ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงท้ายปี 2563 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วยบริษัทที่ปรึกษา เดินสายเปิดประชุมรับฟังความเห็นประชาชนต่อโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค เส้นทางกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ระยะที่ 2 (ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย) ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 2 ตามแนวสายทาง วันที่ 22-25 ธันวาคม ที่นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย
เป็นการประชุมครั้งที่ 2 เพื่อนำเสนอ ผลการศึกษาของโครงการ ผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม จากที่ได้รับฟังข้อเสนอในการประชุมครั้งแรก พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุม
รายละเอียดโครงการช่วงนี้ ระยะทางรวม 356 กิโลเมตร เป็นทางรถไฟระดับพื้น 185 กิโลเมตร และเป็นทางรถไฟยกระดับระยะทาง 171 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนประมาณ 250,000 ล้านบาท มีสถานีรถไฟทั้งสิ้น 5 สถานี ประกอบด้วย สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี สถานีหนองคาย
มีสถานีขนถ่ายสินค้า 1 แห่ง บริเวณสถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุงที่เชียงรากน้อย จ.พระนคร ศรีอยุธยา และที่นาทา จ.หนองคาย พร้อมด้วยหน่วยซ่อมบำรุงทาง 4 แห่ง ที่สถานีบ้านมะค่า จ.นครราชสีมา สถานีหนองเม็ก จ.ขอนแก่น สถานีโนนสะอาด จ.อุดรธานี และสถานีนาทา จ.หนองคาย มีจุดย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard) และย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) 1 แห่ง ที่นาทา จ.หนองคาย
ใช้ความเร็วสูงสุดในการเดินรถ 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่งผลให้การเดินทางจากกรุงเทพมหานครถึงหนองคายใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 15 นาที
ด้านผลการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมการพัฒนาเฉพาะช่วงนครราชสีมา-หนองคาย พบว่ามีความเหมาะสมคุ้มค่าโดยคิดเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 11.24% ส่วนผลวิเคราะห์ ความเหมาะสมการพัฒนาทั้ง 2 ระยะ (กรุง เทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย) คิดเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 12.10 %
ขั้นตอนหลังศึกษาโครงการแล้วเสร็จ รฟท.จะเริ่มดำเนินการขออนุมัติดำเนินโครงการ และออกร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในปี 2564 จากนั้นจะดำเนินการประกวดราคา สำรวจรายละเอียดอสังหาริมทรัพย์ และเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธา ในปี 2565 โดยจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 48 เดือน จากนั้นจึงเป็นงานติดตั้งระบบ โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2566 ใช้ระยะเวลาการดำเนินการ 66 เดือน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2572
หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,641 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2564