พนักงาน‘การบินไทย’ยื่นเออรี่รีไทร์แล้วไม่ตํ่ากว่า2 พันคน

20 มี.ค. 2564 | 23:05 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มี.ค. 2564 | 02:33 น.

พนักงาน“การบินไทย”ไม่ตํ่ากว่า 2 พันคนยื่นเออรี่หลังเปิดโครงการมาได้ครึ่งทางแล้ว เผยไปต่อก็ลำบาก ทั้งหากไม่ได้งาน ถูกตีตกไปอยู่กลุ่มฟ้าใหม่ แม้จะอยู่ในสัญญาจ้างเดิมแต่ต้องถูกลดเงินเดือนต่อเนื่อง ขณะที่อีกกลุ่มเลือกอยู่เฉยรอถูกเลิกจ้าง ทั้งเดินหน้าปรับโครงสร้างทุนภายใน 60 วัน

ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่จะลดจำนวนพนักงานจาก 1.9-2.1 หมื่นคนในปี 2563 เหลือ 1.3-1.5 หมื่นคน ซึ่งขณะนี้การบินไทยอยู่ระหว่างเปิดให้พนักงานมายื่นความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองพนักงานเข้าสู่โครงสร้างใหม่ (Relaunch)โดยนับอายุงานต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 11-19 มีนาคม2564 ควบคู่ไปกับการเปิดโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร (Mutual Separation Plan : MSP B และ MSP C) หรือ เออรี่รีไทร์

โดย MSP B จะเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้พนักงานที่ได้รับอนุมัติให้เข้าโครงการลาระยะยาว(Leave with 20% pay หรือ LW20)ไปแล้วก่อนหน้านี้สามารถยื่นสมัครใจลาออกได้  ส่วนMSP C จะเปิดให้พนักงานที่ไม่ประสงค์สมัครคัดเลือกเข้าทำงานตามโครงสร้างองค์กรใหม่ หรือพนักงานที่สมัครคัดเลือกเข้าตำแหน่งตามโครงสร้างใหม่แต่ไม่ได้รับคัดเลือก และประสงค์ลาออกจากบริษัท

ที่ผ่านมาหลังเปิดให้ยื่นสมัครทั้ง 2 โครงการพร้อมกันไปแล้ว 2 ช่วง พบว่ามีพนักงานการบินไทยเข้าร่วมโครงการแล้วไม่ตํ่ากว่า 2 พันคนแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดให้ยื่นสมัครในช่วงที่ 3 คือ 17 มี.ค.-1 เมย.นี้ รวมถึงยังมีการยืดระยะเวลาแสดงความจำนงเข้าร่วม MSP B และ MSP C ช่วงที่ 4 จากวันที่ 2-19 เม.ย. 64 ออกไปเป็นวันที่ 2-26 เม.ย.นี้ เพื่อให้พนักงานมีเวลาตัดสินใจ ตามไทม์ไลน์ของกระบวนการกลั่นกรองพนักงานเข้าสู่โครงสร้างใหม่

เนื่องจากการบินไทยจะประกาศรายชื่อพนักงานที่อยู่ในโครงสร้างองค์กรใหม่ในวันที่ 1 เมษายน 2564 ส่วนพนักงานที่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองพนักงานเข้าสู่โครงสร้างใหม่ แต่ไม่มีรายชื่อในโครงสร้างองค์กรใหม่ จะถูกจัดให้อยู่ใน “โครงการฟ้าใหม่

กระบวนการRelaunch

หลังจากวันที่ 4 เม.ย.64 จะทราบว่ามีพนักงานที่มีรายชื่ออยู่ในโครงสร้างองค์กรใหม่แต่ประสงค์สละสิทธิ์หรือไม่ บริษัทจะดำเนินการให้พนักงานอยู่ในโครงการฟ้าใหม่ เข้าไปทดแทน (Replace) พนักงานที่สละสิทธิ์ไม่เข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ตามตำแหน่งและลำดับที่ได้แสดงความจำนงไว้ และประกาศรายชื่อเพิ่มเติมพนักงานที่ได้รับอนุมัติเข้าสู่โครงสร้างใหม่อีกครั้งในวันที่ 22 เม.ย.64

งานในโครงการ “ฟ้าใหม่” ที่ไม่ได้รับการทดแทน (Replace) จะยังคงอยู่ภายใต้สัญญาจ้างเดิมอัตราเงินเดือนเดิม และบริษัทจะขอปรับลดอัตราเงินเดือนระยะหนึ่ง และดำเนินการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ในการทำงาน (Re-skill) เพื่อรอเข้าหน่วยงานที่ยังขาดคนหรือโครงการใหม่ๆ ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อฟื้นฟูกิจการหรือหากมีโครงการอื่นๆ ในอนาคตบริษัทจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายให้พนักงานโดยใช้คำนวณจากเงินเดือนและสวัสดิการเดิม

พนักงาน‘การบินไทย’ยื่นเออรี่รีไทร์แล้วไม่ตํ่ากว่า2 พันคน

แหล่งข่าวยังกล่าวต่อว่า คนที่ตัดสินใจเข้าโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร เป็นเพราะมองว่าหากไปต่อก็ลำบาก เนื่องจากการเปิดให้พนักงานยื่นสมัครงานใหม่ ตามโครงสร้างใหม่ทุกหน่วยงานหรือทุกระดับพบว่ามีตำแหน่งงานลดลงไปจากเดิมมาก อย่างลูกเรือ เคยมีอยู่ 5 พันคนก็ลดลงเหลือ 3 พันคน นักบินจาก1,305 คน เหลือ 905 คน หรือบางแผนก เดิมเคยมีตำแหน่งซีเนียร์ ซุปเปอร์ไวเซอร์ 50 คน ตอนนี้มีต้องการอยู่แค่ 5 คน เป็นต้น

แม้พนักงานจะมีสิทธิ์เลือกสมัครได้ 2 ตำแหน่ง ทั้งสายงานเดิมหรือสายงานอื่น แต่ด้วยความต้องการคนของแต่ละแผนกที่ลดลงจากเดิม การแข่งขันก็สูง ทั้งหากไม่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองตามโครงสร้างใหม่ ต้องเข้าไปอยู่ในโครงการฟ้าใหม่ ก็ยิ่งอยู่ยากไปอีก เพราะในช่วงที่อยู่ระหว่างการRe-skill แม้พนักงานในกลุ่มนี้จะอยู่ในสัญญาจ้างเดิมแต่ต้องถูกลดเงินเดือนต่อเนื่อง

ทำให้หลายคนเลือกเข้าร่วมโครงการMSP แทนเพราะอย่างน้อยก็ได้เงินสำรองเลี้ยงชีพทันที แม้ว่าจะได้รับเงินชดเชยในลักษณะผ่อนจ่าย 12 เดือน และจ่ายก้อนแรกในอีก 5 เดือนนับจากสมัครใจลาออก

ขณะเดียวกันก็จะมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่เลือกจะไม่แสดงความจำนงใดๆเพื่อรอให้บริษัทเลิกจ้างและจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน

อย่างไรก็ตามนอกจากการปรับโครงสร้างองค์กรแล้ว ตามแผนฟื้นฟูการบินไทย ยังจะต้องปรับโครงสร้างทุน การลดทุน และการเพิ่มทุน ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลเห็นชอบด้วยแผน โดยการบินไทยจะลดทุนจดทะเบียนจาก26,989 หมื่นล้านบาทเหลือ 21,827 ล้านบาทโดยตัดหุ้นที่ยังไม่ได้จำหน่าย 516,129,033 หุ้น และจะมีการเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่19,644 ล้านหุ้น (หุ้นละ 10 บาท) จะส่งผลให้ทุนจดทะเบียนใหม่ เป็น 21,828 ล้านหุ้น คิดเป็น 218,277 ล้านบาท

ควบคู่ไปกับการหาเงินทุนใหม่ไม่น้อยกว่า 5 หมื่นล้านบาทในช่วง2-3 ปีนี้ ทั้งการขายหุ้นเพิ่มทุนให้นักลงทุนรายใหม่/ผู้ถือหุ้นเดิม25,000 ล้านบาท การขอสนับสนุนสินเชื่อใหม่จากสถาบันการเงิน/ เจ้าหนี้การบินไทย ราว25,000ล้านบาท และเพื่อรองรับการชำระหนี้ โดยการแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้หุ้นกู้และเจ้าหนี้สถาบันการเงิน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,663 วันที่ 21 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2564 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :