ถึงตอนนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของเจ้าไวรัสตัวจิ๋ว โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนักหน่วงและรุนแรง ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยติดลบสูงถึง 8.1% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าติดลบ 5.3%
นับเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ติดลบหนักสุดในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2541 ที่ติดลบ 7.6%
ธปท.บอกว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มถึงจุดตํ่าสุด ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้มีโอกาสเศรษฐกิจไทยจะติดลบลึกมาก มีโอกาสที่จะเห็นเป็นตัวเลข 2 หลัก เนื่องจาก โควิด-19 ส่งผลต่อภาคธุรกิจและการประกอบอาชีพของประชาชน ขณะที่เศรษฐกิจในครึ่งปีหลังของปีนี้ก็ยังติดลบ แต่เป็นการติดลบที่น้อยลง ก่อนจะขยายตัวเป็นบวกในปีหน้า
นั่นหมายความว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้ยังอยู่กับเราไปจนถึงปีหน้า?
หากดูจากข้อมูลที่ผู้เขียนได้รับจากสำนักวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งที่ประเมินว่าจีดีพีของไทยในปีนี้จะติดลบ 8.1%เท่ากับตัวเลขที่ธปท.ประเมินพบว่า เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.) จะติดลบสูงถึง 15% ส่วนไตรมาส 3 ติดลบราว 10% และไตรมาส 4 ติดลบ 5.5%
ถึงตรงนี้คงพอจะเห็นภาพกันแล้วว่าเศรษฐกิจไทยหลังจากนี้ยังอยู่ในภาวะที่ยังไม่น่าไว้วางใจ
ขณะที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเองก็ยอมรับว่าสิ่งที่น่าเป็นหลังหลังจากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ คือการว่างงาน เพระจะมีธุรกิจจำนวนมากที่ปิดตัว เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว การส่งออกได้รับผลกระทบ การท่องเที่ยวยังไม่เปิดให้สร้างรายได้
หากดูจากการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เรื่องการจ้าง งานผลกระทบโควิด-19 ต่อตลาดแรงงานไทย : ข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ และ เกศินี ธารีสังข์ พบว่าผลกระทบโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยตกตํ่าและอัตราการการว่างงานสูงที่สุดในรอบ 20 ปี
งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเริ่มตกตํ่าต่อเนื่องมาแล้วมากกว่า 3 ปี และอัตราการจ้างงานก็เช่นเดียวกัน แต่มาฟื้นตัวในปี 2562 แต่เมื่อเศรษฐกิจถูกกระทบจาก ปัญหาโควิด-19 ก็ยิ่งกระทบการจ้างงานมากขึ้นไปอีก
งานวิจัยชิ้นนี้ได้วิเคราะห์สมการการว่างงานเมื่อเที่ยบกับอัตราการขยายตัวของ GDP ที่แท้จริงที่มีต่ออัตราการว่างงานโดยใช้ข้อมูลเป็นรายไตรมาสตั้งแต่ปี 2545 ถึงไตรมาส 1 ปี 2563 โดยสมมติให้ กรณีสูง มี GDP ที่แท้จริง ในปี 2563 หดตัว 5.3% โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 คาดว่าจะหดตัว 11% และในไตรมาสที่ 3 และ4 ในปี 2563 หดตัวเฉลี่ย 4.23% ส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 20.98% ในไตรมาสที่ 2 และการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.35 ในไตรมาสที่ 3 และไตรมาส 4 ต่อเนื่องกัน
หมายความว่า จากกำลังแรงงานทั้งหมด 38.19 ล้านคน ในไตรมาสที่ 1 ปี 2563 จะมีผู้ว่างงานถึง 8.01 ล้านคนหรือ 20.9% ในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 และอาจจะลดลงในไตรมาสที่ 3 และ 4 เหลือ 3.53 ล้านคนหรือ 10.3% หรือมีผู้ว่างงานโดยเฉลี่ยในปี 2563 ประมาณ 4.6 ล้านคน หรือ 12% ของกำลังแรงงาน
นั่นเป็นการประเมินตัวเลขการว่างงานภายใต้สมมติฐานเศรษฐกิจติดลบ 5.3% ตามประมาณการเดิมของธปท.เท่านั้น ไม่ใช่ประมาณการใหม่ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะติดลบลบ 8.1%
งานวิจัยชิ้นนี้มีข้อเสนอแนะเบื้องต้นเชิงนโยบายเร่งด่วน ให้รัฐพัฒนาระบบข้อมูล online ในการตรวจสอบว่ามีคนว่างงานอยู่ที่ใดและประสงค์จะทำงานอาชีพหรือตำแหน่งงานอะไร โดยสามารถให้ผู้สมัครงานเข้าถึงได้จาก Smart Phone และ/หรือตัวแทนของภาครัฐในระดับท้องถิ่นได้ทั่วประเทศ
เมื่อสถานประกอบการเริ่มเปิดกิจการอาจจะมีแรงงานส่วนหนึ่งที่อาจจะถูกเลิกจ้างอย่างถาวร หน่วยงาน เช่น กระทรวงแรงงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ควรทำให้ทุกคนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายและหางานใหม่ให้ทำได้โดยเร็วที่สุด โดยอาศัยความร่วมมือกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม สภาการท่องเที่ยว สภาเกษตรกร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ในการสร้างงาน
นอกจากนี้รัฐควรจัดสรรงบประมาณฟื้นฟูทางเศรษฐกิจให้ผู้ว่างงานได้มีแหล่งรายได้เพื่อดูแลตัวเองและครอบครัวตามอัตภาพทันทีหลังจากที่งบประมาณเยียวยาสิ้นสุดลงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระหว่างรองานหรือหางานใหม่ รวมทั้งพัฒนาส่งเสริมให้ผู้สนใจเป็นผู้ประกอบการทั้ง SMEs Microenterprises และอาชีพอิสระอื่นๆ ให้ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านความรู้และทักษะในการประกอบกิจการ (coaching and incubation) และการสนับสนุนทางการเงินจากกองทุนในการเสริมสร้างอาชีพที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัย
ขณะเดียวกันจะต้องเน้นการพัฒนาการเกษตรให้เป็นแหล่งจ้างงานและเป็นแหล่งอาหารสำหรับแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ และเน้นหาแหล่งนํ้าให้ทั่วถึงทั่วประเทศโดยเฉพาะภาคอีสาน
คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,587 หน้า 10 วันที่ 28 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2563