แอร์เอเชีย กรุ๊ป ปรับกลยุทธครั้งใหญ่ ทรานฟอร์มสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ ยันจากนี้ไม่ใช่แค่เป็นเพียงสายการบิน แต่จะเป็นมากกว่าสายการบิน จากแพลตฟอร์ม “airasia.com” ที่กำลังจะกลายเป็นออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ (OTA) รายใหม่ของโลก รวมถึงซุปเปอร์ แอปฯของอาเซียน (ตั๋วเครื่องบิน+ อีคอมเมิร์ซ+ฟินเทล) โดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดขึ้นได้เร็วกว่าเดิมที่วางแผนไว้
ตลอดระยะเวลากว่า 19 ปีที่ผ่านมา “แอร์เอเชีย กรุ๊ป” ได้เข้ามาดิสรัปต์ธุรกิจสายการบินด้วยการ เปิดให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ ภายใต้สโลแกน “Now Everyone Can Fly” จนถึงปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการไปแล้วกว่า 600 ล้านคน และในปีที่ผ่านมามีผู้โดยสารใช้บริการรวมกว่า 39 ล้านคน ากเครือข่ายการเปิดดำเนินธุรกิจของสายการบินแอร์เอเชีย ที่ปัจจุบันเปิดให้บริการอยู่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย, ไทย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และ อินเดีย หลังเพิ่งปิดการดำเนินธุรกิจของแอร์เอเชีย เจแปนไปแล้ว
แต่จากการถูกดีสรัปต์ทั้งจากการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น เทคโนโลยี ดีสรัปต์ชันและพฤติกรรมในการเดินทางท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับในปีนี้เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ได้กลายเป็นตัวเร่งให้เกิดการทรานฟอร์มเพื่อสร้างโมเดลใหม่ในการดำเนินธุรกิจของแอร์เอเชีย กรุ๊ป ที่จากนี้จะ ไม่ใช่แค่เป็นเพียงสายการบิน แต่จะเป็นมากกว่าสายการบิน
ด้วยการมุ่งเป้าในการสร้างรายได้ใหม่จากแพลตฟอร์ม “airasia.com” ที่กำลังจะกลายเป็นออนไลน์ ทราเวล เอเย่นต์ (OTA) รายใหม่ของโลก ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อไตรมาสที่3 ปี63
airasia.com จัดว่าเป็นซุปเปอร์แอปพลิเคชั่น ที่จะพลิกโฉมแอร์เอเชีย ให้ก้าวไปสู่ สายการบินดิจิตัล นวัตกรรม สำหรับทุกคน “For everyone” โดยเป็นการสร้างรายได้จากโปรดักต์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์ไตล์ (Lines of Business : LOB)โดยไม่หวังพึ่งแค่ธุรกิจการบินเพียงอย่างเดียว
โปรดักต์ของ airasia.com จะครอบคลุมบริการจองใน 3 ด้าน ได้แก่ ทราเวล,อีคอมเมิร์ซ,ฟินเทค ครอบคลุมบริการที่หลากหลาย โดยโปรดักต์นำมาเสนอขาย จะแตกต่างกันไป โดย “แอร์เอเชีย มาเลเซีย” จะมีโปรดักต์มากที่สุด สำหรับ “ไทยแอร์เอเชีย” มีโปรดักต์ที่นำเสนอแล้วในปัจจุบัน
อาทิ เที่ยวบินของแอร์เอเชีย, SNAP (เที่ยวบิน+โรงแรม) Fly Beyond (จองตั๋วบินกับสายการบินต่างๆที่ไม่ใช่แอร์เอเชีย การจองโรงแรม จองกิจกรรม ดีลสุดคุ้ม และต่อไปก็จะขยายโปรดักต์ต่างๆให้ครอบคลุมเพิ่มมากขึ้น ไปจนถึงการนำ Big โปรแกรม (การสะสมไมล์ของแอร์เอเชีย) มาใช้แทนเงินสดได้ด้วย ต่อไปเมื่อเข้า airasia.com ก็จะจองได้ทั้งทุกเรื่องที่เกี่ยวกับทราเวล ไปจนถึงการช็อปปิ้ง การสั่งอาหาร ซึ่ง โทนี เฟอร์นานเดส บอสใหญ่แอร์เอเชีย กรุ๊ป วางเป้าหมายไว้ว่าภายในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2568 แอปพลิเคชั่นดังกล่าว จะทำให้แอร์เอเชีย กรุ๊ป มี รายได้ที่ไม่ใช่จากสายการบิน (Non-Airline)เพิ่มขึ้นเป็น 50%
คาเรน ชาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร airasia.com กล่าวว่า จาก 19 ปีแรก ที่เราขายตั๋วเครื่องบินออนไลน์ ปัจจุบันเราเป็นซุปเปอร์ แอปฯของอาเซียน (ตั๋วเครื่องบิน+ อีคอมเมิร์ซ+ฟินเทล) เราไม่ปล่อยให้ วิกฤติ โควิด ผ่านไปโดยไร้ความหมาย จึงพัฒนาโซลูชั่นนี้ขึ้นมา โดยเรามีจุดเด่นหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นจุดแข็งที่เราเป็นเจ้าของสายการบิน ทำให้เราแตกต่างจาก OTA เจ้าอื่นๆ
ทำให้สามารถควบคุมและประเมินราคาได้ รู้ว่าใน 365 วันผลตอบแทนแต่ละเที่ยวบินจะอยู่ที่เท่าไหร่ ทำให้การขายแพ็กเกจตั๋วเครื่องบินรวมโรงแรมหรือSNAP จะถูกกว่าการจองแยก 5-10% ปัจจุบันเราพัฒนาบริการนี้ร่วมกับโรงแรมกว่า 500 แห่ง ครอบคลุมอาเซียนและไทย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
7 แอร์ไลน์ รอความหวังซอฟท์โลน 1.4หมื่นล้าน ไทยแอร์เอเชีย ดันสร้างรายได้ airasia.com
แอร์เอเชีย เจแปน ยื่นล้มละลายต่อศาลแขวงโตเกียวแล้ว แบกหนี้ 6.2 พันล้านไม่ไหว
ไทย ติดอันดับ 2 เที่ยวบินมากสุดในอาเซียน "ไทยแอร์เอเชีย" แชมป์ในไทย
ไทยแอร์เอเชีย ยืนระยะฝ่าวิกฤติโควิด สู่สายการบินที่แข็งแกร่ง
รวมทั้งเรามีฐานข้อมูลที่แม่นยำของลูกค้า ซึ่งในปีที่ผ่านมามีถึง 100 ล้านคน เป็นข้อมูลชั้นดีที่นำมาใช้ทำตลาด และดันยอดขายได้ การมีโปรเส้นทางบินครอบคลุมทั้งเครือข่ายของแอร์เอเชีย และการทำงานร่วมกับพันธมิตร
ลัดดาวัลย์ มีทรัพย์วัฒนา ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ airasia.com กล่าวว่า เราเพิ่งเปิดตัวบริการจองโปรดักต์ใน airasia.com ช่วงไตรมาส 3 ปี 63 ถือว่าได้รับการตอบรับดี อาทิ SNAP แพ็กเกจตั๋วเครื่องบินไป-กลับ +โรงแรม 2 คืน ขายราค 790 บาทต่อคน
หรือแม้แต่ Fly Beyond ก็จะเห็นว่าเรามีการขายเที่ยวบินไปมาดริก ยุโรป เปิดตัว 999 บาท หรือแม้แต่การขายตั๋วเครื่องบินข้ามภาคของสายการบินไทยเวียตเจ็ท เราก็ทำได้ ซึ่งเราได้ทำงานร่วมกับKiwi (OTA จากยุโรป) ทำให้ขายตั๋วเครื่องบินทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ มากว่า 700 สายการบิน มากกว่า 3 พันเดสติเนชั่น และต่อไปก็จะเห็นเราเริ่มทำกับสายการบินเตอร์กิซด้วย
ส่วนการจองโรงแรม ถ้าจองตั๋วเครื่องบินของเรา ก็จะได้ส่วนลดค่าโรงแรมอีก20% การขายกิจกรรม เช่น ดรีมเวิล์ด ราคา 503 บาท การขายดีลสุดคุ้ม เช่น
สตาร์บัค เป็นต้น และไตรมาส 1 ปีหน้า ก็จะเพิ่มโปรดักต์เรื่องการขายเมืองรองด้วย
นอกจากนี้เรายังมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ Virtual และ Multi-city ,Nomad ที่ลูกค้าจะสามารถจองได้ 28 เดสติเนชันใน 1 บุ๊กกิ้ง ตอบโจทย์การเดินทางในหลายเมืองต่อทริป และเลือกเดินทางได้ในราคาที่ประหยัดสุดด้วย
“ปีนี้ธุรกิจสายการบินต่างได้รับผลกระทบจากโควิด ไทยแอร์เอเชีย เองก็คาดว่าตลอดปีนี้จะมีผู้โดยสารอยู่ที่ 9.3 ล้านคนเท่านั้น จากปีที่แล้วที่อยู่ที่ 22.15 ล้านคน ดังนั้นนอกจากการรักษากระแสเงินสด เพื่อยืนระยะให้อยู่ได้รอตลาดจะกลับมา เราก็มองว่าโมเดล airasia.com เป็นสิ่งที่เราวางไว้นานแล้ว แต่ปีนี้เมื่อมี โควิด-19 ก็เป็นตัวเร่งที่ทำให้แพลตฟอร์มนี้เกิดขึ้นได้เร็ว
เพราะทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ต่างได้รับผลกระทบ ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม หรือโปรดักต์ต่างๆ ด้านการท่องเที่ยว ก็พร้อมร่วมมือเสนอราคาพิเศษเข้ามา เพราะถ้าเป็นช่วงธุรกิจดีๆก็อาจจะคุยยาก เพราะเขาก็ขายดี วันนี้ถ้าเราขายได้ก็จะได้ค่าคอมมิชั่น เข้ามาเป็นรายได้ ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีอย่างโปรดักต์ SNAP ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สาสมารถขายห้องพักได้ถึง 7 พันกว่ารูมไนท์” นายสันติสุข คล่องใช้ยา ซีอีโอสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าว
ดังนั้น airasia.com จึงไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการปรับตัวจากโควิด แต่เป็นกลยุทธ์ของโอกาสในการสร้างรายได้ที่เกิดขึ้นของแอร์เอเชียที่วางไว้นานแล้ว โดยมีโควิ-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดโครงการนี้ได้เร็วขึ้นนั่นเอง
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,633 วันที่ 6 - 9 ธันวาคม พ.ศ. 2563