หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา -2019 หรือ โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรสาคร ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวานนี้ (26 มกราคม 2564) ได้มีมติเห็นชอบให้ทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวในประเทศไทยใหม่ รวมถึงมาตรการต่างๆที่จะส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถต่อวีซ่าได้ทันตามกำหนดซึ่งจะส่งผลถึงภาคธุรกิจและผู้ประกอบการของไทย
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้ทบทวนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ (โควิด-19) และการบริหารจัดการผู้ต้องกักจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 2019 ระลอกใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อขั้นตอนการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว คาดว่า จะตรวจสุขภาพและต่อวีซ่าไม่ทันภายในกำหนด รวมถึงการชะลอการส่งกลับผู้ต้องกักที่ได้รับโทษหรือดำเนินคดีเสร็จสิ้น จากมาตรการงดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ทำให้การส่งกลับทำได้ล่าช้ากว่าปกติ
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 2,335,671 คน ใน 3 กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
1.กลุ่มที่ถือบัตรสีชมพู จำนวน 1,400,387 คน ประกอบด้วย
-กลุ่มแรงานต่างด้าวตามมติ ครม. 20 สิงหาคม 2562 จำนวน 1,162,443 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564
-กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติ ครม. 4 สิงหาคม 2563 จำนวน 237,944 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2564
2.กลุ่มแรงงานต่างด้าวตาม MOU จำนวน 434,784 คน ประกอบด้วย
-กลุ่มแรงงานต่างด้าวตามมติ ครม. 10 พฤศจิกายน 2563 จำนวน 119,094 คน
-กลุ่มแรงงานต่างด้าวตาม MOU วาระการจ้างงานครบ 2 ปี จำนวน 315,690 คน ให้ขยายระยะเวลาการตรวจสุขภาพและขอต่อ Visa ออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งจะทยอยครบกำหนด โดยสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2565
3.กลุ่มแรงงานต่างด้าวอยู่ระหว่างยื่นลงทะเบียน
-ตามมติ ครม. 29 ธันวาคม 2563 ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นลงทะเบียนคาดว่า มีจำนวนประมาณ 500,000 คน ให้จัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล (Biometics) เพื่อการพิสูจน์ ตัวตนของคนต่างด้าวและความมั่นคงของประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกับที่ตรวจโควิด- 19 ภายในวันที่ 16 เมษายน 2564 ซึ่งสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะส่งข้อมูลคนต่างด้าวที่ได้จัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลแล้วให้กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน
ทั้งนี้ ยังให้สถานพยาบาลเอกชนที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สามารถร่วมตรวจโควิด-19 ได้ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เร่งด่วน และสถานพยาบาลของรัฐอาจมีจำนวนไม่เพียงพอสำหรับการตรวจตามกำหนดภายในวันที่ 16 เมษายน 256 โดยอัตราค่าตรวจ โควิด-19 ต้องไม่เกิน 2,300 บาท ตามที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำหนด
สำหรับกลุ่มผู้ต้องกักที่เป็นคนต่างด้าว 3 สัญชาติ ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่มีประมาณ 500 คน ซึ่งอยู่ระหว่างรอการส่งกลับให้สามารถทำงานกรรมกรและงานบ้านได้ จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อลดภาระค่าใช้ในการดูแล เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว ต้องส่งกลับประเทศต่อไป
“หลังจากนี้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงาน จะออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการที่กล่าวมาข้างต้น” โฆษกรัฐบาลกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไม่ต้องหนี "ศบค." เปิดทางให้แรงงานต่างด้าว แจ้งขึ้นทะเบียนถึง 13 ก.พ.นี้
หวั่น‘ต่างด้าว’1.5ล้านคนลงใต้ดิน
แรงงานเถื่อนรีบโชว์ตัวด่วน "ลงทะเบียนแจ้งข้อมูลส่วนบุคคลผ่านออนไลน์" ภายใน 30 วัน
แจงวิธีขึ้นทะเบียน"แรงงานต่างด้าว"ขออยู่ทำงานต่อ
เปิดลงทะเบียนออนไลน์ ผ่อนผันต่างด้าว3 สัญชาติ หวังชะลอนำเข้าสกัดโควิด