รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat"เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19ในประเทศไทย รวมไปถึงชี้แจงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์แนวทาง นโยบายการรับมือโควิด พร้อมทั้งคาดการณ์สถานการณ์ในอนาคตที่ไทยจะเจอ โดยประเมินว่าไทยอาจจะมีโอกาสระบาดซ้ำระลอก 3 หรือ 4 ในระยะ 1-1.5 ปีถัดจากนี้ ,วัคซีนไม่สามารถคุมการระบาดได้ ถ้ายังฉีดไม่ถึง 70%ของประชากรทั้งหมด
สำหรับเนื้อหารายละเอียดข้อความที่โพสต์ทั้งหมดประกอบไปด้วย
กลไกการจัดการที่ดีในช่วงระบาดซ้ำครั้งนี้ ต้องยกให้กับทางสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ที่แสดงให้เห็นถึงความจริงจังเข้มงวดเคร่งครัดในทุกกระบวนการ
ตั้งแต่การคัดกรองโรคเป็นระยะๆ การขนส่งนักกีฬาจากสนามบินไปยังสถานที่กักตัวโดยตรง การกักตัวในสถานที่พักที่กำหนดในบริเวณใกล้สนามแข่งขัน และยังลงรายละเอียดยิบไปถึงกระบวนการจัดการในการแข่งขัน เช่น การใช้เครื่องส่งลูกขนไก่แทนการใช้คน ฯลฯ
นี่คือตัวอย่างของการจัดการอย่างรอบคอบจริงจัง เฉกเช่นเดียวกับที่บุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่กำลังดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 กันมาตลอด
มีคนเอ่ยถึงผมผ่านทางสื่อสาธารณะว่า สื่อให้สังคมกลัวเพราะอะไร ได้อะไรขึ้นมา และการวิพากษ์วิจารณ์ชี้ให้เห็นจุดอ่อนต่างๆ ที่ผ่านมานั้นล้วนเป็นการบั่นทอนจิตใจบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง
หากใครที่ติดตามอย่างละเอียดลออ จะทราบได้ว่า สิ่งที่ผมทำมาทั้งหมดนั้นยืนบนพื้นฐานของเจตนาดีที่จะปกป้องสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนทุกคนในสังคมไทย รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขหน้างานทุกคน
ผมเป็นคนทำงานด้านสาธารณสุขมาก่อน ดังนั้นการจะมองว่าอยู่บนหอคอยงาช้างนั้นคงไม่ใช่แน่นอน หากกล่าวเช่นนั้น ต้องบอกว่าท่านไม่รู้จักผมจริง
หนึ่ง ผมนำข้อมูลวิชาการจริงมานำเสนอให้สาธารณะได้ทราบว่าสถานการณ์จริงคืออะไร วิเคราะห์ให้ดูว่าการระบาดของเราเมื่อเทียบกับประเทศอื่นเป็นเช่นไร อนาคตของเราหากเดินตามรอยเท้าของประเทศอื่นแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
ทำเช่นนี้เพราะต้องการให้คนของเรามีความรอบรู้ รู้เท่าทัน ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น โรคนี้รุนแรงสุดในรอบ 102 ปี ติดไปแล้วกว่า 90 ล้าน ตายไปแล้วเกือบ 2 ล้านคนทั่วโลก หากรู้เท่าทัน จะมีสติ รู้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับอะไร และจะเตรียมตัวรับมือได้
การจะมาบอกว่าขู่ให้คนกลัว ถามตรงๆ ว่ามันน่ากลัวไหม?
ผมคงไม่สามารถหลอกตัวเองให้ทำการเล่าให้มองว่า โรคนี้มันคือหวัดธรรมดา กระจอก เอาอยู่ เป็นแล้วมียารักษาและไม่มีทางตายครับ เพราะผมเชื่อว่าการพูดสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องจริงนั้นเป็นบาปมหันต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจทำให้คนประมาท การ์ดไม่เข้มแข็ง ใช้ชีวิตสำมะเลเทเมาปล่อยตัวปล่อยกายปล่อยใจ จนติดเชื้อแล้วตายกันเป็นใบไม้ร่วงได้
โรงเรียนผม Johns Hopkins มีสุภาษิตที่เป็นแรงบันดาลใจของศิษย์เก่าทั้งหลายว่า "Protecting health, Saving lives, Millions at a Time"
แต่ไม่ได้สอนให้ผมตัดสินใจทำแบบยอมรับความเสี่ยงที่คุกคามสุขภาพและชีวิตคนแลกกับเศรษฐกิจ ภายใต้สถานการณ์ระบาดที่รุนแรง
การอ้างถึงปากท้องของคนนั้นเป็นเหตุผลสำคัญยิ่ง พอๆ กับสุขภาพคนครับ แต่ยามที่โรคระบาดรุนแรง มุมมองของผมคือจะไม่ยอมเอาชีวิตคนอื่นมาเดิมพันแลกกับความเสี่ยงเพื่อให้ทำมาหากิน แต่ผมจะหาทางช่วยประคับประคองกันไปในช่วงเวลาสั้นๆ โดยใช้เวลาสั้นๆ นี้หาทางจัดการควบคุมโรคระบาดอย่างเคร่งครัดเด็ดขาด
เพราะผมทราบดีจากการติดตามสถานการณ์ทั่วโลกที่แสดงบทเรียนให้เห็นว่า การสู้แบบแย็บๆ ไม่มีทางน็อคตัวร้ายได้ แต่จะถูกมันน็อคในที่สุด
สอง ผมนั้นยกย่องให้เกียรติคนทำงานหน้าด่านเสมอ ไม่ว่าเค้าจะเป็นอาชีพใดก็ตาม ตั้งแต่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข คุณตำรวจ คุณทหาร หรือแม้แต่ประชาชนชาวบ้านที่มาร่วมด้วยช่วยกันสู้กับโรคระบาด หากไม่ได้พวกเราทุกคน ไทยเราคงไม่สามารถผ่านระลอกแรกมาได้อย่างหวุดหวิด และคงไม่สามารถต้านระลอกสองมาถึงบัดนี้
สิ่งที่วิพากษ์วิจารณ์นั้นคือ การตัดสินใจเชิงนโยบาย และมาตรการต่างๆ เพราะหากผิดทิศผิดทาง ย่อมจะนำพาให้ทุกคนในสังคมตกอยู่ในภาวะลำบากทั้งระยะสั้นและระยะยาว
การถกแถลงให้เห็นเหตุและผลเชิงวิชาการ และข้อมูลประกอบนั้นคือสิ่งที่ยืนยันชัดเจนในเจตนารมย์ที่จะนำไปสู่การพัฒนา
นโยบายและมาตรการต่างๆ สำหรับสาธารณะนั้น หากมองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีหลายต่อหลายอย่างที่หากรื้อฟื้นขึ้นมาถาม คงมีคนสงสัยมากมายว่ามีเหตุผลอะไรกันแน่ เพราะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ระบาด ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนแข่งรถ เงื่อนเวลาในการตัดสินใจแบนนักท่องเที่ยว และอื่นๆ อีกหลายเรื่อง
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า แม้จะมีการอ้างว่านโยบายหรือมาตรการต่างๆ ผ่านกระบวนการกลุ่มที่มีตัวแทนจากที่ต่างๆ มาช่วยกันคิดหรือกลั่นกรองแล้ว ก็มิใช่ว่าจะเป็นนโยบายที่สมควรเสมอไป
ดังนั้นหากเราปรารถนาดีต่อทุกชีวิตในสังคม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใด ก็ย่อมที่จะต้องเปิดใจนำคำวิพากษ์วิจารณ์และคำแนะนำต่างๆ นั้นไปขบคิด และนำไปประยุกต์ใช้ ยิ่งหากเป็นชุดข้อมูลที่แตกต่างจากที่ตนเองมีครับ
จากที่ผ่านมา อยากบอกพวกเราว่า หลายต่อหลายคนที่ไม่ได้อยู่ในหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบชีวิตของคนในสังคม ได้พยายามช่วย และสู้กันอย่างเต็มที่ตลอดปีกว่าที่ผ่านมา เพื่อหวังประคับประคองประเทศให้พ้นภัยโรคระบาด หลายอย่างได้รับการนำไปใช้เป็นมาตรการ แม้จะไม่ผ่านกลไกปกติก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผ่านพ้นหลายวิกฤติมาได้
ด้วยสภาพปัจจุบัน ที่ใช้มาตรการที่ไม่ได้เข้มแบบล็อคดาวน์ แต้มต่อในการจัดการโรคอย่างสมบูรณ์คงแทบไม่มีครับ หากดูจากบทเรียนของต่างประเทศ
สิ่งที่ผมคาดการณ์ว่าอาจเป็นสถานการณ์ในอนาคตที่เราจะเจอ มีดังนี้
1. จะมีการติดเชื้อแฝงในชุมชนทั่วไปได้โดยไม่รู้ตัว และมีจำนวนติดเชื้อต่อวันไปเรื่อยๆ จะเป็นหลักหน่วย หลักสิบ หรือหลักร้อยต่อวันก็แล้วแต่
2. จะมีโอกาสเกิดการระบาดซ้ำระลอกสาม และ/หรือสี่ได้ในระยะ 1-1.5 ปีถัดจากนี้ ขึ้นกับจำนวนติดเชื้อรายวันว่ามากน้อยเพียงใด และการ์ดของพวกเราทุกคนว่าเข้มแข็งหรือไม่
3. ประชาชนจำเป็นต้องป้องกันตัวเสมอ ระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะทำงาน ท่องเที่ยว หรืออื่นๆ ใครที่ไม่ป้องกันตัวก็จะติดเชื้อ ป่วย หรือเสียชีวิตได้
4. วัคซีนจะยังไม่สามารถส่งผลให้คุมการระบาดได้ ตราบใดที่ยังไม่สามารถฉีดให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ราว 70% ของประชากรทั้งหมด (ประมาณคร่าวๆ จากสรรพคุณในการป้องกันเฉลี่ยของวัคซีนหลายชนิดรวมกัน ทั้งของจีน ของอังกฤษ และอื่นๆ เช่นจากอเมริกา หลังขึ้นทะเบียนมาจำหน่ายในอนาคต)
5. สำหรับการระบาดระลอกสอง ระบาดซ้ำ ระบาดใหม่ครั้งนี้นั้น ถ้าดูจากบทเรียนต่างประเทศ มีโอกาสที่จะทวีความรุนแรงขึ้นกว่านี้ และอาจไปพีคประมาณต้นถึงกลางเดือนหน้า จึงต้องระมัดระวังกันให้ดี หากใช้มาตรการเข้มข้นเต็มที่ตั้งแต่ตอนนี้จะดีกว่า มิฉะนั้นอาจมีโอกาสสู้ยาวถึงปลายมีนาคม แต่หากไม่เป็นอย่างที่คาด ก็คงจะดีครับ
6. สถานพยาบาลต่างๆ จะรับภาระหนักขึ้นเรื่อยๆ ในการสู้ระยะยาว สำหรับศึกระลอกสองครั้งนี้นั้นจะวัดกันใน 6-8 สัปดาห์ข้างหน้า ถ้าเสร็จศึกก่อนก็จะดี ถ้ายืดเยื้อ คงจะเหนื่อยมาก
ในขณะที่อนาคต สถานพยาบาลคงต้องเตรียมรับมือกับวิถีใหม่ ที่จำเป็นจะต้องตรวจคัดกรองโรคโควิดในผู้ป่วยในและผู้ป่วยที่จะผ่าตัดทุกราย รวมถึงการตรวจคัดกรองในบุคลากรทุกระดับในสถานพยาบาลเป็นระยะ เพื่อป้องกันการระบาดในสถานพยาบาล เฉกเช่นเดียวกับโรงเรียนแพทย์ ที่จำเป็นต้องตรวจในเหล่านิสิตนักศึกษาแพทย์ พยาบาลและสาขาอื่นๆ ที่มาปฏิบัติงาน
นอกจากนี้ผลกระทบต่อระบบบริการโรคอื่นๆ จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก คุณภาพและปริมาณที่จะให้บริการจะได้รับผลกระทบ แม้จะพยายามหาทางเลือกอื่นมาช่วย เช่น เทเลเมดิซีน การส่งยาถึงบ้าน การบริการถึงบ้าน ฯลฯ
ที่แลกเปลี่ยนมาทั้งหมดนั้น อยากจูงใจให้เราช่วยกันสู้เต็มที่ในเวลานี้ ป้องกันตัวอย่าให้ติดเชื้อ ฉุดกราฟการระบาดลงมาให้ได้
ภาพที่อยากเห็นคือ ต่อให้ไม่ประกาศล็อคดาวน์ แต่ทุกคนที่พอไหว ช่วยกันอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ใส่หน้ากาก 100% ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น และรีบไปตรวจหากสงสัยหรือมีอาการผิดปกติ ในขณะที่ผู้ประกอบกิจการต่างๆ หากช่วยกันลดความเสี่ยงลงให้เหลือน้อยที่สุดยิ่งดี หากทำได้ในระยะ 2-4 สัปดาห์ถัดจากนี้ เราก็อาจเปลี่ยนภาพอนาคตให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้
อยากให้ประเทศไทยทำได้ครับ ..ด้วยรักต่อทุกคน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
โฆษกสธ.แจง จะคุมโควิดได้ ต้องให้กำลังใจ ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์บั่นทอน