หลังการนัดไต่สวนคำร้องขอ ฟื้นฟูกิจการ ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินการครบทั้ง 3 วันแล้ว ศาลล้มละลายกลาง ได้กำหนดนัดฟังคำสั่งในคำร้องขอฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนในวันที่ 14 กันยายน 2563 ซึ่งบทสรุป การบินไทย ก็ฉลุยได้ทำแผนฟื้นฟู เนื่องจากมีเจ้าหนี้กว่า 137 ราย ออกหนังสือสนับสนุนให้การบินไทย
ในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในครั้งนี้ คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูของการบินไทย ได้นำเสนอต่อศาลล้มละลายกลาง ถึง ช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้น โดยเสนอเค้าโครงเบื้องต้นในการฟื้นฟูกิจการ จะโฟกัสใน 5 แผนหลัก และหากศาลอนุญาตให้การบินไทย เป็นผู้ฟื้นฟูกิจการ ทางทีมทำแผนฟื้นฟูของการบินไทย ก็จะไปรายละเอียดของแผนตั้งเป้าหมายแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และจะนำเสนอต่อศาลฯ เพื่อขออนุมัติแผน และเดินหน้าบริหารแผนฟิ้นฟูต่อไป โดยใน 5 แผนของการฟื้นฟู จะประกอบไปด้วย
1. การปรับโครงสร้างหนี้ และการปรับโครงสร้างทุน ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้เหมาะสม แก่ความสามารถที่จะชำระหนี้ได้ และการหาสินเชื่อหรือเงินทุน ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้สามารถพิจารณาดำเนินการได้หลายรูปแบบ เช่น การขยายหรือพักระยะเวลาการชำระหนี้,การปรับลดเงินต้นและดอกเบี้ยลงทั้งหมด หรือบางส่วน การขอรีไฟแนนซ์ การแปลงหนี้เป็นทุน หรือปรับโครงสร้างหนี้หรือโครงสร้างทุนในรูปแบบอื่นๆตามความเหมาะสมภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาการบินไทย ได้เริ่มเจรจากับเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆบ้างแล้ว เพื่อขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ และรับฟังข้อคิดเห็นของเจ้าหนี้บางกลุ่ม ซึ่งทำให้ได้รับทราบแนวทางและแนวโน้มที่เจ้าหนี้อาจยินยอมให้รับการขยายเวลาชำระหนี้ หรือปรับลดดอกเบี้ยลงได้บ้าง หากการชำระหนี้เป็นไปตามเงื่อนไขที่เจ้าหนี้สามารถยอมรับได้ เป็นต้น
อีกทั้งเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าหรือผู้ให้เช่าซื้อเครื่องบินหลายรายสนับสนุนให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ และยินยอมให้การบินไทยใช้เครื่องบินที่ให้เช่าหรือให้เช่าซื้อดำเนินการบินต่อไป โดยพัก หรือขยายเวลาการชำระหนี้บางส่วน เพื่อให้การบินไทยทำการบินได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
การบินไทย เช่าเหมาลำ 6 เส้นทางรับต่างชาติ หนุน "ภูเก็ต โมเดล"
จบนัดไต่สวน “ชาญศิลป์” มั่นใจฟื้นฟู “การบินไทย” ราบรื่น
เปิดลิสต์เจ้าหนี้ 137 ราย หนุนฟื้นฟู “การบินไทย” ฉลุย
การบินไทย แจงเหตุผลจ้างอีวาย-กระแสเงินสดลด9พันล.
เปิดลิสต์16เจ้าหนี้ค้าน‘การบินไทย”ปม"อีวาย"บริหารแผนฟื้นฟู
นอกจากนี้ การบินไทย ยังได้เจรจากับสถาบันการเงินการเตรียมแหล่งเงินสภาพคล่อง ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากกระแสเงินสดในปัจจุบันอาจไม่เพียงพอที่จะใช้ดำเนินธุรกิจอย่างสืบเนื่องในระยะยาว โดยการบินไทยได้มีการเจรจากับ 3 สถาบันการเงินหลัก อาทิ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งทั้ง 3 ธนาคาร พร้อมจะให้การสนับสนุน เมื่อบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ รวมถึงอาจพิจารณาหาแหล่งเงินทุนจากการลงทุน เช่น การเพิ่มทุน การหานักลงทุนหรือพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อนำเงินมาพัฒนากิจการและต่อยอดทางธุรกิจ หรือเพื่อนำมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการต่อไป
2. การกำหนดเส้นทางบินที่เหมาะสม มีศักยภาพในการทำกำไร และเหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงของตลาด พิจารณาบริหารเส้นทางการบิน โดยกำหนดเส้นทางการบินให้ไม่ทับซ้อนกันเอง กับ ไทยสมายล์ ซึ่งการบินไทยถือหุ้น 100% ที่อาจพิจารณาให้ไทยสมายล์ บริการในเส้นทางการบินในภูมิภาคที่มีพิสัยการบินไม่ไกล เนื่องจากมีต้นทุนในการปฏิบัติการบินต่ำกว่าการบินไทย สามารถแข่งขันกับสายการบินอื่นๆในภูมิภาค และทำราคาค่าโดยสารต่ำกว่าที่การบินไทยทำการบินเอง
ขณะที่การบินไทย จะให้บริการในเส้นทางบินพิสัยกลางถึงไกล และปรับปรุงเส้นทางบินใหม่ โดยยกเลิกหรือลดเที่ยวบินในเส้นทางบินที่ไม่ทำกำไร หรือมีความเสี่ยงขาดทุน หรือมีกำไรจากการดำเนินงานต่ำ หรือไม่สามารถปรับปรุงให้ทำกำไรได้ เพื่อป้องกันการสูญเสียเงินทุน เกิดต้นทุนไม่จำเป็น และรักษากระแสเงินสด โดยอาจมีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มเส้นทางการบินตามฤดูกาลที่ตลาดต้นทางที่มีความต้องการสูง เช่น เพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในช่วงฤดูหนาวในฝั่งประเทศยุโรปที่มีอุปสงค์การเดินทางท่องเที่ยวมาไทย
การพิจารณาบริหารฝูงบิน ซึ่งขณะนี้การบินไทยและที่ปรึกษาได้เริ่มศึกษาเพื่อกำหนดเส้นทางบิน โดยพิจารณาจากแนวโน้มของตลาดการบินที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19 โดยการบินไทยจะมุ่งเน้นเส้นทางที่กำไร ใน ภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และเส้นทางอื่นๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา เบื้องต้นจะต้องมีการปรับลดฝูงบินลงด้วย เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการในการเดินทางที่ลดลง การปรับลดแบบรุ่นเครื่องบินลง
3. การบริหารและปรับลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เน้นทำให้ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง เช่น การจัดซื้อวัตถุดิบจากคู่ค้าที่เสนอราคาคุ้มค่าและยังคงคุณภาพมาตรฐานที่ต้องการได้ การศึกษาทางการเงิน เพื่อให้หน่วยธุรกิจทราบต้นทุนต่อหน่วย ทำให้กำหนดราคาขายและค่าบริการได้เหมาะสม และกำหนดแผนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับปรุงช่องทางการขายตั๋วผ่านอินเตอร์เน็ตให้มากขึ้น
4. เพิ่มศักยภาพและขยายโอกาสในการหารายได้ ในหน่วยธุรกิจต่างๆของการบินไทย การตั้งบริษัทย่อย หาพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาร่วมทุน
5. ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้กระชับ และมีการบริหารต้นทุนด้านการบริหารงานดำเนินงาน และต้นทุนด้านทรัพยากรบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ ลดกระบวนการขั้นตอนที่ซ้ำซ้อน และไม่จำเป็นซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนขององค์กร ซึ่งภายหลังจากการฟื้นฟูกิจการ ทางบอร์ดของการบินไทยและผู้บริหารแผนฟื้นฟูจากบอร์ดทั้ง 6 คน ได้เริ่มวิเคราะห์และปรับโครงสร้างองค์กรแล้ว
เช่น การปรับเปลี่ยนตำแหน่งผู้บริหาร เพื่อความเหมาะสม แก้ไขวัฒนธรรมที่มีผู้อาวุโสเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน โดยริเริ่มก่อตั้งคณะทำงาน ที่เรียกว่า survival team เพื่อให้คนรุ่นให้ร่วมฟื้นฟูองค์กร การบินไทย อาจพิจารณาปรับปรุงระบบการบริหาร ค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์และสวัสดิการของพนักงานและอดีตพนักงานมีความเหมาะสม และเป็นไปตามมาตรฐานในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน การปรับลดจำนวนพนักงานให้สอดคล้องกับจำนวนฝูงบิน แผนธุรกิจ หรือโยกย้ายบุคคลกรตามความเหมาะสมของงาน
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการบริษัท และรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า หากศาลมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการและตั้งคณะผู้ทำแผน การบินไทยจะเชิญเจ้าหนี้กลุ่มต่างๆ มารับฟังการจัดทำร่างแผนฟื้นฟูกิจการในเบื้องต้นเพื่อให้เจ้าหนี้ได้รับทราบถึงความคืบหน้าของการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อไป และหากการบินไทยได้ทำฟื้นฟูกิจการ ก็จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อเจ้าหนี้ทุกราย เนื่องจากการบินไทยจะสามารถเริ่มต้นแก้ไขสถานการณ์ทางการเงินได้โดยเร็ว
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบัยบ3604 วันที่ 27-29 สิงหาคม 2563