การประชุมเจ้าหนี้เพื่อลงมติเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ครั้งที่ 2 ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ผ่านระบบ อี-มีตติ้ง ทางเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มีแนวทางและขั้นตอนตามลำดับ ดังนี้
วาระที่ 1 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะให้เจ้าหนี้ที่ยื่นแผนเพิ่มเติมจำนวน 2 ราย ชี้แจงและตอบคำถามในที่ประชุม และจะให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติ
ด้วยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 จีอี เอ็นจิ้น เซอร์วิส และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) ได้ยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมแผน ดังนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์น่าจะให้จีอี เอ็นจิ้น เซอร์วิส และชสอ. ชี้แจงและตอบคำถามในที่ประชุมเจ้าหนี้ก่อน เมื่อการซักถามสิ้นสุดลง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติว่าสมควรจะให้ผู้ทำแผน และเจ้าหนี้รายใดแก้ไขแผน
ทั้งนี้ ลำดับของผู้ที่ขอแก้ไขแผนเป็นดังนี้
แผนที่แก้ไขฉบับที่ 1 กรมศุลกากร กรมสรรพสามิตและกรมสรรพากร
แผนที่แก้ไขฉบับที่ 2 ธนาคารออมสิน จำกัด (มหาชน)
แผนที่แก้ไขฉบับที่ 3 สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลตำรวจ จำกัด
แผนที่แก้ไขฉบับที่ 4 ผู้ทำแผน (การบินไทย)
แผนที่แก้ไขฉบับที่ 5 บริษัท เบย์ คอมพิวติ้ง จำกัด
แผนที่แก้ไขฉบับที่ 6 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาซน)
แผนที่แก้ไขฉบับที่ 7 บีโอซี เอวิเอชั่น ลิมิเต็ด
แผนที่แก้ไขฉบับที่ : เอเอส แอร์ลีส 82 (ไอร์แลนด์) ลิมิเต็ด
แผนที่แก้ไขฉบับที่ 9 โบ โซเรล ลิมิเต็ด พาร์ทเนอร์ชิป
แผนที่แก้ไขฉบับที่ 10 ธารา ราช เอสเอเอส มิโฮส เอสเอเอส
แผนที่แก้ไขฉบับที่ 11 คีรีรัฐ นิคม ฮายร์ เพอร์เซส ลิมิเต็ด
แผนที่แก้ไขฉบับที่ 12 ซิตี้แบงค์ เอ็น เอ.
แผนที่แก้ไขฉบับที่ 13 ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
แผนที่แก้ไขฉบับที่ 14 จีอี เอ็นจิ้น เซอร์วิส
แผนที่แก้ไขฉบับที่ 15 ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.)
การลงมติ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ "พิจารณาว่าจะให้แก้ไขแผนหรือไม่" เจ้าหนี้จะพบบัตรลงมติสีฟ้าที่แสดงช่องการลงมติตามจำนวนคำขอแก้ไขแผนที่เสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งให้ทราบก่อนการลงมติ โดยจะปรากฎมติดังนี้ ลงมติให้แก้ไข ลงมติไม่ให้แก้ไข หรืองดออกเสียงลงมติ
จากนั้นเจ้าหนี้กดปุ่มในช่องที่ต้องการลงมติในคำขอแก้ไขแผนทุกฉบับ และกดส่งมติภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์รัพย์กำหนด หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศปิด การลงมติแล้วเจ้าหนี้รายใดไม่อยู่ ในขณะลงมติ หรือไม่ได้ลงมติให้ครบถ้วน จะถือว่าเจ้าหนี้รายนั้นงดออกเสียงลงมติ
วาระที่ 2 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะให้เจ้าหนี้ลงมติว่าจะ"ยอมรับแผนและแผนที่แก้ไข"
กรณีที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติให้แก้ไขแผนและผู้ทำแผนยินยอมให้แก้ไขตามมติที่ประชุม เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้ที่ประชุมเจ้าหนี้ "พิจารณาว่าจะยอมรับแผนและแผนที่แก้ไขหรือไม่" เจ้าหนี้จะพบบัตรลงมติสีเขียวที่แสดงช่องการลงมติ คือ ยอมรับแมน ไม่ยอมรับแผน หรืองดออกเสียงลงมติ จากนั้นให้เจ้าหนี้กดปุ่มในช่องที่ต้องการลงมติและกดส่งมติภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนด
หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศปิดการลงมติแล้วเจ้าหนี้รายใดไม่อยู่ในขณะลงมติ หรือไม่ได้ลงมติจะถือว่าเจ้าหนี้รายนั้นงดออกเสียงลงมติ
วาระที่ 3 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะให้เจ้าหนี้พิจารณาเลือกคณะกรรมการเจ้าหนี้
หากมีการเสนอชื่อและจำนวนกรรมการเจ้าหนี้เกินกว่า 7 คน ที่ประชุมเจ้าหนี้ จะต้องออกเสียงลง มติเลือกกรรมการเจ้าหนี้ โดยเจ้าหนี้จะพบบัตรลงมติสีชมพูที่มีการระบุหมายเลขผู้เสนอชื่อเป็นกรรมการเจ้าหนี้ โดยเจ้าหนี้หรือผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้จะลงมติเลือกกรรมการเจ้าหนี้ได้เพียงรายเดียวเท่านั้น จากนั้นกดปุ่มในช่องของกรรมการที่ต้องการลงมติ และกดส่งมติ
โดยหากไม่ประสงค์จะออกเสียงลงมติ ให้กดปุ่มในช่องงดออกเสียงลงมติ และหากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศปิดการลงมติแล้ว เจ้าหนี้รายใดไม่อยู่ในขณะลงมติ หรือไม่ได้ลงมติ จะถือว่าเจ้าหนี้รายนั้นงดออกเสียงลงมติ
ทั้งนี้ปัจจุบันการบินไทยมีเจ้าหนี้รวม 1.3 หมื่นราย มีมูลหนี้ที่ขอรับการชำระหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท และเป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิในการโหวตแผนฟื้นฟู มูลค่าหนี้ราว 1.8 หมื่นล้านบาท เจ้าหนี้หลักที่จะโหวต จะเป็นเจ้าหนี้หุ้นกู้ 7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 40% เจ้าหนี้สถาบันการเงินเอกชน 3.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 17% เจ้าหนี้การค้าราว 10% เจ้าหนี้กระทรวงการคลัง 13,000 ล้านบาท คิดเป็น 7-8% นอกนั้นอีก 4-5% เป็นเจ้าหนี้ผู้ให้เช่าเครื่องบินจากต่างประเทศ
ข่าวเกี่ยวข้อง: