พลิกกลยุทธ์ ‘ไมเนอร์ ฟู้ด’  ฝ่าวิกฤติโควิด ระลอกใหม่

15 ม.ค. 2564 | 20:30 น.

ถอดบทเรียน “ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป” เดินหน้าฝ่าโควิด-19 ชู Delivery-Take Away รักษาฐานลูกค้า พร้อมปรับกลยุทธ์ตลาดพัฒนานวัตกรรมสินค้า บรรจุภัณฑ์รับไลฟ์สไตล์นิว นอร์มอล ลุ้นปัจจัยบวกครึ่งปีหลัง ทั้งการแพร่ระบาดที่ลดลง เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดันรายได้ปี 64 ฟื้นตัว 

นอกจากธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมสายการบินที่ได้รับผลกระทบหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจร้านอาหารก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นกัน แม้จะไม่หนักหนาสากรรจ์เท่ากับธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม สายการบิน แต่เรียกว่า “อ่วม” ทำให้วันนี้หลายบริษัทต้องเร่งปรับตัว รวมถึง “เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป” หนึ่งในเชนร้านอาหารยักษ์ใหญ่ที่มีสาขาทั้งในไทยและอีกกว่า 20 ประเทศทั่วโลก

 

นายประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเชนร้านอาหาร อาทิ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, ซิซซ์เลอร์, เบอร์เกอร์ คิง ฯลฯ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เช่นกัน ซึ่งยอมรับว่าในช่วงที่ระบาดรอบแรก อาจจะมาแบบไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะการล็อกดาวน์ประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ ขณะที่ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้าต้องหยุดให้บริการชั่วคราวเหลือเพียงดีลิเวอรีและเทค อะเวย์ เท่านั้น

 

กลุ่มธุรกิจ “ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป”

 

“บริการในร้านอาหารทั้ง 4 ช่องทางคือ การรับประทานในร้าน (dine-in) , ซื้อกลับบ้าน (take away), บริการจัดส่ง (Delivery) และการขับรถเข้ามารับ (Drive-thru) ต้องมีรูปแบบเมนูอาหาร การบรรจุภัณฑ์ รวมถึงบริการในแต่ละช่องทางก็มีความแตกต่างกัน ซึ่งหลังการเกิดโควิด ทำให้มีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น”

 

ต้องยอมรับว่าอาหารบางประเภท หาก take away หรือ delivery รสชาติจะไม่อร่อยเท่ากับการนั่งทานในร้าน ขณะที่กลุ่มลูกค้าสำคัญของไมเนอร์ ฟู้ดคือนักท่องเที่ยวต่างชาติก็หายไป กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ไมเนอร์ ฟู้ด ต้องเผชิญ

 

“ผู้บริโภคขาดความมั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย ทำให้แผนการดำเนินงานต้องกลับไปอยู่ในสถานการณ์เดิมเช่นเดียวกับการระบาดของโควิดในรอบแรก ซึ่งแน่นอนว่า เรื่องของความสะอาด ปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับแรก ทั้งภายในร้าน ตัวพนักงาน ซึ่งในร้านของเรา เช่น ซิซซ์เลอร์ เริ่มให้บริการแบบ Zero Touch ด้วยการใช้หุ่นยนต์ในการเสิร์ฟอาหาร การหันไปโฟกัสเรื่องของดีลิเวอรีและเทค อะเวย์ เพื่อลดการนั่งทานในร้าน”

 

“ประพัฒน์” บอกว่า นโยบายของไมเนอร์ ฟู้ด เริ่มชัดเจนขึ้นในครึ่งหลังของปี 2563 หลังจากที่โควิด รอบแรกจบไป แต่เมื่อการระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม แม้ครั้งนี้จะไม่เซอร์ไพร์สนัก เพราะทุกประเทศมีแผนรองรับ แต่ไตรมาส 1 ของปีถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของธุรกิจร้านอาหาร เมื่อต้องหยุดชะงักย่อมส่งผลกระทบ

 

ขณะที่การขยายการลงทุน ในภาวะเช่นนี้ก็ต้องพิจารณามากขึ้น โดยสาขาที่ลงทุนในห้างหรือศูนย์การค้าอาจจะต้องชะลอไป แต่สาขาที่อยู่นอกห้างเช่น สถานีบริการน้ำมัน หรือในรูปแบบสแตนด์ อะโลน ยังมีการลงทุนต่อเนื่อง ซึ่งแบรนด์ที่มีศักยภาพและตอบโจทย์ในทำเลเหล่านี้ ก็มีทั้ง เบอร์เกอร์คิง, บอนชอน เป็นต้น

 

“ในปีที่ผ่านมาแม้จะต้องเจอกับโควิด แต่หลายแบรนด์มีการเติบโตที่ดี เช่น เดอะ พิซซ่า คอมปะนี ที่มียอดขายเป็นบวก จากการให้บริการดีลิเวอรี และไดร์ฟ ทรู ขณะที่ในสาขาที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยว มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นทัวริสต์ อีกจำนวนหนึ่งยังไม่เปิดให้บริการ”

 

“ประพัฒน์” บอกว่า ในช่วงโควิด ทำให้เห็นมาร์เก็ตติ้งใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะแบรนด์เองต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์ หากจะใช้การตลาดแบบเดิมๆ เช่น ป้ายโฆษณา ใน 6-7 จังหวัดที่มีการล็อกดาวน์บางพื้นที่ ก็อาจจะไม่ส่งมากนัก เพราะผู้คนไม่ได้ออกมาสัญจรนอกบ้าน จึงต้องหันมาใช้ Digital Marketing หรือ Targeted Marketing เพื่อเจาะเข้าถึงลูกค้าโดยตรงให้มากที่สุด

 

นอกจากนี้จะเห็นบริการใหม่ที่แจ้งเกิดจากภาวะวิกฤติในครั้งนี้ คือ 1112 delivery แอพพลิเคชั่นที่ไมเนอร์ ฟู้ด พัฒนาขึ้นเพื่อให้บริการจัดส่งอาหารจากร้านอาหารแบรนด์ต่างๆ ของไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ให้กับลูกค้า ซึ่งปัจจุบันได้เพิ่มบริการจัดส่งจากร้านอาหารภายนอกด้วย และในปีนี้จะเห็นแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามามากขึ้น รวมทั้งมี co partner ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น และการร่วมกันจัดทำโปรโมชั่นใหม่ๆ

 

“วันนี้จะเห็นการใช้งบการตลาดที่น้อยลง มีการจัดสรรงบ การใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น จะเห็นการใช้ Micro influencer มากขึ้น เพราะเราจะยกทุกอย่างไปอยู่ในทีวีเหมือนในอดีตไม่ได้ เพราะวันนี้คนดูทีวีน้อยลง”

 

ความท้าทายของไมเนอร์ ฟู้ดในวันนี้คือ การลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายต่างๆที่ไม่จำเป็นลง แต่คุณภาพของสินค้าและบริการต้องไม่ลดลง และทำอย่างไรที่จะเดินหน้าธุรกิจต่อไป แม้ปีนี้ไมเนอร์ ฟู้ด มีเป้าหมายที่จะเติบโตให้ได้ 6% ซึ่งเป็นเป้าหมายที่วางไว้ก่อนเกิดการระบาดระลอกใหม่ แต่บริษัทก็ยังเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็ง และเชื่อมั่น โดยเฉพาะในครึ่งปีหลังที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายลง รวมทั้งการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวได้ ถือเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ที่เชื่อว่าหลายธุรกิจต่างก็รอคอย 

 

ที่มา : หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,645 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 “เดอะ พิซซ่าฯ” โหมดีลิเวอรี รับ WFH 

ไลฟ์บอยผนึกไมเนอร์ สั่งดีลิเวอรีแจกเจลแอลกฮอล์

3 บิ๊กค้าปลีก ปรับแผนตลาด ฝ่าวิกฤติระลอกใหม่

โยกงบ-กู้เพิ่มเยียวยาโควิดรอบ 2 เอกชนจี้สำรองเงิน เหลือไม่พอฟื้นเศรษฐกิจ

www.เราชนะ.com เว็บไซต์ "เราชนะ" เยียวยา 3500 บาท ยืนยันลงทะเบียนไม่ยุ่งยาก