ท่องเที่ยวปี64 ททท.ดันรายได้ต่างชาติเที่ยวไทย ติดTop5 โลก

23 ต.ค. 2563 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2563 | 09:26 น.

ปัจจุบันการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)อยู่ระหว่างการเดินแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในปี 2564 ภายใต้กรอบปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 4,854.5 ล้านบาท ซึ่งการทำงานท่ามกลางความผันผวน จากวิกฤติโควิด-19 จะมีทิศทางอย่างไร อ่านได้จากการเปิดใจของ “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

            ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบจำกัด  ผ่านการออกวีซ่าประเภทพิเศษ(สเปเชี่ยล ทัวริสต์ วีซ่า หรือ STV) ซึ่งภายในเดือนตุลาคม2563 จะมีกรุ๊ปจากเมืองเซี้ยงไฮ้ กวางโจว (จีน) เดินทางเข้ามา จำนวน 3 กรุ๊ป และรัฐบาลเตรียมความพร้อมสายการบิน เพื่อเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศ โดยพิจารณาเฉพาะประเทศที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดอยู่ในมาตราฐานองค์การอนามัยโลก (WHO)เป็นอันดับแรก
            รวมถึงกระตุ้นไทยเที่ยวไทย ที่เพิ่งจะเริ่มเกิดการเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาหลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ แต่ก็มีปัจจัยด้านเศรษฐกิจเป็นตัวแปรที่ทำให้คนก็ระมัดระวังการใช้จ่าย
            ทำให้ททท.คาดว่าในปีนี้น่าจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้ 8.14 แสนล้านบาท โดยเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวไทย 4.18 แสนล้านบาท ลดลง61% จากปีก่อน โดยมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยราว 70 ล้านคนครั้ง ลดลง58% จากปีก่อน ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าจะอยู่ที่ 3.96 แสนล้านบาท ลดลง80%จากปีก่อน โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 8.2 ล้านคน ลดลง80%

วาง 3 เป้าหมายปีหน้า

            ขณะที่แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในปี2564 ททท. จะเน้นใน 3 เป้าหมาย ได้แก่

            1.เป้าหมายเชิงเศรษฐกิจ  คือ สร้างรายได้การท่องเที่ยวรวมอยู่ระหว่าง 7 แสนล้านบาท-1.5 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าเป็นรายได้จากตลาดในประเทศ 4-5 แสนล้านบาท และรายได้จากตลาดต่างประเทศ 3 แสนล้านบาท-1 ล้านล้านบาท ภายใต้การคาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศ ซึ่งแบ่งออกเป็นซีนาริโอต่างๆ (กราฟฟิกประกอบ)

ท่องเที่ยวปี64 ททท.ดันรายได้ต่างชาติเที่ยวไทย ติดTop5 โลก

            2.เป้าหมายเชิงการแข่งขัน โดยจะผลักดันให้ไทยมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก
            
            3. เป้าหมายด้านการเป็นองค์กรสมรรถนะสูงสุด โดยมีคะแนนประเมินผลรัฐวิสาหกิจ ไม่ต่ำกว่าปี2563

        ส่วนกรอบการดำเนินงาน นอกจากททท.ยังต้องยึดหลักตามแผนยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ผมยังได้มอบนโยบายให้ททท.ต้องมองถึงการเป็นผู้นำในการสร้างอนาคตการท่องเที่ยวไทยบนพื้นฐานของความปลอดภัย และความยั่งยืน (SAFE and SUSTAIN Future) และการสร้างความมั่นใจในระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งสามารถรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดได้ดี

        ทั้งยังรักษาสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และเพิ่มการให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

 

2 จุดเน้นท่องเที่ยวปี 64

            สำหรับจุดเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในปีหน้า จะกำหนดช่วงเวลาและจุดเน้น ใน 2 จุดหลัก ได้แก่       

              1.การส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่จะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะ Recovery เน้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพิ่มความถี่ในการเดินทาง และระยะ Restart เร่งสร้างรายได้จากการเพิ่มการใช้จ่ายต่อทริป และเน้นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจงที่มีคุณภาพและศักยภาพในการใช้จ่าย

            2.จุดเน้นการดำเนินงาน ภายใต้กลยุทธ 3 D ประกอบด้วย “Domestic” ปรับดีมานต์ส่งเสริมและผลักดันการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นสำคัญ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศ ลดการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว เน้นกลุ่มคุณภาพ ได้แก่ กลุ่มมิลเล็นเนียล กลุ่มคนไทยเที่ยวนอก กลุ่มEXPAT กลุ่ม Digital nomad (ไลฟ์สไตล์คนทำงานแบบไร้ออฟฟิศ) และกลุ่มประชุมสัมมนาภาครัฐ

            “Digital” สร้าง Digital Ecosystem สร้างความเชื่อมโยงให้เกิดขึ้นจริงและสามารถลดช่องว่างทักษะด้านดิจิทัล ขับเคลื่อนการดำเนินงานบนฐานข้อมูลอย่างต่อเนื่อง และก้าวทันอนาคต “Dynamic” สร้างพลวัตใหม่ จากความสามารถในการปรับตัว มีความยืดหยุ่น การบรูณาการทำงานเพิ่อเพิ่มศักยภาพการทำงาน โดยเฉพาะด้านอุปทานให้มีความเข้มแข็ง สามารถลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน ภายใต้หลักธรรมาภิบาล

 

เที่ยวเมืองไทย Amazing

            แนวทางการดำเนินงานของททท.ในปีหน้า จะโฟกัสใน 3 แผน ได้แก่ แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดในประเทศ ททท.จะกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบริการตามมาตฐานสาธารณสุข New Normal เพื่อช่วยพยุงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับปี2562 และสานต่อการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ โดยให้คนไทยตระหนักถึงคุณค่าและร่วมกันเพิ่มพูนคุณค่าของการท่องเที่ยวไทย ผ่านการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น

            โดยททท.จะกระตุ้นการเติบโตของนักท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างสมดุล มุ่งกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองรอง หรือแหล่งท่องเที่ยวรองในเมืองหลัก ส่งเสริมให้เที่ยวในวันธรรมดา ผ่านการให้บริการข้อมูลข่าวสารจากททท. รวมถึงการสร้างสรรค์ประสบการณ์ท่องเที่ยว เน้นให้เกิดการใช้จ่ายจากการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เช่น ส่งเสริมรูปแบบการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ เพิ่มขีดความสามารถให้ชุมชนท้องถิ่นพัฒนาและเสนอขายสินค้าที่สะท้อนวิถีชีวิต การรักษาระยะพำนักเฉลี่ยด้วยเรื่องราวสร้างสรรค์และกิจกรรมท่องเที่ยว

            รวมถึงการพัฒนาคุณค่าแบรนด์ให้เทียบเท่าคุณค่าการท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยการสร้างกระแสการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ด้วยการนำเสนอคุณค่าที่นักท่องเที่ยวจะได้รับจากการท่องเที่ยวในประเทศที่ไม่แพ้การท่องเที่ยวต่างประเทศ ผ่านแคมเปญสื่อสารการตลาด “Amazing Thailand” ด้วยแนวคิด “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม

ดันไทย Top of Mind

            ขณะที่แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ ททท.มองว่าจากความไม่แน่นอนของโควิด-19 ในปี63 และส่งผลต่อเนื่องในปี 64 ททท.จึงคาดว่าภาพรวมอัตราการเติบโตของตลาดมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 63 แต่คงจะยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติเช่นเดียวกับปี 62

            เนื่องจากสถานการณ์การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงปลายปี 63 ถึงปี 64 ยังคงมีความผันผวนไม่แน่นอน จากปัจจัยต่างๆ อาทิ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศยังไม่ผ่านจุดสูงสุด การพัฒนาวัคซีนยังมีข้อจำกัด ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัวในปี64 และนโยบายในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยในแบบค่อยเป็นค่อยไป

        ดังนั้นทิศทางในการส่งเสริมตลาดต่างประเทศในปีหน้า ททท.จะเร่งฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากผลกระทบโควิด-19 โดยเน้นการสร้างความเชื่อมั่น และการรับรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ไทยเป็น Top of Mind ซึ่งททท.จะกระตุ้นการเดินทางตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพ

        เช่น ลดการพึ่งพิงตลาดใดตลาดหนึ่ง กระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพที่สามารถเดินทางได้ การเสริมสร้างคุณค่าประสบการณ์ท่องเที่ยว ผ่านเอกลักษณ์และเรื่องราวของสินค้าทางการท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์ สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม ให้เดินทางมาสัมผัสมุมมองใหม่ที่แตกต่าง

            การตอกย้ำความเชื่อมั่นคุณค่าแบรนด์ท่องเที่ยวไทย เช่น สื่อสารความมั่นใจในภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย เน้นกิจการสื่อสารการตลาดให้เข้าถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มศักยภาพที่สามารถเดินทางได้ก่อน อย่างกลุ่มมิลเล็นเนียล กลุ่มเมดิคัล

        ทั้งหมดล้วนเป็นทิศทางในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของไทยในปีหน้า ท่ามกลางความผันผวนจาก โควิด-19 ที่ยังคงอยู่

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,619 วันที่ 18 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ท่องเที่ยวเฮ รัฐปลดล็อกต่างชาติเที่ยวไทย ไฟเขียวกต.ออก "ทัวริสต์ วีซ่า"
ไฟเขียว 10 สายการบินต่างชาติเปิดเที่ยวบินเข้าไทย