ดร.ไพศาล การถาง รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เปิดเผยว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.พระนคร และ TCI ประสบผลสำเร็จในการศึกษาวิจัยพืชกัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.พระนคร สามารถวิจัยและพัฒนาจนได้สายพันธุ์กัญชาไทย และได้วิธีการเพาะปลูก ที่เหมาะสมสำหรับการแพทย์ โดยได้สกัด CBD บริสุทธิ์ที่มี THC น้อยกว่า 0.01% ที่เหมาะสมสำหรับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยสามารถนำไปต่อยอดเชิงอุตสาหกรรม และเชิงพาณิชย์ได้
นอกจากนี้ยังได้นำเทคโนโลยีในการปลูกเรียกว่า Plant Tissue Culture และเทคโนโลยีระดับโลกเข้ามาร่วมพัฒนาการปลูก รวมทั้งได้ร่วมลงนามความร่วมมือในการค้นคว้าและพัฒนาวิจัยจากกัญชาเพื่อการแพทย์และพาณิชย์กับบริษัท ไทยคานาเทค อินโนเวนชั่น จำกัด (TCI) และบริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) (TACC) ส่งผลให้มหาวิทยาลัยสามารถควบคุมคุณภาพและผลิตผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชาได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปยังกลางน้ำและปลายน้ำ
ด้าน ดร.เพ็ชร ชินบุตร กรรมการบริหาร บริษัท ไทย คานาเทค อินโนเวชั่น จำกัด (TCI) กล่าวว่า TCI ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร. พระนคร สำหรับความร่วมมือทางวิชาการวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยให้การสนับสนุน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร. พระนคร ในการศึกษาวิจัยพืชกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ทั้ง การปลูก การผลิต แปรรูป นำเข้า จำหน่าย ส่งออกตามแนวทางของ พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ฉบับที่ 7 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562) และประกาศกระทรวงสาธารณสุข
สืบเนื่องจากความมุ่งมั่นของ TCIที่ต้องการให้การศึกษาวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ประสบความสำเร็จและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ และการสร้างรายได้ของประชาชน รวมทั้งการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่ง วันนี้ เราถือว่าประสบความสำเร็จในการวิจัยและกำลังต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์และจะเกิดประโยชน์กับสังคม
นอกจากนี้บริษัทยังได้มีการทำบันทึกความเข้าใจเพื่อร่วมมือทางวิชาการ วิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมการกับโรงพยาบาลสูงเนิน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและเข้าร่วมช่วยเหลือในการศึกษาวิจัยและพัฒนา "กัญชา" เพื่อประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วย การพัฒนาทางการแพทย์ การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก
ขณะที่นายชัชชวี วัฒนสุข ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) (TACC) กล่าวถึงความเป็นมาและความร่วมมือในครั้งนี้ว่า กระแสของผลิตภัณฑ์จากสารสกัด CBD ที่มี THC น้อยกว่า0.02% ซึ่งได้ถูกปลดล็อคจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 424) พ.ศ.2564 ให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ถือว่าเป็น Mega Trend ของธุรกิจ Health and wellness และได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภคในหลายประเทศ
"บริษัทเล็งเห็นศักยภาพของผลิตภัณฑ์จากสารสกัด CBD จึงเข้าสู่กรอบการร่วมมือในครั้งนี้ โดยจะร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสาร CBD ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อออกสู่ตลาด โดยจะใช้สาร CBD ที่ปลูกและสกัดจากความร่วมมือของบริษัท ไทย คานาเทค อินโนเวชั่น จำกัด และ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร. พระนคร เป็นการต่อยอดธุรกิจในเชิงพาณิชย์ พัฒนาและนำผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่เพื่อเตรียมเข้าตลาด ซึ่งจะถือได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญที่ TACC เข้าไปสู่ผู้เล่นในตลาด Health and wellness อย่างเต็มตัว"
ภายใต้การร่วมมือระหว่างมทร.พระนครจับมือ ไทยคานาเทค อินโนเวนชั่น และ TACC ครั้งนี้ยังส่งเสริมให้รัฐวิสาหกิจชุมชนต่างๆได้มีโอกาสสร้างรายได้จากการปลูก"กัญชา-กัญชง"เพื่อการพานิชย์ โดยสนับสนุนทั้งในด้านของพื้นที่การเพาะปลูกที่ตรงตามมาตราฐาน ที่ภาครัฐกำหนดไว้ รวมทั้งสนับสนุนด้านเงินทุน และการรับซื้อผลผลิตจาก"กัญชา-กัญชง" เพื่อนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์Health and wellness ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: