7 แอร์ไลน์รอดตาย รัฐหนุนซอฟต์โลน จ้างต่อ 1.5 หมื่นคน

22 ม.ค. 2564 | 20:00 น.

พนักงานสายการบิน 1.5 หมื่นคนจาก 7 สายการบินรอดตกงาน ล่าสุดเอ็กซิมแบงก์ รับลูกรมว.คลัง “อาคม” นำเรื่องเสนอบอร์ดสัปดาห์หน้า โดยแอร์ไลน์ ชงปรับลดวงเงินขอซอฟต์โลนลง50% เหลือ 1.4 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ผ่อนจ่ายเป็นเวลา 5 ปี เบิกจ่ายเป็นเดือนต่อเดือน นำมาจ่ายเงินเดือน

 

หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ สั่งการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ เอ็กซิมแบงก์ ไปเร่งพิจารณาแนวทางความช่วยเหลือธุรกิจสายการบิน ผ่านการให้สินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า(ซอฟต์โลน) หลังจากผู้ประกอบการสายการบินได้ปรับลดความต้องการใช้เงินลงมามากจากที่เคยขอวงเงินไว้ที่ 24,000 ล้านบาท เหลือ 14,000 ล้านบาท เพราะต้องการนำสินเชื่อเพื่อไปจ่ายเงินเดือนพนักงานเท่านั้น

 

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดเงื่อนไขของการปล่อยกู้สินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าให้กับธุรกิจสายการบิน ว่าจะให้วงเงินกู้แต่ละรายเท่าไหร่ อัตราดอกเบี้ย หรือระยะเวลาการปล่อยกู้ รวมถึงกรณีที่จะเกิดความเสียหาย จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ทั้งนี้เงินที่จะปล่อยกู้นั้นจะต้องเป็นไปเพื่อรักษาการจ้างงานเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดการเลิกจ้างเกิดขึ้น

 

“หลังจากได้ข้อสรุปเงื่อนไขรายละเอียดแล้ว เราจะนำเรื่องไปหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เพราะจะเป็นคนกำหนดวงเงินทั้งโครงการว่าจะใช้เท่าไหร่ จะยังเป็น 14,000 ล้านบาทตามที่สายการบินขอมาหรือไม่ จากนั้นจะนำเรื่องเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)ของเอ็กซิมแบงก์ในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด”นายพิศิษฐ์กล่าว

 

อย่างไรก็ตามธุรกิจสายการบินของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แม้จะขาดทุนแต่ก็พอมีสภาพคล่องมาช่วยได้บ้าง จากการเปิดเส้นทางบินภายในประเทศ แต่เมื่อเกิดโควิดระลอกใหม่ ทำให้การเดินทางเที่ยวภายในประเทศหยุดชะงัก ส่งผลสายการบินต้องทยอยยกเลิกและลดเที่ยวบินภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาเรื่องสภาพอย่างมากในขณะนี้

 

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้สายการบินเอกชนของไทย จำนวน 8 สายการบิน ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ไทยสมายล์ ไทยไลอ้อนแอร์ ไทยเวียตเจ็ท นกแอร์ นกสกู๊ต และบางกอกแอร์เวย์ส ได้ เรียกร้องขอให้รัฐบาลสนับสนุนซอฟต์โลนวงเงินรวม 2.41 หมื่นล้านบาทมาตั้งแต่เดือนมี.ค.ปี63 เพื่อใช้เสริมสภาพคล่องและรักษาการจ้างงาน

 

โดยขอจ่ายดอกเบี้ย 2% เป็นระยะเวลา 60 เดือน และขอเบิกเงินงวดแรกเป็นจำนวน25% ของวงเงินกู้ภายใน เม.ย. 2563 เริ่มชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในวันที่ 1 ม.ค. 2564 ซึ่งได้มีการเรียกร้องมาโดยตลอดจนรัฐบาลเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาแล้ว 3 คน ทั้งยังได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ส.ค.63 และทางนายกฯรับปากว่าจะช่วย แต่ก็ยังไม่ได้ 7สายการบินร้องเยียวยา

 

ดังนั้นเมื่อกลางพ.ย.63 สายการบินต่างๆซึ่งเหลืออยู่ 7 สายการบิน ไม่นับสายการบินนกสกู๊ต ที่เลิกกิจการไปแล้ว จึงได้มาการปรับลดการขอวงเงินซอฟต์โลนลง เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาการปล่อยซอฟต์โลนให้สายการบิน โดยไม่เกิดข้อกังขาว่าสายการบินจะสามารถชำระหนี้จ่ายคืนให้รัฐได้หรือไม่ หรือนำเงินไปใช้หนี้อื่นๆ จึงได้ ซึ่งก็ลดลงกว่าเดิมถึง 50% เหลือขอสนับสนุนซอฟต์โลน วงเงินรวม 1.4 หมื่นล้านบาท

 

ทั้งนี้จะเป็นเฉพาะส่วนที่เป็นเงินเดือนของพนักงานของทั้ง 7 สายการบินเท่านั้น ตั้งเดือนธ.ค.63-ธ.ค.64 โดยขอดอกเบี้ย 2% ผ่อนจ่ายเป็นเวลา 5 ปี เบิกจ่ายเป็นเดือนต่อเดือน เพื่อนำมาจ่ายเงินเดือนพนักงาน ซึ่งก็จะทำให้รักษาพนักงานของทั้ง 7 สายการบิน ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ไทยไลอ้อนแอร์ นกแอร์ บางกอกแอร์เวย์ส ไทยสมายล์ ไทยเวียตเจ็ท ที่มีจำนวนรวมกว่า 1.5 หมื่นคนไว้ได้ต่อไป

 

จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ ก่อนหน้านี้ก็ยังไม่มีสัญญาณว่าจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล ก็ทำให้สายการบินต่างๆเริ่มหมดหวัง จนไม่นานมานี้ ไทยแอร์เอเชีย จึงได้ออกมาตรการให้พนักงานลาหยุดไม่รับเงินเดือน2-4 เดือน หั่นค่าจ้างเหลือ 25% และอยู่ระหว่างระดมทุนเพิ่มอีก 3-4 พันล้านบาททั้งการกู้เงินและการเพิ่มทุนเพื่อให้อยู่ได้ถึงสื้นปีนี้ เนื่องจากสภาพคล่องที่มีจะอยู่ได้แค่เดือนมี.ค.นี้ โดยนายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ กล่าวยอมรับมั่นใจว่าจะได้เงินเข้ามาแล้ว คาดว่าจะเปิดเผยได้เร็วๆนี้

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้หลายสายบินก็ทยอยดาวน์ไซส์องค์กร ด้วยการเลิกจ้างพนักงานไปบ้างแล้ว เช่นไทยไลอ้อนแอร์ เลิกจ้างนักบิน-ลูกเรือ อีก 248 คน หลังทยอยคืนเครื่องบินส่งบริษัทแม่ เหลือฝูงบิน 11 ลำจาก35ลำ เพื่อลดค่าใช้จ่าย สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เปิดโครงการร่วมใจจากองค์กรปี63 จ่ายเงินชดเชยสูงสุด 20 เดือน

 

ที่มา : หน้า 1ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,647 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดระลอกใหม่ ทุบแอร์ไลน์พังพาบ วอนรัฐขยายเวลาอุ้ม

ไหวมั้ย ! 8 แอร์ไลน์ไทย ตุนสภาพคล่องถึงปี66 ยืนระยะฝ่าโควิด

4 สนามบินร้าง ไร้เที่ยวบิน100%พิษโควิดระลอกใหม่

ไทยแอร์เอเชีย ระดมทุน 3-4 พันล้านกู้ชีพ หมดหวังซอฟท์โลนรัฐบาล

7 แอร์ไลน์ รอความหวังซอฟท์โลน 1.4หมื่นล้าน ไทยแอร์เอเชีย ดันสร้างรายได้ airasia.com