“สงกรานต์ 2564”หงอย พลาดเป้า 1.2 หมื่นล.

09 เม.ย. 2564 | 19:00 น.

โควิดระลอกใหม่ทุบ “สงกรานต์ 2564” หงอยพลาดเป้ารายได้ 1.2 หมื่นล้านบาท หลายพื้นที่ยกเลิก-ลดสเกลจัดงาน โรงแรมถูกยกเลิกห้องพักแล้วราว 10-20% ททท.วาง 3 ซีเนริโอประเมินผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้น สภาฯท่องเที่ยวเร่งรวบรวมมาตรการการกักตัวในแต่ละจังหวัด เพื่อสื่อสารให้คนไทยรับทราบ เผยหลายคนสับสนมีผลต่อการตัดสินใจเดินทาง

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประ เทศไทย (ททท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าททท.อยู่ระหว่างประเมินผลกระทบระยะสั้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่จะส่งต่อการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ 2564 นี้ โดยใด้มอบหมายให้สำนักงานททท.ทั้ง 45 แห่งในแต่ละจังหวัด รวบรวมข้อมูลใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.ประกาศมาตรการเรื่องการกักตัวของแต่ละจังหวัด 2.การจัดงานสงกรานต์ในแต่ละพื้นที่ว่ามีพื้นที่ใดยกเลิกการจัดงานบ้าง 3.การยกเลิกการจองห้องพักที่เกิดขึ้น  เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนในการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น

 เบื้องต้นททท.ได้ประเมินผลกระทบการท่องเที่ยวในช่วงหยุดยาวนี้ โดยแบ่งเป็น 3 ซีเนริโอ ได้แก่ 

ซีเนริโอที่ 1 คนไทยยังคงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเพื่อไปเยี่ยมบ้านแต่เน้นการเดินทางด้วยความระมัดระวังมากขึ้น เพราะเมื่อสงกรานต์ปีที่แล้วก็ไม่ได้กลับบ้านเพราะมีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ส่วนเมื่อช่วงปีใหม่ก็เกิดกรณีโควิดที่จ.สมุทรสาคร      

ซีเนริโอที่ 2 คนบางส่วนก็ยังเดินทางอยู่ แต่อาจเปลี่ยนแปลงจุดหมายปลายทาง ไปเที่ยวในเมืองที่ปลอดภัย โดยเลือกเมืองที่มีผู้ติดเชื้อน้อย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินทางจากเดิมที่อาจเลือกเดินทางระยะไกลมาเดินทางระยะใกล้แทน โดยเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวไปเป็นแบบครอบครัว แทนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ 

ซีเนริโอที่ 3 คนเลือกที่จะหยุดเชื้ออยู่บ้าน โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยวางแผนจะพาผู้สูงอายุ เดินทางไปเที่ยวด้วย ก็คงไม่อยากไปเพราะมีความเสี่ยง รวมถึงเรื่องของความไม่สะดวกจากมาตรการกักตัว หรือรายงานตัว

“ซีเนริโอที่ 1 เป็นสิ่งที่ททท.ประเมินไว้ก่อนเกิดโควิดระลอกใหม่ว่าจะมีการเดินทางเที่ยวในประเทศ 3.20 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 1.2 หมื่นล้านบาท แต่จากการระบาดที่เกิดขึ้นเมื่อประเมิน ณ ขณะนี้ ก็คาดว่ามีแนวโน้มว่าสถานการณ์จะอยู่ในซีนาริโอที่ 2

ดังนั้นก็มีแนวโน้มว่าการเดินทางท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์นี้คงไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ก่อนหน้านี้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจะกินเวลาเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นว่าจะคุมได้รวดเร็วแค่ไหน แต่เบื้องต้นก็คาดว่าจะกระทบราว 1 เดือนนับจากระยะปลอดภัยที่คุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้” นายยุทธศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า การจัดงานสงกรานต์ในปีนี้ในขณะนี้เริ่มมีการทยอยยกเลิกการจัดงานบ้างแล้วในบางพื้นที่ โดยการจัดงานของททท. ในพื้นที่กรุงเทพฯ คือ งานมหัศจรรย์กิจกรรมท่องเที่ยวไทย “สงกรานต์ ริน รด พรม ใส่หน้ากาก ไม่สาดน้ำ Amazing ยิ่งกว่าเดิม ณ ลาน Airport Rail Link มักกะสัน

รวมถึงงาน Amazing Songkran Buriram ที่จ.บุรีรัมย์ ก็มีการยกเลิก ส่วนงานในพื้นที่อื่นๆจะยกเลิกหรือไม่ขึ้นกับนโยบายของผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัด ที่บางจังหวัดก็ยังจัดอยู่แต่ลดกิจกรรมที่เป็นเรื่องของบันเทิง รื่นเริงออกไป เหลือแต่การสรงน้ำพระ เป็นต้น

อีกทั้งการแพร่ระบาดดังกล่าวก็ยังกระทบต่อการตัดสินใจในการเดินทางท่องเที่ยวในสงกรานต์ ที่คนก็มีความไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัย  ประกอบกับบางจังหวัดก็มีเรื่องการกักตัว ซึ่งขณะนี้มีการทยอยขอยกเลิกห้องพักเกิดขึ้นแล้ว ทั้งๆหลายโรงแรมในภาคใต้ ไม่ว่าจะกระบี่ พะงัน ก่อนหน้านี้โรงแรมได้รับการจองเต็ม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) เปิดเผยว่าการยกเลิกห้องพักในช่วงสงกรานต์นี้เริ่มมีการขอทยอยยกเลิกแล้ว โดยรวมขณะนี้อยู่ที่ราว 10-20% และในขณะนี้ทางสทท.อยู่ระหว่างการรวบรวมความชัดเจนเรื่องมาตรการการคุมโควิด-19 ของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการสื่อสารแก่นักท่องเที่ยว

เนื่องจากเมื่อศบค.ไม่มีนโยบายล็อกดาวน์ แต่ให้แต่ละจังหวัดออกประกาศมาตรการของตัวเอง ก็ทำให้เกิดความสับสน บางจังหวัดก็ไม่มีนโยบายกักตัว เช่น เมืองท่องเที่ยวในภาคใต้ อย่างภูเก็ต กระบี่ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมอย่างเข้มข้น แต่บางจังหวัดก็มีการกักตัว แต่ถ้ามีผลตรวจเป็นลบก็ไม่ต้องกักตัว เป็นต้น

นายก้องศักดิ์  คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวว่า ก่อนหน้าเกิดโควิดระลอกให้ โรงแรมในภูเก็ต ได้รับการจองจากคนไทยในช่วงสงกรานต์เข้ามามาก โรงแรมที่ทำตลาดดีก็เต็ม 100% บางโรงแรมก็มียอดจอง 50-60% ถือว่าสูงมากหากเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ แต่เมื่อเกิดโควิดระลอกใหม่ ก็เริ่มมีการขอยกเลิกห้องพักเข้ามาบ้างแล้ว

แต่เมื่อจังหวัดภูเก็ตไม่มีนโยบายเรื่องการกักตัวก็คาดว่าน่าจะยังมีนักท่องเที่ยวราว 70-80% ที่จองไว้ยังคงเดินทางอยู่ โดยจากการควบคุมโควิดในภูเก็ตที่เรามีประสบการณ์อยู่แล้ว ถ้ามีการพบเชื้อหลังสงกรานต์เกิดขึ้นในพื้นที่ ภูเก็ตก็มีวิธีในการควบคุม เช่นการปิดพื้นที่  หรือจำกัดวงให้แคบที่สุดได้

อย่างไรก็ตามก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ ททท.ประเมินไว้ว่าหยุดยาว 6 วันช่วงสงกรานต์นี้ (วันที่ 10-15 เมษายน 2564) จะมีการเดินทางเที่ยวในประเทศ 3.20 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่ประมาณ 12,000 ล้านบาท

เนื่องจากเป็นช่วงที่คนไทยเดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อร่วมประเพณีสงกรานต์และเยี่ยมญาติ และถือโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไปพร้อมๆกัน แตกจากสงกรานต์ปีที่ผ่านมาที่กิจกรรมทุกอย่างในช่วงดังกล่าวถูกล็อกดาวน์ไป  ประกอบกับแรงหนุนจากมาตรการของภาครัฐเช่น เราเที่ยวด้วยกัน เราชนะ ก็มีส่วนช่วยกระตุ้นให้คนไทยออกเดินทางเพิ่มขึ้น

 ทั้งนี้คาดการณ์ว่าสงกรานต์นี้ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของที่พักทั่วประเทศ จะอยู่ที่ราว 31% โดยมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 3.20 ล้านคน สร้างรายได้ราว 12,000 ล้านบาท ภาคกลาง มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยมากสุด อยู่ที่ 52% มีการเดินทางท่องเที่ยวราว 7.47 แสนคน-ครั้ง สร้างรายได้ 1,655 ล้านบาท ส่วนภาคใต้ มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยราว 25% แม้จะน้อยกว่าภาคอื่น แต่จะมีรายได้มากกว่าภาคอื่น คือ อยู่ที่ราว 3,086 ล้านบาทจากไทยเที่ยวไทย 5.39 แสนคน-ครั้ง

ขณะเดียวกันจังหวัดท่องเที่ยวหลายแห่งกลับมาจัดงานกันอีกครั้งทั้งเมืองหลัก-เมืองรอง โดยมีกิจกรรมที่ททท.สนับสนุนกิจกรรมสงกรานต์พื้นที่เอกลักษณ์ รวม 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ สุโขทัย ลำปาง บุรีรัมย์ ขอนแก่น และหนองคาย ภายใต้แคมเปญ “สงกรานต์ ริน รด พรม ใส่หน้ากาก ไม่สาดน้ำ Amazing ยิ่งกว่าเดิม” โดยคาดว่าพื้นที่ 8 จังหวัดจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยประมาณ 7.30 แสนคน-ครั้ง และสร้างรายได้หมุนเวียนมากกว่า 3,700 ล้านบาท มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ราว 30%

ที่มา : หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,669 วันที่ 11 - 14 เมษายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กพท.​ประสานสายการบิน ยึดมาตรการลดแพร่เชื้อและดูแลประชาชนช่วงสงกรานต์

กรมทางหลวงเปิด10 เส้นทางรถแน่นช่วงสงกรานต์

เช็กที่นี่!มาตรการเยียวยาผู้โดยสารช่วงโควิดจาก 6 สายการบิน