ท่องเที่ยว รายใหญ่ พ้นจุดตํ่าสุด SMEs ยังโคม่า

13 ก.ย. 2563 | 04:27 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ย. 2563 | 11:44 น.

ท่องเที่ยวรายใหญ่ ชี้ ธุรกิจผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว แต่ต้องรักษาสภาพคล่องให้อยู่รอด จนกว่าไทยจะเปิดรับต่างชาติ สวนทางกลับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ยังคงวิกฤต จากสายป่านที่ไม่ยาวพอ รอดยาก

       นับจากเดือนมิ.ย. เริ่มเห็นสัญญาณกระเตื้องขึ้นบ้าง จาก ไทยเที่ยวไทย ซึ่งถ้าไม่มีการแพร่ระบาดระลอก 2 ธุรกิจท่องเที่ยวรายใหญ่  ต่างมองว่า ธุรกิจผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว แต่ยังต้องรักษาสภาพคล่องให้อยู่รอด จนกว่าไทยจะเปิดรับท่องเที่ยวต่างชาติ  สวนทางกลับ ธุรกิจ เอสเอ็มอี ที่ยังคงวิกฤต จากสายป่านที่ไม่ยาวพอ เพราะตลอดทั้งปีนี้ธุรกิจท่องเที่ยวทุกรายต่างติดลบกันถ้วนหน้า

ท่องเที่ยว รายใหญ่ พ้นจุดตํ่าสุด SMEs ยังโคม่า

Q3 ธุรกิจเริ่มขยับ
         การที่ธุรกิจท่องเที่ยวรายใหญ่ หลายรายออกมาประเมินว่าธุรกิจพ้นจุดต่ำมาแล้ว เป็นเพราะธุรกิจเริ่มทยอยกลับมาเปิดให้บริการได้เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 3 (Q3) หลังรัฐบาลทยอยคลายล็อกดาวน์ เทียบกับช่วงไตรมาส 2 ที่ไม่สามารถเปิดดำเนินธุรกิจได้ รายได้เป็นศูนย์ จากมาตรการที่เข้มข้นเป็นอย่างมากในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด -19  โดยเฉพาะประกาศห้ามอากาศยานทำการบินเข้าไทยชั่วคราว ของสำนักงานสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)
       ดังนั้นหลังจากกพท.ได้อนุญาตให้เที่ยวบินภายในประเทศเริ่มทำการบินได้ตั้งแต่เดือนพ.ค.63  และในเดือนก.ค.63 อนุญาตให้เที่ยวบินระหว่างประเทศที่ปฏิบัติการบินตามภารกิจที่ได้รับการยกเว้น ทำการบินมาไทยได้ (เที่ยวบินพิเศษ) ส่งผลให้สายการบินทยอยเพิ่มเที่ยวต่อเนื่อง โดยในเดือนพ.ค.มีปริมาณเที่ยวบิน 1.38 หมื่นเที่ยวบิน เดือนมิ.ย. เพิ่มเป็น 2 หมื่นเที่ยวบิน และในเดือนก.ค. เพิ่มเป็น 2.7 หมื่นเที่ยวบิน หากเทียบปริมาณเที่ยวบินรวมในเดือนก.ค.63 กับเดือนพ.ค.63 จะเห็นว่าเพิ่มขึ้นร่วม 100.09% โดยส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินภายในประเทศ
        เมื่อบวกรวมกับมาตรการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยของรัฐบาล โดยเฉพาะในโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน ก็พอเริ่มเห็นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเกิดขึ้นบ้าง โดยจะเริ่มเห็นอัตราส่วนของการเดินทางเที่ยวในประเทศของคนไทยที่ติดลบน้อยลงในเดือนมิ.ย. ซึ่งติดลบอยู่ที่ 74.57% จากเดือนพ.ค.ที่ติดลบสูงถึง96.43%   โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่าช่วงไตรมาส 3 จะติดลบอยู่ที่ 70-71% ติดลบน้อยลงหากเทียบกับช่วงไตรมาส 2 

ท่องเที่ยว รายใหญ่ พ้นจุดตํ่าสุด SMEs ยังโคม่า
        การติดลบที่น้อยลง เป็นเพราะกลุ่มตลาดที่เริ่มเดินทางท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มตลาดระดับบน ที่มีกำลังซื้อ ขณะที่กลุ่มคนไทย ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ ยังเลือกที่จะเก็บเงินไว้ก่อน เพราะประสบปัญหาเศรษฐกิจและหลายคนเผชิญกับการตกงาน

รายใหญ่ชี้พ้นจุดต่ำสุด
        ธุรกิจที่ฟื้นตัว ส่วนใหญ่จะเป็นโรงแรมขนาดใหญ่  โดยเฉพาะโรงแรมขนาดใหญ่ที่อยู่ในเมืองท่องเที่ยว ในโลเกชัน ขับรถไปเที่ยวเองได้ อย่าง หัวหิน อัตราเข้าพักพุ่ง70%

วิลเลี่ยม ไฮเน็ค
      นายวิลเลี่ยม ไฮเน็ค ประธานกรรมการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT กล่าวว่าเราเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจทั้งในและต่างประเทศแล้ว โรงแรมในกลุ่มไมเนอร์ โฮเทลส์ ทั้งในกรุงเทพฯและจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ทั่วไทย ได้ทยอยเปิดให้บริการและพร้อมขานรับมาตรการเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว     
        ประกอบกับที่ผ่านมา ไมเนอร์ได้ประกาศแผนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน ซึ่งเป็นแผนเบ็ดเสร็จในครั้งเดียว โดยระดมทุนเพิ่ม 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรับมือโควิด-19       

     วัลลภา ไตรโสรัส
         นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า หลังจากภาครัฐได้ประกาศมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2  ในปลายเดือนพ.ค. โรงแรมภายใต้ AWC บางส่วน และอสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าต่างๆ ได้กลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง โดยมีผู้บริโภคภายในประเทศกลับมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
         ทำให้รายได้ของบริษัทในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนโรงแรมหัวหิน แมริออท รีสอร์ท และ สปา ซึ่งเป็นโรงแรมแรกที่เปิดดำเนินการได้หลังการผ่อนปรนระยะที่ 2 ทำให้มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์สูงถึง 98 %และในภาพรวมอัตราเข้าพักเฉลี่ยยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อีกทั้ง AWC ยังคงเดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารค่าใช้จ่ายอย่าง ซึ่งรวมถึงการดำเนินการบริหารจัดการสภาพคล่องของทุกส่วนงานของบริษัท
          นายพชร ไกรนุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทดิเอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯเริ่มทยอยกลับมาเปิดให้บริการหลายโรงแรมในเดือนมิ.ย. ทั้งที่หัวหิน และพัทยาได้รับการตอบรับที่ดี และในเดือนส.ค.คาดว่าจะเปิดให้บริการโรงแรมครบทุกแห่ง ซึ่งเน้นลูกค้าคนไทยเป็นหลัก ทั้งการทำตลาด และการเข้าร่วมในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน

ธุรกิจเอสเอ็มอีเดี้ยง
           ในส่วนของธุรกิจท่องเที่ยวเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ยังไม่กลับมาเปิดบริการ และในช่วงครึ่งแรกของปีนี้พบว่ามีการ ปิดกิจการถาวร ไปแล้วร่วม 240 ราย
           นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจท่องเที่ยวเอสเอ็มอี สาหัส จากที่ปิดชั่วคราว ก็มีแนวโน้มจะต้องปิดถาวร เนื่องจากขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถเข้าถึง ซอฟต์โลน ได้ เพราะในทางปฏิบัติสถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ
ให้ เนื่องจากต้องตั้งสำรองหนี้สูญ 100%

ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร
         ขณะที่ธุรกิจที่พอจะกลับมาเปิดให้บริการได้ และได้อานิสงส์จากแพ็กเกจกระตุ้น ท่องเที่ยวของรัฐบาล ในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ส่วนใหญ่ก็จะเป็นธุรกิจขนาดกลางและรายใหญ่ เนื่องจากมีใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจโรงแรม
          อีกทั้งธุรกิจเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบอย่างมาก จากการที่โรงแรมระดับกลางและรายใหญ่ ต่างหันมาลดราคากันมากกว่า 50% เพื่อดึงลูกค้า  และผลกระทบ ของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อไปจนสิ้นปีนี้ และต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ธุรกิจเอสเอ็มอี ส่วนใหญ่คงไม่มีสายป่านยาวพอที่จะรอไหว ยกเว้นว่ารัฐจะขับเคลื่อนให้ต่างชาติเริ่มเข้ามาเที่ยวไทยได้บ้างในช่วงปลายปีนี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
จวกรัฐล้มเหลว “ภูเก็ต โมเดล” ธุรกิจโรงแรมวิกฤต
ชงตั้งกองทุนแสนล.ดึงเงินร่วมลงทุนฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวโคม่า
ทายาทเจ้าสัวเจริญ ดันมิกซ์ยูส AWC ดึง แมริออท บริหาร 4 โรงแรมใหม่​​​​​​​
เปิดสมมติฐาน ฉุด ท่องเที่ยวปี 63 ดิ่งเหลือ 8.4 แสนล.​​​​​​​

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,604 วันที่ 27-29 สิงหาคม พ.ศ.2563