไทยต้องเข้าสู่สภาวะล้มละลาย

     ในส่วนของทรัพย์สินที่เหลือ ก็อาจจะไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทั้งจำนวนในทันที เช่น เครื่องบินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของการบินไทย ที่มีอยู่จำนวน 48 ลำ มีอายุการใช้งาน 6-31 ปี ในจำนวนนี้มีเครื่องบิน 15 ลำ ที่จอดรอการขายมาแล้วกว่า 1-8 ปี ทั้งในช่วงการระบาดของโควิด-19 การขายเครื่องบินดังกล่าวไม่อาจจะคาดหวังราคาได้

    เนื่องจากตลาดการบินมีแนวโน้มการซื้อเครื่องบินที่ลดลง นอกจากนี้รายการสินค้าคงเหลือในงบการเงินจำนวนกว่า 4.5 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นอะไหล่เครื่องบิน ซึ่งเสื่อมค่าและเสื่อมสภาพตามกาลเวลา รายการลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่นๆจำนวนกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท รวม บริษัท ไทยสมายล์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของลูกหนี้จำนวนกว่า 6 พันล้านบาท ซึ่งในขณะนี้บริษัทดังกล่าวประสบปัญหาสภาพคล่องด้วยเช่นกัน  
    แต่หาก การบินไทย สามารถปรับโครงสร้างหนี้และโครงสร้างทุนที่เหมาะสม ทรัพยากรและธุรกิจของลูกหนี้ที่ยังมีมูลค่าก็สามารถที่จะสร้างกระแสเงินสด เพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายได้มากกว่ากรณีที่ปล่อยให้การบินไทยต้องล้มละลาย
      อีกทั้ง การบินไทย ยังเห็นช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากมองว่า เหตุที่การบินไทย ประสบปัญหาทางการเงิน ไม่ได้เกิดจากพื้นฐานธุรกิจ แต่เกิดจากสภาพการแข่งขันในธุรกิจสายการบิน และความไม่คล่องตัวในการบริหารจัดการ เนื่องจากเคยเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงเป็นเหตุให้กำไรต่อหน่วยของลูกหนี้ต่ำลงอย่างต่อเนื่อง หาก การบินไทย ได้รับการฟื้นฟูกิจการ และได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้สินต่างๆที่ถึงกำหนดชำระ โดยการปรับโครงสร้างหนี้ โครงสร้างทุน โครงสร้างองค์กรก็จะทำให้การบินไทย กลับมาฟื้นธุรกิจได้อีกครั้ง

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ  3602 วันที่ 20-22 สิงหาคม 2563