‘สื่อ’ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง

17 ก.ย. 2563 | 06:55 น.

‘สื่อ’ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง : คอลัมน์อินไซด์สนามข่าว  โดย  จีรพงษ์  ประเสริฐพลกรัง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,610 หน้า 10 วันที่ 17 - 19 กันยายน 2563

 

วันที่ 19 กันยายน 2563 ครบรอบ 14 ปี ที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) นำโดย “บิ๊กบัง-พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” ทำกาปฏิวัติยึดอำนาจ “ทักษิณ ชินวัตร” 

 

ทำให้วันที่ 19 กันยายน ของทุกปี กลายเป็นวันเชิงสัญลักษณ์ที่ฝ่ายสนับสนุนนายทักษิณ หรือ ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็นผู้เรียกร้องประชาธิปไตยมักจัดงานรำลึกหรือทำกิจกรรม

 

ผมเองเป็นหนึ่งในนักข่าวที่อยู่ในทำเนียบรัฐบาล วันที่ 19 กันยายน 2549 หลังจากพบว่าที่ทำเนียบรัฐบาล และโดยรอบมีบรรยากาศแปลกๆ อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน และห้องราชดำเนิน ในเว็บพันทิพก็มีกระแสข่าวลือว่าจะมีการปฏิวัติ

 

จึงนั่งเฝ้าติดตามบรรยากาศตั้งแต่ช่วงเย็น จนกระทั่งถึงเวลาที่ได้ยินเสียงตีนตะขาบล้อรถถังเสียงดังบนถนนลาดยาง ก่อนที่จะจอดประชิดรั้วทำเนียบ ฝั่งถนนพิษณุโลก จากนั้นกำลังพลได้ปีนรั้วเข้ามาในเวลาประมาณ 22.00 น.   

 

ผมและเพื่อนนักข่าว มีทั้งเคยผ่านประสบการณ์และไม่เคยผ่านประสบการณ์การทำข่าวปฏิวัติรัฐประหาร ตัดสินใจเดินออกจากรังนกกระจอก (ห้องนักข่าว) เพื่อออกมาทำข่าวทหารเข้ายึดพื้นที่ตึก ไทยคู่ฟ้า และโดยรอบทำเนียบรัฐบาล จากนั้นพวกเราก็โดนทหารผู้บังคับหมู่ฯ ณ จุดนั้น เชิญให้ไปนั่งรวมกันที่ วงเวียนนํ้าพุ ด้านหน้าตึกไทยคู่ฟ้า โดยมีคำขอร้องว่าขอให้นั่งนิ่งๆ อย่าเดินเพ่นพ่าน หากปฏิวัติสำเร็จแล้วจะพาออกจากทำเนียบ

 

 

 

‘สื่อ’ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง

 

 

ผ่านไป 1 ชั่วโมง ทหารก็ขับรถมาส่งที่ประตู 5 ฝั่งตรงข้ามกับกระทรวงศึกษาธิการ ท่ามกลางเพื่อนสื่อมวลชนจำนวนมากมาทำข่าวที่ด้านนอก นั่นก็เป็น เพียงบางส่วนของเหตุการณ์สำคัญที่อาจจะไม่มีหนังสือเล่มไหนเขียนถึงเหตุการณ์ในวันนั้น 

 

จากวันนั้นมาถึงวันนี้ 14 ปี ที่บ้านเมืองไม่ได้หยุดพัก มีกีฬาสีการชุมนุมทางการเมือง เหลืองสลับแดง แดงสลับเหลือง มีเสื้อหลากสี มีกลุ่ม กปปส. และกลุ่มการเมืองต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ที่เลือกวัน เวลา สถานที่ เชิงสัญลักษณ์ที่มีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์การเมืองในอดีตในการชุมนุม จัดกิจกรรมต่างๆ ในการรำลึกเหตุการณ์ 

 

 

 

ทุกเหตุการณ์การชุมนุมไม่ว่าจะกลุ่มใด คุณผู้อ่านทราบหรือไม่ว่า “สื่อมวลชน” มักจะถูกลากให้ไปเป็นเงื่อนไขในการชุนนุมแทบทุกครั้ง ชอบสื่อนั้น ไม่ชอบสื่อนี้ สื่อนี้ให้ทำข่าวได้ สื่อนี้ไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ 

 

สิ่งที่ตามมาคือ การกระทบกระทั่งกันของนักข่าว หรือ ทีมข่าวภาคสนาม ที่ถูกมอบหมายจากกองบรรณาธิการ กับผู้แกนนำ ผู้ชุมนุม การ์ดการรักษาความปลอดภัยการชุมนุม  

 

ทำให้ผมนึกถึงแถลงการณ์ร่วม 6 องค์กรวิชาชีพ เรื่อง การรายงานข่าวในสถานการณ์การชุมนุม ที่เพิ่งออกมาเพื่อเตรียมการรับ มือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2563  

 

ถ้อยคำในแถลงการณ์ ระบุถึง “...การยืนยันหลักการเสรีภาพของสื่อมวลชนตามหลักสากล ที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จึงไม่ควรตกเป็นเป้าและเงื่อนไข ต้องได้รับอิสระในการรายงานข่าวเพื่อความครบถ้วนรอบด้านตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ ปราศจากการกดดัน คุกคามในทุกรูปแบบ จึงเรียกร้องให้ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่สื่อมวลชนที่จะเข้าไปรายงานข่าวในพื้นที่

 

 

 

และตอนท้าย จะมีการประสานงานระหว่างสื่อมวลชนกับฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานสื่อมวลชนในสถานการณ์การชุมนุม (ศปสช.)” ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ประสานงานด้านการรักษาความปลอดภัยและด้านอื่นๆ ที่จำเป็น พร้อมกับจัดทำ “ปลอกแขนสัญลักษณ์” ในการปฏิบัติหน้าที่ในการรายงานข่าวการชุมนุม

 

เพราะสื่อมวลชนไม่ใช่คู่ขัดแย้งของฝ่ายใด