สายการบินจัดว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มากที่สุด และการจะอยู่รอดต่อไปในปี64 ประเทศไทยจะต้องเดินทางอย่างไร “ฐานเศรษฐกิจ” ได้นำเสนอมุมมองของนายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(CEO)สายการบินไทยแอร์เอเชีย
หนึ่งในซีอีโอ ที่ได้เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ในงาน Dinner Talk : Restart Thailand 2021…ขับเคลื่อนประเทศไทย” ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 17 ธันวาคมที่ผ่านมา
โควิด-19ไม่รู้จบเมื่อไหร่
ซีอีโอสายการบินไทยแอร์เอเชีย เปิดใจว่า ในทุกวิกฤติที่ผ่านมาใช้เวลาไม่เกิน 3-6 เดือนนักท่องเที่ยวก็กลับมา แต่วิกฤติโควิด-19 สาหัสที่สุดเราไม่รู้เลยว่าจะจบเมื่อไหร่ จบอย่างไร มีเรื่องใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าไร เราได้รับผลกระทบตั้งแต่เริ่มต้น เริ่มจากยกเลิกเที่ยวบินไปเมืองอู่ฮั่น และยกเลิกเที่ยวบินต่างๆตามข้อจำกัดแต่ละประเทศในการงดห้ามเดินทาง ทำให้เราต้องหยุดบินเส้นทางบินระหว่างประเทศ คงเฉพาะเส้นทางบินภายในประเทศ
กระทั่งในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำกัดการเดินทาง ทำให้ในเดือนเมษายน สายการบินต้องหยุดให้บริการ 100% เป็นเดือนที่เครื่องบินของสายการบินไทยแอร์เอเชียจำนวน 60 ลำจอดนิ่งสนิท พนักงานอยู่บ้าน ไม่มีรายได้เข้า
บริษัทเลยสักบาทเดียว แต่ก็ทำให้เราเรียนรู้เรื่องของการดูแลสุขอนามัย ป้องกันตัวทั้งพนักงาน ผู้โดยสาร เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เครื่องบิน เช็คอิน เราทำได้ก่อน จากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งไทยแอร์เอเชีย เป็นสายการบินแรกที่เปิดบินไปยังอู่ฮั่น เพื่อนำคนไทยกลับบ้าน จากนั้นก็มาดูเรื่องของธุรกิจหรือเศรษฐกิจ ซึ่งจากเดือนเมษายนที่เรานิ่งสนิท ก็กลับมาเปิดบินในประเทศเดือนพฤษภาคม ทำการบินได้ราว 8-9% จากกำลังการผลิตที่ทำได้
เราดูเรื่องการบริหารจัดการสภาพคล่อง กระแสเงินเข้า-ออก มีการเจรจากับพาร์ทเนอร์ต่างๆผู้ให้เช่าเครื่องบิน ผู้ให้บริการต่างๆ ซึ่งทอท.ก็พิจารณาช่วยเหลือทุกสายการบิน การจัดบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของพนักงาน หลายคนก็ทำงานอยู่บ้าน ลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือน ซึ่งก็ทำมาตลอด
กระทั่งในเดือนกรกฏาคมก็เริ่มดีขั้นเรื่อยๆ จบไตรมาสสุดท้าย ขณะนี้การใช้เครื่องบินเริ่มกลับมาให้บริการเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ ซึ่งในเดือนธันวาคม2563 เรามีที่นั่งการจองเที่ยวบินภายในประเทศกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนมกราคมปี2562 ซึ่งอยู่ที่ 4 ล้านที่นั่งต่อเดือน และทุกสายการบินก็กลับมาทำการบินในประเทศใกล้เคียงกับก่อนโควิด
แต่มันก็ยังไม่ปกติ เพราะที่ผ่านมาไทยแอร์เอเชีย มีสัดส่วนเที่ยวบินภายในประเทศอยู่ที่ 60% เที่ยวบินระหว่างประเทศ 40% แต่เที่ยวบินในประเทศ ในจำนวนนี้ก็จะเป็นการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาใช้บริการเที่ยวบินในประเทศด้วย
ดังนั้นจากตลาดต่างประเทศที่หายไป ก็ทำให้สายการบินมีรายได้แค่ 30-40% ของรายได้ปกติ แต่เรามีต้นทุนFix-Cost อยู่
โดยสายการบินยังคงรอความหวังการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนจากรัฐบาล ที่สายการบินต่างๆขอวงเงินรวมกัน 1.4 หมื่นล้านบาทเพื่อพยุงการจ้างงาน ในเมื่อยังไม่ถูกปฏิเสธ เราก็ยังรอความหวังอยู่ และเราก็กำลังดูว่าบริษัทเราจะมีคนเหลือทำงานกี่คน
ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น และอยากจะขอนำเสนอ ธุรกิจการบินต้องอยู่ได้ โดยสหประชาชาติก็เห็นว่าธุรกิจการบินมีความสำคัญมาก ในการเริ่มต้นการฟื้นตัว โลกจะกลับมาได้ด้วยธุรกิจการบิน เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ เมื่อเรามีวัคซีน ธุรกิจการบินจะทำหน้าที่ในการกระจายวัคซีนก่อน ในไทยก็มีการผลิตวัคซีน เราเป็นฮับวัคซีนได้ โดยธุรกิจการบินจะขนส่งรวดเร็ว ทันเวลา ควบคุมอุณหภูมิ การจัดส่งมีเทคโนโลยีทันสมัยรวดเร็ว
ต่อมาคือการสนับสนุนด้านเศรษฐกิจ เพราะการเดินทางคือการจับจ่ายใช้สอย และรัฐบาลก็พยายามส่งเสริมในการเดินทาง เมื่อมีการเดินทาง ก็จะมีการกระจายรายได้ไปสู่จุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวเดินทางไป เศรษฐกิจก็จะไปได้
3 แนวทางรีสตาร์ไทยแลนด์
ผมขอนำเสนอการ Restart Thailand ในรูปแบบที่ว่า ไทยต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ บางคนมองว่านักท่องเที่ยวจะไม่กลับมาเหมือนเดิม ที่จะมากัน 40 ล้านคน สร้างรายได้2ล้านล้านบาท ในอนาคตนักท่องเที่ยวน้อยลงแต่จ่ายมาก ผมมองว่าอาจเกิดในอนาคตอันไกล แต่ในระยะใกล้ ตอนนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่มากพอก่อน เพราะโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยถูกออกแบบมาแบบนั้น
ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิรองรับ 60 ล้านคน สนามบินดอนเมืองรับได้ 40 ล้านคน และกำลังอยู่ระหว่างพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา เป็นสนามบินแห่งที่ 3 ของกรุงเทพ ทั้งหมดนี้ถูกสร้างมาเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นักเดินทางที่เข้ามา ไทยยังเป็นเอวิเอชั่น ฮับที่สิ่งสำคัญ เราจะเสียตำแหน่งนี้ไม่ได้ ยังไงก็ต้องเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา
การเปิดประเทศจะทำอย่างไรนั้น เบื้องต้นมีข้อเสนอแนะ 3 ข้อ ที่ต้องดำเนินการควบคู่กับการรักษาสมดุลการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้แก่
1.Get Ready ทำอย่างไรให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอยู่ได้ นี่เป็นเหตุผลที่สายการบินต่างๆของซอฟต์โลน เพื่อประกอบธุรกิจและรักษาบุคคลากรไว้ให้ได้ อย่าง นักบิน มีความสามารถเฉพาะทาง ถ้าลดค่าใช้จ่าย เลิกจ้าง เมื่อเราพร้อมกลับมา กว่าทราฟฟิกจะกลับมาได้ต้องใช้เวลานาน โรงแรม ขนส่ง สนามบิน ก็อยู่ไม่ได้ด้วย ทุกอย่างโยงกันหมด
2.Promote Safety เป็นสิ่งที่ประเทศไทยทำได้ดี ก็ทำต่อไป เรื่องของ Public Health Policy นโยบายสาธารณสุขยังคงต้องไว้ ให้ต่างชาติเห็นว่าปลอดภัย รักษามาตรฐานการดูแลของสาธารณสุข เรื่องของ วัคซีนที่ไทยจะสามารถผลิตเองได้เองในกลางปีหน้า และความสามารถในการผลิตก็ได้ 200 ล้านโดสต่อปี เราจะเป็นฮับ กระจายวัคซีน (วัคซีน ฮับ)ไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้
3.Build Infrastructure เมื่อไทยมีความพร้อมทางด้านวัคซีน ก็จะมีการทัวร์เข้ามาเพื่อฉีดวัคซีนในไทย และเที่ยวต่อในไทย ซึ่งจะเป็นธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้น การพัฒนาการให้บริการของโรงพยาบาล เมดิคัล เซอร์วิสต่างๆในไทย ก็พร้อมที่จะรองรับ และดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบติดเชื้อไวรัสโควิดเข้ามารับบริการวัคซีนในไทย
อีกทั้งในอนาคตกฏการบินจะต้องมีเรื่องของ Health Condition Verification ซึ่งผู้โดยสารที่ขึ้นเครื่องบินการเดินทางระหว่างประเทศ จะต้องได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งก็จะมีระบบดาต้า แพลตฟอร์มวีซ่า รวบรวมข้อมูล
นอกจากนี้เรายังกระตุ้นเศรษฐกิจ ชวนให้เกิดการเดินทางเที่ยวในประเทศ ซึ่งจะเดินทางไปกับสายการบินไหนของไทยก็ได้ แต่ขอให้เที่ยวเพื่อใก้กำลังใจ และกระจายรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านโปรโมชั่น “เที่ยวช่วยไทย”
ทั้งหมดเป็นข้อเสนอ ถึงแนวทาง Restart Thailand 2021…ขับเคลื่อนประเทศไทยในมุมมองของซีอีโอไทยแอร์เอเชีย
หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,638 วันที่ 24 - 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
7 แอร์ไลน์ รอความหวังซอฟท์โลน 1.4หมื่นล้าน ไทยแอร์เอเชีย ดันสร้างรายได้ airasia.com
แอร์เอเชีย กรุ๊ป ทรานฟอร์มธุรกิจครั้งใหญ่ ต้องเป็นมากกว่าสายการบิน
"ไทยแอร์เอเชีย" จัดหนัก เที่ยวช่วยไทย ลดทันที 30% ทุกที่นั่ง
ไทย ติดอันดับ 2 เที่ยวบินมากสุดในอาเซียน "ไทยแอร์เอเชีย" แชมป์ในไทย