หลังคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติ 4:3 อนุญาตให้กลุ่มซีพีควบรวมธุรกิจกับเทสโก้ โลตัส พร้อมกำหนดเงื่อนไข 7 ข้อให้กลุ่มซีพี ต้องปฏิบัติตามเพื่อลดผลกระทบต่อซัพพลายเออร์ ผู้ค้าปลีกรายย่อย ตลอดจนผู้บริโภค
ขณะที่สังคมยังกังขาถึงการมีอำนาจเหนือตลาดและการผูกขาดทางการค้า เมื่ออาณาจักรค้าปลีกของซีพีสยายปีกครอบคลุมทั้งค้าส่งอย่างแม็คโคร ร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่น และล่าสุดไฮเปอร์มาร์เก็ตอย่างเทสโก้ โลตัส
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า การที่กขค. มีมติอนุญาตให้กลุ่มซีพีควบรวมกับเทสโก้ โลตัสได้นั้น จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เพราะประกาศของกขค. มีหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาดที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน ซึ่งหลังการควบรวมครั้งนี้ จะทำให้ซีพีครองส่วนแบ่งตลาดถึง 83.97% เกินกว่าที่กำหนด จึงน่าจะเป็นธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด
“มูลนิธิไม่เห็นด้วยอย่างมากกับเสียงข้างมากที่ทำให้การควบรวมครั้งนี้สำเร็จ เพราะจะส่งผลต่อธุรกิจโดยรวมของประเทศ รวมไปถึงเรื่องของความมั่นคงต่าง ๆ และการจำกัดทางเลือกของผู้บริโภค ซึ่งมูลนิธิจะดำเนินการฟ้อง และอยากเห็นผู้ประกอบการธุรกิจรายเล็ก หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบชัดเจนมาเป็นผู้ร่วมฟ้องคดี”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ผูกขาด-ถอนทุน’ปมร้อน เขย่า“ซีพี”ควบรวมโลตัส
ก้าวต่อไปหลังไฟเขียว “ซีพี”ควบ “เทสโก้โลตัส”
อย่างไรก็ดี มูลนิธิยังไม่เห็นคำวินิจฉัยของกขค. ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กขค. ต้องดำเนินการ และเรื่องนี้ไม่ควรจะยึดเวลาถึง 60 วัน เนื่องจากเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และส่งผลกระทบที่เป็นรูปธรรมต่อผู้บริโภค
ร้องระงับคำวินิจฉัย
ด้านนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ยังมีช่องทางที่จะยุติหรือระงับชั่วคราวของคำวินิจฉัยไว้ก่อน คือ การยื่นเรื่องไปยังศาลปกครอง ให้มีการหยุดเรื่องไว้ชั่วคราว แต่กรรมาธิการไม่สามารถดำเนินการได้ ต้องเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเรื่องนี้ เช่น ผู้บริโภค สมาคมค้าปลีก หรือร้านค้ารายย่อย
“หลังจากที่กรรมาธิการฯ ได้เชิญกขค. ซัพพลายเออร์ เข้ามาพูดคุยก็พบว่ามีหลายเรื่องที่น่ากังวล เพราะเหตุการณ์การควบรวมที่เคยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีซีพีซื้อกิจการแม็คโคร หรือบิ๊กซีซื้อกิจการคาร์ฟู ซัพพลายเออร์หลายรายก็ต้องกลืนเลือด ดังนั้นนอกจากกรรมาธิการฯจะสนับสนุนให้ยื่นเรื่องต่อศาลปกครองแล้ว จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบ หลังการควบรวมแล้วว่าอาจจะมีการกระทำที่ทำให้เกิดการค้าไม่เป็นธรรมด้วย”
โอกาสทุนใหญ่ฮุบค้าปลีก
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า การอนุญาตให้ควบรวมกิจการกันได้ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสของนายทุนรายใหญ่และเป็นวิกฤติของนายทุนรายย่อย และช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยก็จะเพิ่มมากขึ้น ส่วนเรื่องของโครงสร้างราคา ถามว่าจะลดราคาไปเพื่ออะไร เพราะทั้งตลาดมีอยู่เจ้าเดียว ที่ครอบครองตลาดไว้ทั้งหมด มีสินค้าและบริการมากมาย ร้านเปิด 24 ชม. มีบริการดีลิเวอรี ครอบคลุมหมดแล้ว นโยบายของรัฐไม่สามารถควบคุมได้ ดูแลผู้ประกอบการรายย่อยไม่ได้ จึงควรมีคณะทำงานขึ้นมาดูแลแก้ไขการทำงานตรงนี้
“เงื่อนไข 7 ข้อที่กขค. กำหนดมาก็เหมือนนํ้าจิ้ม ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบว่าซีพีปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือไม่ วันนี้ร้านค้าย่อยต้องอดทน และจะหายไปตามอายุขัย ส่วนซัพพลายเออร์ก็ต้องอยู่แบบภาวะจำนน อนาคตตลาดจะแคบลงและอยู่ในมือ 3-4 ตระกูล
ทุนขอนแก่นร่วมฟ้อง
นายนริศร จรรยานิธัศน์ นายกสมาคมคุ้มครองการทำกินของคนไทย และเจ้าของร้านเกียรติสิน โฮลเซล อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า สมาคมจะยื่นฟ้องศาลปกครองหลังจากที่กขค.อนุญาตให้ซีพีควบรวมเทสโก้ โลตัส ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสาร และเขียนคำร้อง คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1 เดือนและยื่นฟ้องได้ในเดือนมกราคม 2564 อย่างไรก็ดี หากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะยื่นฟ้องก็พร้อมจะเข้าร่วมด้วย
ทั้งนี้ ในวันที่ 2 ธ.ค. สมาคมได้เข้าร่วมกับคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายอันวาร์ สาและ เป็นประธาน รับฟังคำชี้แจงของกขค. ต่อมาในวันที่ 8 ธ.ค. ได้ทำหนังสือไปยังกขค. เพื่อขอสำเนาคำควบรวมธุรกิจ นำมาประกอบคำฟ้อง แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รายละเอียด
“การควบรวมธุรกิจครั้งนี้ ไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการทำธุรกิจซึ่งประเทศไทยไม่มีกฎหมายที่คอยกำกับดูแล ทุนท้องถิ่นไทย ทุนเล็ก หาบเร่ แผงลอย ได้รับผลกระทบไปหมด เมื่อแข่งขันกับเขาไม่ได้ทั้งในด้านทุนทรัพย์ ความรู้ การบริหารจัดการ ก็ควรสร้างกรอบที่จะเข้ามากำกับดูแล เพราะยังมีโชห่วยที่ต้องการพัฒนาและอยากอยู่ในเกมต่อ ก็ต้องช่วยเขาให้เดินหน้า”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 1 ฉบับที่ 3637 วันที่ 20-23 ธันวาคม พ.ศ. 2563