คอลัมน์: พื้นที่นี้....Exclusive
โดย:งามตา สืบเชื้อวงค์
ปฎิเสธไม่ได้ว่าวายร้ายไวรัสโควิด-19 เป็นตัวการหลักที่เขย่าฐานการจ้างงานสะเทือนไปทั้งโลกผลกระทบจากโควิด-19 มีการห้ามทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ(Lock down) ทำวงจรธุรกิจถูกตัดขาดโดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยว
ทั้งภาคเอกชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจรวมถึงหน่วยงานรัฐ ต่างมีความกังวลต่อปัญหาคนตกงานที่เพิ่มขึ้นและวิกฤติโควิด-19 ยังคงเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนลำบาก ยิ่งตอกย้ำเศรษฐกิจครึ่งปีหลังยังมองไม่เห็นทิศทาง แถมนักศึกษาจบใหม่จ่อแถวเข้ามา.....ยังไม่รู้ชะตากรรมมีงานทำหรือไม่
ล่าสุด“ฐานเศรษฐกิจ”ประมวลความคิดเห็นจากภาคเอกชนพบว่า เสียงส่วนใหญ่ยังคงโฟกัสไปที่ข้อกังวลของการจ้างงานที่จะมีแรงงานอีกจำนวนมากอาจตกงานเพิ่มขึ้นอีกภายในปีนี้
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) มองว่า จนถึงบัดนี้ มีผู้ขอเบิกสวัสดิการว่างงานจากประกันสังคมแล้วประมาณ 1.5 ล้านคน ถึงสิ้นปีคาดว่าคงเพิ่มเป็น 2 ล้านคน ทั้งนี้ ขึ้นกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19ไม่กลับมาระบาดรอบสอง และการผ่อนคลายให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไปได้ ภาคบริการรวมการท่องเที่ยวมีการจ้างแรงงานถึง 18 ล้านคน การฟื้นตัวของภาคบริการใช้เวลานาน เนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19 ในหลายประเทศยังรุนแรง
ขณะที่ภาคการเกษตรมีการใช้แรงงานประมาณ 12 ล้านคน ซึ่งภาคการเกษตรคงได้รับผลกระทบจากโควิด-19ไม่มากเท่าภาคอื่นๆ ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีการจ้างงานประมาณ 8 ล้านคน ได้รับผลกระทบ หลังคาดว่าการส่งออกจะติดลบ 8% จากปีที่แล้ว เพราะตลาดต่างประเทศหดตัวจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ต้องปลดคนงาน ลดกำลังการผลิต และถูกซ้ำเติมด้วยภาวะค่าเงินบาทแข็ง ถือว่ายังเป็นภาวะวิกฤติที่น่าเป็นห่วงทั้งนายจ้างและลูกจ้าง
สอดคล้องกับที่นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยกล่าวว่า หลังการประกาศเปิดพื้นที่เศรษฐกิจเฟส 4 ทำให้สถานประกอบการทยอยเปิดกิจการ แต่ด้วยกำลังซื้อที่อ่อนแอทั้งจากการไม่ได้รายได้ช่วงล็อกดาวน์เมื่อเข้ามาทำงานใหม่ค่าจ้างได้ต่ำกว่าเดิม ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังวิตกกังวลเกี่ยวกับความเชื่อมั่นรายได้ในอนาคตและหรือยังกังวลกับการติดเชื้อโรค
“ก่อนหน้าการเปิดล็อกดาวน์มีคนว่างงานประมาณ 8.4 - 9.0 ล้านคน ปัจจุบันคาดว่าอาจมีประมาณ 3.2 ล้านคนในจำนวนนี้มีคนว่างงานตามมาตรา 33 ยื่นขอรับสิทธิการว่างงานต้นเดือนมิถุนายนมีถึง 1.44 ล้านคน ตัวเลขนี้ยังไม่รวมเด็กจบใหม่ประมาณ 5.5 แสนคน คาดว่าตลาดจะสามารถรองรับสูงสุดร้อยละ 20 ที่จะทำให้มีแรงงานวัยตอนต้นตกค้างประมาณ 4.4 แสนคน เข้ามาผสมโรงในระบบคนว่างงาน
นายธนิตมองอีกว่าโดยภาพรวมภาคอุตสาหกรรมจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ภายในระยะสั้นเพราะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกซึ่งคาดว่าจะยาวนานอย่างน้อยไปถึงกลางปีหน้า ทั้งหมดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สถานประกอบการภาคเอกชนอยู่ในช่วงชะลอการจ้างงานจนไปถึงการปลดคนงาน
ด้านนางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด มองว่าปัจจุบันมีผู้ว่างงานโดยเฉลี่ยประมาณ 400,000 คนในแต่ละเดือน ซึ่งนักศึกษาจบใหม่ปีนี้จะมีประมาณ 500,000 คน โอกาสการว่างงานจากเด็กจบใหม่ หากมองในแง่ดีจะมีอยู่ประมาณ 50:50 ส่วนหนึ่งเข้าสู่ตลาดงาน ส่วนหนึ่งศึกษาต่อ และอีกส่วนหนึ่งหันมาประกอบอาชีพอิสระ แต่หากมองในแง่ลบจากผลกระทบจากปัจจัยต่างๆในปีนี้อาจทำให้เด็กจบใหม่เข้าสู่ตลาดงานประมาณ 30-40%
“เราจะเห็นสัญญานของเด็กจบใหม่ตกงานสูงสุดในไตรมาสที่ 3 และจะลดลงในไตรมาสที่ 4 เนื่องจาก แรงงานขับเคลื่อนเข้าสู่ตลาดงานในช่วงเตรียมกำลังการผลิต การส่งเสริมการขายและการตลาด รวมถึงภาคบริการเพื่อรองรับกำลังซื้อตามเทศกาลต่างๆในช่วงปลายปีจนถึงต้นปีหน้าหากสถานการณ์โควิด-19ไม่กลับไปเลวร้ายลงไปอีก”
เช่นเดียวกับที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) มองภาคแรงงานว่า คาดว่าถึงสิ้นปี2563 นี้ จะมีแรงงานตกงาน ประมาณ 2-3 ล้านคน และการว่างงานจากเด็กจบใหม่อีกประมาณ 4-5 แสนคน น่าจับตาตลาดแรงงานนับจากนี้ไปยังยืนอยู่ในจุดที่น่าเป็นห่วง
จากข้อกังวลดังกล่าว ทำให้เมื่อเร็วๆนี้ส.อ.ท.นำโดยนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยนำทีมเอกชนเข้าพบนายกรัฐมนตรียื่นข้อเสนอให้รัฐพิจารณาในหลายภาคส่วนที่รัฐต้องรีบเร่งดำเนินการ อะไรที่จะช่วยเยียวได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ปัญหาสภาพคล่องการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ถึงแม้ว่าภาครัฐมีแพคเกจมีโปรแกรมเงินกู้ออกมาช่วยแล้ว ยกตัวอย่างเช่น วงเงินกู้ 5 แสนล้านบาทที่ธนาคารพาณิชย์ให้เอสเอ็มอีกู้ แต่ปรากฏว่าการเข้าถึงเงินกู้ของเอสเอ็มอียังกู้ได้ไม่ถึงแสนล้านบาทเพราะติดเงื่อนไขหลายอย่าง
“ ก็ขอให้ภาครัฐช่วยดูว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการเข้าถึงตรงนี้ได้เร็วขึ้น ถ้าอุตสาหกรรมเกิดขึ้นต่อเนื่องได้ การเลิกจ้างก็จะลดลง เศรษฐกิจฐานรากก็จะขยับตัวได้”
-โควิด-19 ต้นตอหลักคนตกงาน
นอกจากนี้จากการประมวลความเห็นจากผู้บริหารภาคเอกชนในระดับซีอีโอจำนวนหนึ่ง ยังพบว่าเสียงส่วนใหญ่กล่าวถึงสาเหตุคนตกงานว่า ต้นตอหลักหนีไม่พ้นการแพร่ระบาดของโรคร้ายที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน มีการห้ามทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ(Lock down) ทำให้ธุรกิจขาดรายได้ ขาดเงินทุนหนุมเวียน ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้ จึงจำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลงก่อนหน้านี้
เช่นเดียวกับตลาดต่างประเทศหดตัว เพราะไวรัสโควิด-19 ระบาดหนัก ประกอบกับค่าเงินบาทแข็ง และผู้ส่งออกไม่ได้รับความสะดวกด้านโลจิสติก จึงส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องลดกำลังการผลิตลงและลดจำนวนพนักงาน ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวประเทศไทยได้ จึงกระทบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยวและโรงแรมต่างๆ ทำให้เกิดการเลิกจ้างพนักงาน
ทั้งนี้ภาคเอกชนยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวต้องใช้เวลา ทั้งโรงแรม, รีสอร์ท, เกตท์เฮ้าส์, ร้านค้า-ร้านอาหาร สถานบันเทิง และแรงงานอิสระที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ยังปิดกิจการโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวมากกว่า 200 แห่งประกาศขาย ถึงแม้อาจจะมีการเปิดเที่ยวบินแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลกยังอยู่ในสภาวะน่ากังวล โดยเฉพาะการประท้วงในสหรัฐอเมริกาภายในประเทศ ตลอดจนการกลับมาระบาดรอบ 2 ของจีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ทำให้การท่องเที่ยวจากนักเดินทางต่างชาติซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 11 ของจีดีพี จะยังไม่กลับมาอย่างน้อยจนถึงปีหน้า
“ประเมินว่าภาคท่องเที่ยวทั้งปีอาจหดตัวร้อยละ 75 ขณะที่โครงการไทยช่วยไทยถึงแม้รัฐจะสนับสนุนเงินช่วยเหลือแต่ในช่วงเวลาเช่นนี้เป็นข้อจำกัดที่จะทำให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยว อีกทั้งสัดส่วนรายได้ท่องเที่ยวภายในประเทศมีเพียงประมาณร้อยละ 6.4 ของจีดีพีอาจไม่มากพอที่จะทำให้ภาคท่องเที่ยวกลับมาฟื้นและดูดซับแรงงานกลับมาเหมือนเดิม”
รวมถึงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว ทำให้กำลังซื้อของประชาชนยังต่ำอยู่ โดยเฉพาะในชนบท
เมื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่กลับมา เงินหมุนเวียนที่อยู่ในขณะนี้ ที่จะทำให้เกิดกำลังซื้อเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ ในช่วง 4-5 เดือนใช้เงินประมาณ 6.0 แสนล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 3.47 ของจีดีพี ยังเป็นแค่การประทังให้อยู่รอดไม่มากพอที่จะกระตุ้นสร้างอำนาจซื้อให้กลับมาเหมือนเดิม ธุรกิจต่างๆ ที่เปิดกิจการยอดขายหายไปเกินครึ่งทำให้รับแรงงานกลับมาไม่เต็มอัตราเหมือนเดิม
นอกจากนี้ภาคเอกชนยังมองอีกว่ากำลังซื้อที่อ่อนแอมาจากหนี้ครัวเรือนที่สูง ไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 5 เป็นตัวหนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 6.75-7.0 แสนล้านบาท โดยเฉลี่ยคนไทยเป็นหนี้ 202,417 บาทต่อคนช่วงปิดล็อกดาวน์แรงงาน 8.4-9.0 ล้านคนไม่มีรายได้อยู่ได้เพราะเงินเยียวยาจากรัฐบาลถึงแม้ปัจจุบันมีการยกเลิกปิดพื้นที่เศรษฐกิจแต่การจ้างงานยังไม่กลับมาเหมือนเดิมทำให้กำลังซื้อไม่กลับมา
อีกทั้งภาวะรัดเข็มขัดของคนในประเทศทำให้อัตราการอุปโภคบริโภคเป็นไปอย่างจำกัด ส่งผลต่อการจ้างงานภาคการผลิต ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจบริการ ในขณะที่คนที่มีงานทำนอกจากรายได้ลดลงยังมีความกังวลต่อความเชื่อมั่นในอนาคต ส่งผลต่อการจ้างงานที่ยังไม่กลับมาเหมือนปกติสถานการณ์เช่นนี้จะยาวออกไปอย่างน้อยถึงกลางปีหน้า
นอกจากนี้ปัญหาเรื่อง Trade war รอบใหม่ระหว่าง USA กับ China ที่พร้อมจะปะทุได้ตลอดเวลา
-ทางออกที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันออกแรง
สำหรับการที่จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจขยายตัวหรือฟื้นตัวขึ้นนั้น เสียงส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปทิศทางเดียวกันคือ ต้องร่วมมือกันในทุกฝ่าย ไล่ตั้งแต่ 3 ส่วนหลักคือ ภาครัฐบาล ต้องเร่งนโยบายทางด้านการเงินและการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการเร่งใช้จ่ายเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจตาม พ.ร.ก.การกู้เงินจำนวนเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ให้ถึงมือประชาชน ภาคธุรกิจ โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนมีเงินหมุนเวียน จับจ่ายใช้สอยให้เกือบเป็นปกติเร็วที่สุด
นอกจากนี้รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งลงทุนโครงการต่างๆ เพื่อที่จะก่อให้เกิดการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เป็นต้น
รวมถึงการลดมาตรฐานการให้สินเชื่อแก่ภาคเอกชนถือเป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้ว่าภาครัฐจะพยายามผลักดันให้ภาคธุรกิจเข้าถึงสินเชื่อซึ่งปัจจุบัน ภาคธุรกิจไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลได้วางไว้ ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้นคือ การเรียกหลักทรัพย์เพิ่มเติม ตามมาตรฐานการป้องกันความเสี่ยง ทำให้ธุรกิจหลายธุรกิจไม่สามารถที่จะเข้าถึงสินเชื่อได้ ดังนั้นทางภาครัฐอาจต้องหาแนวทางที่จะทำให้สถาบันการเงินลดมาตรฐานลง เป็นต้น
ภาคธุรกิจ ต้องเร่งปรับตัวในการรับสถานการณ์กับโควิด -19 ที่คาดว่าจะอยู่กับประเทศไทยนับจากนี้อีกอย่างน้อย 1 ปี หรือจนกว่าจะมีวัคซีน อาทิเช่น การปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกันสถานการณ์ และหาแนวทางหารายได้จากวิกฤติ โควิด-19 ที่เกิดขึ้นด้วยการสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ภาคธุรกิจอาจต้องพยุงการจ้างงาน เพื่อไม่ให้เกิดการว่างงานเพิ่ม
ภาคประชาชน ในส่วนของประชาชนหรือผู้บริโภคควรดำเนินชีวิตในรูปแบบปกติตามแบบวิถีใหม่ (New Normal) โดย การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของภาคประชาชนจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นตัวเพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจมีการหมุนเวียน เมื่อภาคประชาชนเกิดการบริโภค ภาคธุรกิจจะมีรายได้และผลกำไร และทำให้เกิดการขยายกิจการได้ และก็จะทำการจ้างงานเพิ่มตามลำดับ
โดยภาพรวมภาคเอกชนต้องการเห็นภาครัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและผู้บริโภคในการจับจ่ายใช้สอย โดยเร่งใช้มาตรการฟื้นฟูตาม พ.ร.ก.การกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อที่จะทำให้ภาคธุรกิจมีรายได้และสภาพคล่อง เร่งให้ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้
เร่งให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องและประคองธุรกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องปลดล็อกมาตรฐานบางประการลง รวมถึงเร่งให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อตาม พ.ร.ก. 5 แสนล้าน
นอกจากนี้ภาคเอกชนยังเชื่อว่าต้องผลักดัน นโยบาย Local Economy เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภายใน สร้างงานและให้ทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง เพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศลง โดยเฉพาะความสำคัญในสินค้า Made in Thailand ทั้งหมดนี้หากทำได้ปัญหาการว่างงานทั้งระบบที่เกิดจากพิษโควิด-19จะทุเลาลงเร็วขึ้น