เมืองพัทยาพลิกวิกฤต เดินหน้าบูรณาการความร่วมมือรัฐ-เอกชน ขับเคลื่อนแผน “นีโอ พัทยา” สร้างภาพลักษณ์ใหม่ สู่มหานครระดับโลก ภายใต้กรอบวงเงิน 8 หมื่นล้านบาท
โฟกัสลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แก้ปัญหาน้ำท่วม ปั้นพื้นที่1.6 แสนตรม.รอบแหลมบาลีฮาย เป็นศูนย์ธุรกิจ-สันทนาการ ยกเครื่องเกาะล้าน-นาเกลือยกระดับการท่องเที่ยวชุมชน
ท่ามกลางโควิด-19 แม้จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา ที่คาดว่าในปีนี้เมืองพัทยาจะมีนักท่องเที่ยวอยู่ราว 4-4.5 ล้านคนเท่านั้น จากปกติที่ก่อนโควิด จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวกว่า 15 ล้านคน เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 10 ล้านคน และคนไทย 5 ล้านคน สร้างรายได้ท่องเที่ยวกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท
จากวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ในขณะนี้นอกจากเมืองพัทยาจะทยอยหันมาจัดกิจกรรมต่างๆเพื่อกระตุ้นไทยเที่ยวไทย และหวังว่าปีหน้าถ้ามีวัคซีนการเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาเที่ยวจะคลี่คลายขึ้น
อีกทั้งเมืองพัทยายังเดินหน้าบูรณาการความร่วมมือรัฐ-เอกชน ขับเคลื่อนแผน “นีโอ พัทยา” สร้างภาพลักษณ์ใหม่ สู่มหานครระดับโลก ภายใต้กรอบวงเงิน 8 หมื่นล้านบาท ผ่าน 7 โครงการ ซึ่งเป็นการบูรณาการงบร่วมกันของหลายหน่วยงาน คาดน่าจะเริ่มเห็นภาพในปี65
ไม่ว่าจะเป็นเมืองพัทยา,กรมเจ้าท่า,งบบูรณาการของอีอีซี,กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น และยกเว้นการลงทุนในระบบขนส่งมวลชนสาธารณะแบบโมโนเรล เชื่อมระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ 3 สายทาง จะเป็นรูปแบบร่วมลงทุน PPP
นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า การพัฒนาเมืองพัทยา ปัจจุบันจะอยู่ภายใต้ “นีโอ พัทยา” หรือพัทยาโฉมใหม่ จะมุ่งใน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่เศรษฐกิจ ,สังคม,วัฒนธรรม,สิ่งแวดล้อม,การบูรณาการจัดการ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตในชุมชน
โดยเป็นการใช้งบลงทุนในช่วงปี63-66 ในการแก้ปัญหาต่างๆในพัทยา โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่ได้ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง จัดทำระบบบริหารจัดการน้ำ ทั้งทางระบายน้ำ ระยะทาง 110 กิโลเมตร และบ่อหน่วงน้ำขนาดยักษ์ จะมีการลงทุนรวมกว่า 5 เฟสมูลค่าการลงทุน 17,800 ล้านบาทซื่งได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทยแล้ว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
พัทยา ปรับโฉมใหม่ เกาะล้าน-โอลด์ทาวน์นาเกลือ 32 โครงการเฉียดพันล้าน
เบื้องต้นเห็นชอบโครงการหลัก ที่จะจัดลำดับใน 3 โครงการ ใช้งบราว 3,800 ล้านบาท ได้แก่การระบายน้ำจากพัทยาเหนือ-กลาง ใช้งบ 1,300 ล้านบาท แยกพัทยาใต้ 1,800 ล้านบาทและบริเวณถนนเทพประสิทธิ 700 ล้านบาท
รวมไปถึงการซ่อมเสริมทรายขยายพื้นที่ชายหาดพัทยาเหนือ-ใต้ 2,800 เมตร กว้าง 35 เมตร ขณะนี้ทำเสร็จแล้วทำให้นักท่องเที่ยวมีพื้นที่ในการทำกิจกรรมได้มากขึ้น และกำลังอยู่ระหว่างเพิ่มพื้นที่ชายหาดจอมเทียน ลงทุน 1,200 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี แล้วเสร็จปี66
โครงการพัฒนาพิ้นที่บริเวณท่าเรือพัทยาใต้ หรือ ท่าเรือบาลีฮาย วงเงิน 6 พันล้านบาท ที่จะมีการพัฒนาครูซ เทอร์มินัล ของกรมเจ้าท่า การพัฒนาท่าเรือ การเชื่อมต่อวอล์คกิ้งสตรีท ครอบคลุมพื้นที่ 1.6 แสนตรม. วงเงิน 4 พันล้านบาท ที่จะเป็นศูนย์ธุรกิจและนันทนาการครบวงจรของเมืองพัทยา ที่ส่วนหนึ่งจะเป็นการลงทุนแบบPPP
การพัฒนาพื้นที่ย่านตลาดนาเกลือ หรือ โอลด์ทาวน์ นาเกลือ รวมกว่า 11 โครงการ วงเงินงบประมาณ 425 ล้านบาท เพื่อสร้างมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวชุมชนวิถีประมงพื้นบ้าน
ที่นี่มีจุดเด่นเรื่องตลาดซีฟู้ด ทำให้เมืองพัทยา มีแผนพัฒนาพื้นที่ โดยจะก่อสร้างอาคารจอดรถสูง 5 ชั้น จอดรถได้ 239 คัน ชั้นดาดฟ้าจัดให้เป็นสวนดาดฟ้าชมวิวอ่าวนาเกลือ โครงการพัฒนาตลาดขายอาหารสด ให้เกิดการจัดระเบียบ รองรับนักท่องเที่ยว
การปรับปรุงสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ การก่อสร้างเส้นทางเดินชมธรรมชาติตลาดลานโพธิ์-จุดชมทัศนียภาพปากคลองนาเกลือและคลองนกยาง การสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าโกงกางคลองนกยาง ที่เป็นป่าชายเลนผืนเดียวในพัทยา การสร้างท่าเทียบเรือประมงชุมชนนาเกลือ การอนุรักษ์อาคารไปรษณีย์เก่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเกาะล้าน หรือนีโอ เกาะล้าน ผ่าน 21 โครงการ วงเงิน 350 ล้านบาท เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวของเกาะล้าน เพราะก่อนโควิด จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวถึง 5 ล้านคน ที่ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางแบบวันเดย์ทริปเข้ามาเที่ยว วันหนึ่งมีนักท่องเที่ยวเข้ามากว่า 1 หมื่นคน ทำให้พื้นที่เกาะล้านเป็น 1 ในพื้นที่เศรษฐกิจของพัทยา
โดยในจะมีแผนปรับปรุงท่าเทียบเรือ ที่มีอยู่ 2 แห่ง คือท่าเทียบเรือหน้าบ้าน-ท่าเทียบเรือหาดตาแหวน ซึ่งมีอายุใช้งานกว่า 20 ปีแล้ว การสร้างท่าเรือสำหรับขนส่ง ที่อยู่ระหว่างการศึกษาพื้นที่ในการลงทุน การลงทุนระบบบำบัดน้ำเสีย เพิ่มอีก 1 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ การจัดการขยะมูลฝอย ตกค้างกว่า 5 หมื่นตัน ที่จะสร้างเตาเผาขยะไร้มลพิษ เผาขยะได้ 50 ตันต่อวัน
การแก้ปัญหาเรื่องน้ำประปา ที่อยู่ระหว่างเลือกแนวทางการประสานกับการประปาส่วนภูมิภาคเดินท่อน้ำประปาลอดใต้ทะเล ระยะทาง 7กิโลเข้ามา หรือจะให้บริษัทอีสต์วอเตอร์ ขยายกำลังการผลิตน้ำประปาเพิ่มจาก 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เป็นไม่ต่ำกว่า 3 พันลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ต้องลดค่าน้ำประปาลง คาดว่าจะสรุปได้ภายในต้นปี 64 การปรับปรุงจุดชมวิวลานกีฬาร่มร่อนหาดตาแหวน เป็นต้น