การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เผย 6 พฤติกรรมโกงเงิน “เราเที่ยวด้วยกัน” ททท.เลื่อนการเพิ่มสิทธิอีก 1 ล้านคืนออกไปก่อน ไล่บี้ตรวจสอบโรงแรม-ร้านค้า รวม 512 แห่งมีธุรกรรมเข้าข่ายทุจริต พบผิดจะดำเนินคดีทั้งแพ่ง-อาญา พร้อมเดินหน้าทบทวนเงื่อนไขการใช้สิทธิภายในภูมิลำเนา เหตุหลังปลดล็อกยอดจองพุ่งจนน่าสงสัย
โครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จากเดิมที่เตรียมจะเพิ่มสิทธิให้อีก 1 ล้านสิทธิ หรือ 1 ล้านคืน ในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ หลังจากห้องพักทั้ง 5 ล้านคืน มีการจองเต็มจำนวนแล้ว แต่เมื่อเกิดกรณีการร้องเรียนเรื่องทุจริตที่เกิดขึ้นในโครงการนี้ ทำให้การเพิ่มสิทธิการจองใหม่ ต้องเลื่อนออกไปก่อน
โดยจากการตรวจสอบของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) และคณะกรรมการตรวจสอบภายใน ที่ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ อาทิ ททท.,กรมสรรพากร,สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เนื่องจาก ททท.ต้องไปตรวจสอบและหารือกับกระทรวงการคลังและธนาคารกรุงไทย ให้ได้ข้อสรุป พร้อมหาทางป้องกันอุดรอยรั่วป้องกันไม่เกิดการทุจริตเกิดขึ้นซ้ำ
ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลที่มีการร้องเรียนการกระทำที่อาจทุจริตต่อโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ททท.พบว่า พฤติกรรมที่เข้าข่ายทุจริต 6 รูปแบบ ได้แก่
1.เช็กอินโรงแรมราคาถูก เช่น โฮสเทล ผ่านแอปพลิเคชันเรียบร้อย แต่กลับไม่ได้เข้าพักจริง และได้ประโยชน์จากการใช้คูปอง (อี-วอยเชอร์) โดยไปร้านค้าที่มีถุงเงินเพื่อสแกนใช้จ่ายค่าอาหารและท่องเที่ยว มูลค่าสูงสุด 900 บาทในวันธรรมดา และสูงสุด 600 บาทหากเข้าพักในวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ (การจองมีทั้งผ่าน/ไม่ผ่านOTA)
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ร้องเรียนโกง "เราเที่ยวด้วยกัน" ถึงหู "บิ๊กตู่" สั่งกลางครม. ดำเนินคดีถึงที่สุด
"เราเที่ยวด้วยกัน" ที่พัก 5 ล้านคืนเต็มแล้ว รอรับสิทธิใหม่ 1 ล้านคืน 16 ธ.ค.นี้
"เราเที่ยวด้วยกัน"เงื่อนไขใหม่พร้อมเปิดให้รับสิทธิ16ธ.ค.นี้
"เที่ยวไทยวัยเก๋า" รอก่อน "เราเที่ยวด้วยกัน"เงื่อนไขใหม่ แซงเข้าครม.8 ธ.ค.นี้
สูงวัยเฮ ศบศ.ไฟเขียว 5 พันบาท “เที่ยวไทยวัยเก๋า”ปรับเกณฑ์ “เราเที่ยวด้วยกัน”
2.โรงแรมขึ้นราคาค่าห้องพักสูงผิดปกติ ทั้งยังรู้เห็นเป็นใจกับร้านอาหารหรือร้านค้าที่รับชำระคูปอง กรณีนี้ถือเป็นการซื้อขายสิทธิ โดยโรงแรมรับซื้อสิทธิ แต่ไม่ได้มีการเดินทางจริง โรงแรมมีถุงเงิน (รับเฉพาะส่วนต่าง 40%) โดยพฤติกรรมดังกล่าวได้อาศัยช่องโหว่ของการที่รัฐบาลปลดล็อกเงื่อนไข ให้สามารถใช้สิทธิเข้าพักโรงแรมและท่องเที่ยวในภูมิลำเนาตัวเองได้ โดยผู้ได้สิทธิรู้เห็นเป็นใจกับโรงแรม ส่งเลขบัตรประชาชน 4 หลักสุดท้ายและเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งสามารถใช้รับรหัส OTP ยืนยันเพื่อโอนสิทธิ ทั้งนี้ 2 รูปแบบแรกเป็นรูปแบบที่ถูกพบมากที่สุด
3.โรงแรมมีตัวตน ลงทะเบียนถูกต้อง แต่ยังไม่กลับมาเปิดบริการ กลับมียอดการขายห้องพัก กรณีนี้พบว่ามีการจองตรงผ่านโรงแรมและตัวแทนทางออนไลน์ (Online Travel Agent : OTA) ด้วย
4.มีการใช้ส่วนต่างของคูปองเติมเงิน เพื่อรับส่วนต่างเต็มจำนวน กรณีร้านค้าเพิ่มราคาอาหารไปมากกว่ามูลค่าอาหาร
5.มีการเข้าพักจริงแบบกรุ๊ปเหมา ตั้งราคาสูง ได้เงินทอนจากโครงการ ส่วนใหญ่เป็นกรณีที่มีการจองตรงกับโรงแรม
6.เปิดให้คนจองเกินกว่าจำนวนห้องพักของโรงแรม อาทิ เป็นโรงแรมที่มีห้องพัก 100ห้อง แต่เปิดขาย300ห้อง
ทั้งนี้มีผู้ประกอบการโรงแรม เข้าข่ายต้องสงสัยมีพฤติกรรมหรือการทำธุรกรรมที่เข้าข่ายทุจริต รวม 312 แห่ง จากโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการรวมกว่า 8,000 แห่ง และมีร้านค้า และร้านอาหาร 202 แห่ง จากร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ 6.5 หมื่นแห่ง ซึ่งแม้จะเป็นส่วนน้อยที่รู้เห็นเป็นใจ ในการโกงเงินดังกล่าว แต่ก็ทำให้เราต้องเข้าไปอุดรอยรั่วดังกล่าว จึงได้เลื่อนการเพิ่มสิทธิการจองห้องพักอีก 1 ล้านห้องออกไปก่อน
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าการทุจริตมีการทำเป็นกระบวนการ และเริ่มเห็นความผิดปกติ ช่วงที่มีการปลดล็อกในหลายเรื่อง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจอง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ หลังจากการปลดล็อกครั้งแรก ที่เปิดให้ใช้สิทธิภายในภูมิลำเนาได้ เพิ่มการใช้สิทธิสูงสุดจาก 5 ล้านคืนเป็น 10 ล้านคืน การขยายระยะเวลาของโครงการ จากสิ้นตุลาคมเป็นมกราคมปีหน้า
หลังการปลดล็อกในครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม ทำให้ยอดจองเพิ่มขึ้น จากในเดือนก.ค.-ส.ค. การยอดจองวันละ 14,000ห้อง เพิ่มมาเป็น 5.4 หมื่นห้องต่อวัน
ตอนนี้ ททท.ทราบรายชื่อโรงแรม ร้านอาหาร และร้านค้าทั้งหมดที่มีพฤติกรรมส่อทุจริตโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ บอกได้แค่ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมขนาดเล็กในต่างจังหวัด แต่ก็มีโรงแรมขนาดใหญ่บางส่วน ด้วยทำเป็นขบวนการ เน้นเล่นเกมสั้น จองล่วงหน้า 3 วัน
จากพฤติกรรมเหล่านี้ ททท.จะดำเนินการตรวจสอบทุจริต กรณีต้องสงสัยอย่างเร่งด่วน แบ่งเป็น 3 กรณี ได้แก่
1.จองแล้วเข้าพักแล้ว จ่ายเงินแล้ว กรณีนี้หากตรวจสอบพบเข้าข่ายพฤติกรรมเข้าข่ายทุจริต จะดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญา
2.จองแล้ว เช็คอินแล้ว ยังไม่ได้จ่ายเงิน จะให้ระงับการจ่ายเงินสำหรับธุรกรรมที่น่าสงสัยออกไปก่อน
3.จองแล้วยังไม่ได้เช็คอิน ยังไม่ได้จ่ายเงิน จะเข้าไปตรวจสอบ
“ผู้ประกอบการที่ทุจริต จะมีการดำเนินคดีถึงที่สุด จากนี้จะเร่งตรวจสอบโดยเร็วที่สุด หากพบว่าทุจริตจริง จะต้องถูกถอดออกจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ขึ้นบัญชีดำ พร้อมดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญา โดยใช้กฎหมายในอัตราโทษขั้นสูงสุด ส่วนประชาชนที่เข้าไปสิทธิกับผู้ประกอบการที่เข้าข่ายทุจริตนี้ ก็จะต้องดูที่เจตนารมย์ ว่าตั้งใจร่วมขบวนการหรือไม่ โดยมีรายชื่อโรงแรมต้องสงสัยรวม 312 แห่ง มีจำนวนผู้ใช้สิทธิ 108,962 สิทธิ และร้านค้ากับร้านอาหาร 202 แห่ง มีผู้ใช้สิทธิ 49,713 สิทธิ”
นายยุทธศักดิ์ ยังกล่าวต่อว่า การอุดรอยรั่วที่เกิดขึ้น ก็อาจทำให้ต้องมีการหารือถึงการปลดล็อกที่ทำไปแล้ว อย่างประเด็นการใช้สิทธิภายในภูมิลำเนา ว่าจะยกเลิกหรือไม่ เพราะประเด็นการให้ใช้สิทธิภายในภูมิลำเนา ก็จะช่วยธุรกิจโรงแรมในกรุงเทพฯ ที่ตอนนี้เปิดขายในลักษณะStaycation อยู่ด้วยเช่นกัน หรือการปลดล็อกครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้น ที่จะเพิ่มสิทธิให้โรงแรมที่ไม่มีใบอนุญาตฯ แต่มีหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีและมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการและพยุงการจ้างงาน ก็อาจจะมีการทบทวนใหม่หรือไม่ ที่จะต้องมีการหารือร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตามอยากวอนให้ผู้ประกอบการอย่าทำผิดจนกระทบภาพรวมทั่วระบบ ทั้งที่รัฐออกโครงการดีๆมาเพื่อกระตุ้นท่องเที่ยวและช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบโควิด-19