นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า แถลงข่าวผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “คณะก้าวหน้า - Progressive Movement” ประเด็น “ประเทศไทย 2021: ข้อเสนอจัดการโควิดและวิกฤติเศรษฐกิจ” เมื่อค่ำวันที่ 4 ม.ค.2564 โดยเสนอมาตรการที่จะทำให้ประเทศไทยผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ แบ่งเป็น 3 ระยะคือ
1.ทำทันที (Now) แบ่งเป็น
1.1 การจัดการวัคซีนอย่างเป็นระบบ เป็นธรรม โปร่งใส และแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำในอาเซียน ซึ่งสืบเนื่องจากรัฐบาลไทยมีความร่วมมือกับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ และแอสตราเซเนกา จัดหาวัคซีน 26 ล้านโดส สำหรับประชากร 13 ล้านคน หรือ 2 โดสต่อคน โดย 13 ล้านคนนี้คิดเป็นร้อยละ 20 ของคนไทยทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายละเอียดว่าแล้วประชากรที่เหลือจะทำอย่างไร เมื่อเทียบกับหลายประเทศมีการตั้งเป้าหมายและกำหนดงบประมาณไว้ชัดเจน เช่น สิงคโปร์ ประชากร 5.7 ล้านคน ตั้งเป้าหมายจะจัดหาวัคซีนสำหรับประชาชนทุกคนให้ได้ภายในไตรมาส 3/2564 ใช้งบประมาณ 750 ล้านเหรียญสหรัฐ , มาเลเซีย ตั้งเป้าหมายจะจัดหาวัคซีนสำหรับประชาชน 26 ล้านคน หรือร้อยละ 85 ของประเทศ ใช้งบประมาณ 746 ล้านเหรียญสหรัฐ
อินโดนีเซีย ประชากร 267 ล้านคน ตั้งเป้าหมายจะจัดหาวัคซีนสำหรับประชาชนทุกคน ใช้งบประมาณ 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ , เกาหลีใต้ มีเป้าหมายจะจัดหาวัคซีนสำหรับประชาชน 44 ล้านคน หรือร้อยละ 85 ของประเทศ ใช้งบประมาณ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐ , ญี่ปุ่น ประชากร 145 ล้านคน ตั้งเป้าหมายจะจัดหาวัคซีนสำหรับประชาชนทุกคน ใช้งบประมาณ 6,300 ล้านเหรียญสหรัฐ , สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายจะจัดหาวัคซีนสำหรับประชาชน 150 ล้านคน หรือร้อยละ 50 ของประเทศ ใช้งบประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในปี 2563 ที่ผ่านมา ทั้งคณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล เคยเสนอให้รัฐบาลกันงบประมาณจำนวน 67,000 ล้านบาท จาก พ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับการทำให้เกิดภูมิต้านทานหมู่ หรือ Herd Immunity ได้ในประเทศ แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่ได้กันงบประมาณส่วนนี้ไว้ ซึ่งตนย้ำว่าหากยังจัดการโจทย์นี้ไม่ได้ ไม่มีทางที่ประเทศและเศรษฐกิจจะเดินหน้าต่อไปได้ และไม่มีทางที่ประชาชนจะอยู่ด้วยความมั่นใจ จะใช้ชีวิตเป็นปกติด้วยความสบายใจ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำทันทีประเด็นแรกคือสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้
ขณะเดียวกัน การจัดสรรวัคซีนยังต้องเป็นธรรมด้วย โดยต้องตั้งกติกาให้ชัดเจนว่าคนกลุ่มใดจะได้ก่อน หรือคนมีเงินจะเข้ามาเลือกซื้อวัคซีนได้หรือไม่ หากกฎกติกาเหล่านี้ไม่ชัดเจน ตนเกรงว่าวัคซีนจะไปถึงมือคนมีเงินและมีอำนาจก่อน ซึ่งมีการศึกษาหลายกรณีในต่างประเทศ พบว่าการให้วัคซีนที่เป็นผลดีกับระบบเศรษฐกิจของประเทศมากที่สุด คือต้องกระจายอย่างมีระบบ เพราะคนที่ไม่สามารถใช้ชีวิตทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home ได้คือคนที่เปราะบางที่สุด และเป็นคนที่ต้องออกไปสัมผัสกับผู้คน คนเหล่านี้จึงควรได้รับการดูแล
ดังนั้น นอกจากการตั้งงบประมาณ ตลอดจนบอกแหล่งที่มาที่ชัดเจนในการจัดหาวัคซีนแล้ว ยังต้องบอกด้วยว่ากลุ่มคนที่จะได้รับวัคซีนจะเรียงลำดับอย่างไร โดยตนเสนอให้แบ่งเป็นกลุ่ม
กลุ่มแรก คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่กำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสอยู่
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่มีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหรือไวรัสมากที่สุด
และกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มคนเปราะบางในสังคม หมายถึงคนที่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ คนที่ต้องทำงานสาธารณะที่เกิดประโยชน์กับสังคม
3 กลุ่มนี้คือคนที่ควรได้รับวัคซีนก่อน ต้องทำเช่นนี้ประเทศไทยจึงจะผ่านปี 2564 ไปได้อย่างมีพลัง
1.2 จัดให้มีรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน ชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 4 แสนล้านบาท เพื่อดูแลความมั่นคงในชีวิตของประชาชน ในขณะที่ประชาชนกำลังระวังป้องกันกันเองเพื่อควบคุมให้การระบาดของโรคอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เป็นการเสียสละที่ทำเพื่อส่วนรวม ประชาชนคือคนที่ต้องรับผิดชอบมากที่สุดและได้รับผลกระทบมากที่สุด
ส่วนงบประมาณที่จะจัดหามาใช้นั้น จาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลได้รับอนุมัติจากสภา ปัจจุบันพบว่าอนุมัติโครงการไปแล้ว 4.9 แสนล้านบาท ตนจึงเสนอให้นำเงินที่ยังเหลืออีก 4 แสนล้านบาท มาใช้เป็นรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า 3,000 บาทต่อเดือน ชั่วคราวเป็นเวลา 3 เดือน และเงินที่ยังเหลืออีกหลังจากนั้นให้กันไว้สำหรับซื้อวัคซีนแจกจ่ายประชาชนทุกคน ข้อเสนอนี้จะทำให้งบประมาณ 1 ล้านล้านบาทถูกใช้ได้เต็มจำนวน เพราะงบฯ ตรงนี้ต้องถูกใช้อยู่แล้ว และหลายประเทศก็ใช้วิธีนี้คือแจกเงินให้ถ้วนหน้าเพื่อดูแลประชาชน
“ข้อดีของการทำอย่างนี้คือการที่ให้โอกาส ให้อำนาจประชาชน ในการเลือกแก้ปัญหาชีวิตของพวกเขาเอง ประชาชนแต่ละครัวเรือนมีปัญหาไม่เหมือนกัน บางครัวเรือนปัญหาอยู่ที่การศึกษาของลูกหลาน บางครัวเรือนปัญหาอยู่ที่ค่าเช่าบ้าน บางครัวเรือนปัญหาอยู่ที่เงินกู้ ต้องการเอาเงินก้อนเพื่อไปปิดเงินกู้ เพื่อที่จะลดภาระดอกเบี้ยในอนาคต การให้เงินลักษณะถ้วนหน้าอย่างนี้ มีกรอบเวลาที่ชัดเจน จะทำให้ประชาชนนำเงินไปใช้ในสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตของแต่ละคน จะทำให้คนวางแผนชีวิตของตัวเองได้” นายธนาธร กล่าว
นายธนาธร กล่าวอีกว่า อาจมีผู้ตั้งคำถามว่าหากใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท หมดแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ประเด็นนี้ตนมีข้อเสนอ 2.ทำในปีนี้ (Near) โดยจากกรอบงบประมาณปี 2564 ที่มีการใช้งบฯ เพื่อจัดสวัสดิการต่างๆ กับประชาชนเป็นเงิน 4.4 แสนล้านบาท ในร่างงบประมาณของปีงบประมาณ 2565 ให้จัดงบประมาณที่นำไปออกแบบจัดสรรได้ ซึ่งจัดไว้ที่ประมาณ 9 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2564
ดังนั้น ตนเชื่อว่าในงบประมาณปีงบฯ 2565 ก็น่าจะจัดไว้ในขนาดใกล้เคียงกัน ทำให้แม้ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จะถูกใช้หมดไปแล้ว ก็ยังมีอีก 9 แสนล้านตรงนี้อยู่ให้สามารถนำมาออกแบบเพื่อฟื้นฟูเยียวยาประชาชนได้ อีกทั้งยังมีเงินจาก พ.ร.ก.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loan ที่มีงบประมาณอยู่ 5 แสนล้านบาท ปัจจุบันถูกใช้ไป 1.22 แสนล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 22 เท่านั้น
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเป็นหัวหอกในการพาประเทศก้าวฝ่าฟันกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือ Technology Transformation หรือความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของพฤติกรรมของผู้คนกับเทคโนโลยีใหม่ โดยสามารถออกแบบบริการภาครัฐทั้งหมดให้อยู่บนโลกออนไลน์ แล้วออกแบบมาตรการเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันไปใช้บริการทางออนไลน์มากขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดภาระในการเดินทางไปสถานที่ราชการ และเตรียมประชาชนให้เข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ที่ไม่ช้าก็เร็วย่อมต้องเกิดขึ้น ซึ่งโควิด-19 ทำให้กระบวนการที่ต้องใช้เวลาหลายปีเหลือเพียงปีเดียว
และ ระยะที่ 3.ระยะยาวที่เริ่มทำในปีนี้เพื่อหวังผลในอนาคต (Far) คือนำปัญหาในสังคมมาสร้างเป็นความต้องการ และนำความต้องการมาสร้างเป็นอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อสร้างงานสร้างเทคโนโลยีของตนเอง ซึ่งนับจากปี 2540 ที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ หลังจากนั้นไทยก็พึ่งพิงอุตสาหกรรมเพียง 2 ชนิดมากเกินไป คือรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ แต่ทั้ง 2 อุตสาหกรรมถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ไม่สามารถดึงเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่ได้อีก และไม่สามารถเพิ่มการจ้างงานได้อีก
“จริงๆ แล้วการจ้างงานใน 2 อุตสาหกรรมนี้มีแนวโน้มที่จะลดลงด้วยซ้ำไป เพราะค่าแรงเพิ่มขึ้นทุกวันแต่ระบบอัตโนมัติมีราคาถูกลงทุกวัน และสุดท้ายที่สุด ประเด็นที่สำคัญที่จะต้องเลิกพึ่งพิงเม็ดเงินการลงทุนจากต่างชาติ เทคโนโลยีจากต่างชาติ ประสบการณ์จากหลายประเทศพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าจะก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปได้ จะต้องมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง” นายธนาธร ระบุ
นายธนาธร กล่าวอีกว่า ดังนั้นหากนำความต้องการแก้ปัญหาสังคมในประเทศมาสร้างเป็นอุตสาหกรรมใหม่ได้ก็ย่อมเพิ่มการจ้างงานในระบบได้ และเมื่อมีการจ้างงานในระบบคนก็จะมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น เครื่องมือทางการแพทย์ ที่จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาประเทศไทยนำเข้าจากต่างประเทศเสียเป็นส่วนใหญ่ หรือการคมนาคม ที่ตนเคยเสนอแล้วหลายครั้งให้สร้างอุตสาหกรรมรถเมล์ไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมรถไฟ และไทยมีบุคลากรที่มีพื้นฐานด้านนี้เพียงพอที่จะสร้างขึ้นมาได้
สุดท้ายคือการเตรียมความพร้อมของประชากรรุ่นใหม่ให้พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แบ่งเป็น 2 เรื่องคือ 1.ทักษะ เช่น การเขียนโค้ด (Coding) การบริหารจัดการระบบอัตโนมัติ (Automation) และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) กับ 2.คุณค่า ค่านิยมที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 คือการเปิดรับหรือโอบรับความหลากหลาย ไม่เลือกปฏิบัติ รักและหวงแหนสิทธิเสรีภาพ